DE

Training
การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างการรับรู้แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2566-2570)

การประชุมเชิงปฏิบัติการ

หลักการสิทธิมนุษยชนพื้นฐานเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?

เราเริ่มมองเห็นหลักการเหล่านี้ได้ผ่านการมีกฎบัตรแมกนา คาร์ตา Magna Carta (The Great Charter) เมื่อปีค.ศ.1215 หรือกฎบัตรใหญ่แห่งเสรีภาพ ซึ่งถือว่าเป็นต้นกำเนิดและเป็นแม่แบบในการวางหลักกฎหมายต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยที่มาของกฎบัตรดังกล่าวนั้นมาจากการที่ประชาชนถูกกดขี่จากพวกขุนนาง จึงได้มีการออกกฎบัตรแมกนา คาร์ตา เพื่อเป็นสิทธิในการคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ชนชั้นใดก็ตาม พลเมืองทุกคนจะไม่ถูกกดขี่ โดยรายละเอียดการเกิดขึ้นของสิทธิมนุษยชนสามารถดูได้จากเส้นเวลาสิทธิมนุษยชนตามภาพด้านล่าง

Human Right Timeline

อีกทั้งยังมีตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ถือเป็นสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ภายใต้สหประชาชาติ ซึ่งมี 9 ฉบับ แต่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีเพียงแค่ 7 ฉบับเท่านั้น เนื่องจากไม่ได้เข้าร่วมอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว

Core international human rights treaties

นอกจากนี้ทางมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ได้นำเกม ICCPR Quiz มาให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมสนุก โดย ICCPR คือพันธกรณีที่แสดงถึงสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่บุคคลทุกคนพึงมี จากเกมนี้ได้สะท้อนให้เห็นความหลากหลายทางความคิดของผู้เข้าร่วมเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น

Right to Justice

จากคำถามในข้อนี้ เราจะเห็นว่ามีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยคนที่เห็นด้วย ให้เหตุผลว่า เพราะการมีหลักประกันสูงจะทำให้ผู้ต้องหาหลบหนีได้ยากขึ้น ในขณะที่คนที่ไม่เห็นด้วย ให้เหตุผลว่า เพราะการกำหนดหลักทรัพย์น่าจะพิจารณาร่วมกับคดีความผิดและพฤติกรรมของผู้ต้องหา ว่าจะหลบหนีหรือจะกลับไปยุ่งกับหลักฐานอีกหรือไม่ อีกอย่างตามหลักเราต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีการพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรม

Right to Privacy

จากคำถามในข้อนี้ เราจะเห็นได้ว่ามีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยคนที่เห็นด้วย ให้เหตุผลว่า การเข้าไปแทรกแซงเป็นการละเมิดสิทธิก็จริง แต่การที่เข้าไปเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดต่อคนอื่น ๆ อาจเป็นข้อยกเว้นเพื่อปกป้องพลเมืองส่วนรวมของรัฐ และในขณะเดียวกันผู้ที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่า การเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ถึงจะเป็นผู้ป่วยโรคร้ายแรงก็ควรได้รับการคุ้มครอง

Right to Live

จากคำถามในข้อนี้ เราจะเห็นได้ว่ามีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยคนที่เห็นด้วย ให้เหตุผลว่า ยาเสพติดส่งผลกระทบต่อคนมากมาย ถ้าเขาติดยาหรือเสพยาเกินขนาดจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ จนไปละเมิดคนอื่น ซึ่งคนอื่นนั้นอาจเป็นเสาหลักในครอบครัว ถ้าเป็นเรื่องที่กระทบต่อคนวงกว้าง ก็อาจต้องมีการควบคุมเขาแต่ไม่ถึงกับขั้นทำให้เสียชีวิต และในขณะเดียวกันผู้ที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่า ใช้นโยบายขั้นเด็ดขาดได้แต่ทุกคนมีสิทธิในร่างกายตนเอง ถ้าเกิดการฆ่ากันหรือวิสามัญโดยเจ้าหน้าที่ก็จะส่งผลกระทบต่อสิทธิที่ได้รับ ซึ่งทั้ง 3 คำถามนี้เป็นตัวอย่างที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น ซึ่งหากท่านสนใจสามารถเข้าไปทำ Quiz และร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ https://wevis.info/iccpr/

จากนั้นยังมีเกม “เราจะทำยังไง และจะตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ยังไง?”

 ซึ่งให้สถานการณ์มาเพื่อบอกว่าเป็นสิทธิด้านใด และให้แสดงความคิดเห็นที่จะตอบสนองกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมีตัวอย่างเหตุการณ์ดังนี้

  • ประไพบังคับให้มาลีเลือกผู้สมัครจากพรรคบัวขาว 

โดยผู้เข้าร่วมตอบว่า เป็นสิทธิด้านการเมืองการปกครอง และเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการเลือกทางการเมืองของมาลี ทางออกคือให้เขาเคารพสิทธิของตน ให้ความรู้คุณมาลี หรืออาจให้กฎหมายไปบังคับใช้กับคุณประไพ อีกทั้งเสรีภาพในการออกเสียงของเราไม่จำกัดอยู่แล้ว ไม่มีใครสามารถมาบังคับเราได้ 

  • ลุงมั่นทำงานในโรงงานโดยไม่มีวันหยุดและได้รับค่าจ้างล่าช้าเสมอ

โดยผู้เข้าร่วมตอบว่า เป็นการละเมิดสิทธิของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพราะผู้ใช้แรงงานจะต้องได้รับการหยุดงานตามกฎหมายแรงงาน และได้รับค่าจ้างตามที่กำหนด และยังเป็นเรื่องของสวัสดิการ นอกจากนี้ยังเป็นการละเมิดสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในเรื่องของสิทธิในการทำงาน ที่ต้องมีวันหยุดงานและได้รับค่าจ้างอย่างเป็นธรรม

  • ออมไปโรงพยาบาลและนั่งรอเพื่อพบหมอ แต่เจ้าหน้าที่ให้คนไทยได้พบหมอก่อน

โดยผู้เข้าร่วมตอบว่า เป็นสิทธิในการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิพื้นฐานของคนไทย และในด้านสิทธิมนุษยชนต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ จึงควรเป็นเรื่องที่สร้างความตระหนักรู้ร่วมกัน อีกทั้งยังไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิของกลุ่มเปราะบาง โดยการกีดกันจำกัดสิทธิของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นการลดทอนสิทธิและเสรีภาพของบุคคลบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน

เมื่อเราได้รู้ถึงหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแล้ว แล้วคุณรู้จักแผนสิทธิมนุษยชนแค่ไหน ?

แผนสิทธิมนุษยชน (National Human Rights) คือ แผนที่รัฐจัดทำขึ้นเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาพรวมของประเทศให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศให้ก้าวหน้าทัดเทียมระดับสากล

ความเป็นมาของแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สืบเนื่องมาจากการประชุม World Conference on Human Rights ที่จัดขึ้น ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. 2536 ที่ได้ประชุมรับรองปฏิญญาเวียนนาและแผนปฏิบัติการ (Vienna Declaration and Programme of Action) ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญด้านการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อครบรอบ 5 ปีของปฏิญญาเวียนนาและแผนปฏิบัติการ รัฐบาลไทยนำโดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการแม่บทด้านสิทธิมนุษยชน จึงได้จัดทำ “ร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการแม่บทด้านสิทธิมนุษยชน” ซึ่งต่อมาใช้ชื่อว่า “แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2544-2548)”

(ที่มา: https://humanrights.mfa.go.th/upload/nationalhumanrightsplan5.pdf)

ท่านสามารถดาวน์โหลดข้อมูลเกี่ยวกับแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ที่ www.rlpd.go.th