DE

บอกเล่าประสบการณ์งาน Open Data Hackathon: Civic engagement

IODD

เมื่อวันเสาร์ที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมาได้เข้าร่วมงาน Open Data Hackathon ที่ TK Park Central World มีความน่าสนในหลายอย่างที่อยากหยิบยกมาบอกเล่า

ครั้งแรกที่อยากไปเพราะรู้จักกับมูลนิธิฟรีดริช เนามัน และกิจกรรมของทางมูลนิธิฯให้มากยิ่งขึ้นหลังจากที่ได้มาพูดคุยทำความรู้จักในเบื้องต้นที่สำนักงานของมูลนิธิฯไปแล้ว และด้วยความสนใจเรื่อการจัดกิจกรรมให้ความรู้และสนับสนุนการสร้างจิตสำนึกทางการเมืองให้กับพลเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมงาน Open Data Hackathon ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยคุ้นเคย แต่เพราะคำอธิบายว่า “…โดยเสนอแนวคิดการทำต้นแบบ (prototype) แอปพลิเคชั่น หรือ ร่วมกันหาหรือสร้างชุดข้อมูล (dataset) เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเลือกตั้งทั้งระดับประเทศ และ ระดับท้องถิ่น และ การสร้างความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐ...” ทำให้อยากไปงานนี้

IODD

งาน Open Data Hackathon เป็นการแข่งขันการใช้ Open big data โดยให้แต่ละกลุ่มคิดโปรเจคขึ้นมาและนำเสนอไอเดียว่าเราจะเอา big data มาทำอะไรได้บ้าง ตอนแรกไม่ทราบแม้แต่ว่า Big data หมายความว่าอะไร เมื่องานเริ่มแล้วไปประมาณสิบนาทีก็ยังนั่งฟังโดยนึกภาพไม่ออกว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคืออะไร จนกระทั่งได้ฟังพี่ที่เสนอโปรเจคเกี่ยวกับการ Predict election ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลทั้งจากใน Open data และข้อมูล “หลังบ้าน” มาวิเคราะห์เชิงจิตวิทยาและเชื่อมโยงว่า คนแต่ละคนมีโน้มที่จะเลือกนักการเมืองคนไหน เพราะอะไร นักการเมืองและคนที่เลือกมีความเชื่อมโยงกันอย่างไรบ้าง ซึ่งแนวคิดนี้หัวหน้าทีมที่เข้าเจ้าเข้าร่วมได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือเรื่อง everybody lies เป็นหนังสือที่เขียนตีเบื้องหลังการขนะการเลือกตั้งของประธานาธิปดีโดนัล ทรัมป์ ซึ่งทำให้ทั่วโลกต้องตกตะลึง และอยากจะลองลงมือทำ ตอนแรกเรากับเพื่อนที่ไปด้วยกันคิดเอาไว้ว่า อยากทำเรื่องเกี่ยวกับบัตรคนจน เพื่อนเสนอว่าจะเอา Big data มานิยามคนจนให้แม่นยำขึ้น โดยดูจากรายจ่ายไม่ใช่รายได้ ส่วนเราอยากหาเพิ่มเติมว่าเงินในบัตรคนจนนั้นส่วนใหญ่ถูกใช้ในส่วนไหนบ้าง และเงินส่วนไหนที่ไร้ประโยชน์มากที่สุดสำหรับคนจนแต่ละกลุ่ม เพื่อหาทางนำเงินส่วนที่เหลือมาเป็นทุนให้กับคนจนในส่วนที่สำคัญที่สุด เช่น การศึกษาและสุขภาพ ที่คนจนต้องจ่ายส่วนเกินนอกเหนือจากการสนับสนุนของรัฐ และเพื่อสร้างความโปร่งใสให้กับงบสำหรับคนจน ว่าจะถูกนำไปสนับสนุนคุณภาพชีวิตคนจนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ว่าเงินที่เหลือจากบัตรคนจนหายไปอย่างไร้ร่องรอย และเมื่อเราได้ฟังการนำเสนอโปรเจคก็รู้สึกสนใจเป็นพิเศษเพราะจะได้เรียนรู้วิธีการตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ที่สนใจ ก่อนจะเจาะเข้าไปยังข้อมูลที่จะตอบคำถามเราได้ ซึ่งประเด็นเรื่องการเลือกตั้งก็เป็นธีมหลักของงานและเป็นเรื่องที่เราสนใจเช่นกัน

กลุ่มที่เสนอโปรเจคในตอนเช้ามีหัวข้อน่าสนใจหลากหลายประเด็น ทั้งการเลือกตั้ง การแพทย์ และการศึกษา ซึ่งหลายประเด็นเป็นเรื่องที่เราเองก็ให้ความสนใจคิดอยู่ในหัวตลอดเวลา เช่น เรื่องปัจจัยในการประสบความสำเร็จของคน เราเองสนใจประเด็นนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนจนที่ขาดโอกาสเชิงโครงสร้างในการพัฒนาตนเอง การได้เห็นกลุ่มคนออกมาพูดถึงประเด็นที่คล้ายคลึงกันด้วยยุทธวิธีการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่ค่อยคุ้นเคย ก็เป็นหนึ่งแรงบันดาลใจให้ได้เรียนรู้และเก็บเกี่ยววิธีการทำความเข้าใจข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่การตอบคำถามและแก้ปัญหาในประเด็นต่าง ๆ ในที่สุด

IODD

การเข้ามามีส่วนร่วมในการหาความจริงทางการเมืองอาจดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไกลตัว และไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย แค่พูดถึงเรื่องการเมือง คนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยทราบว่าจะเริ่มจากตรงไหนแล้ว การร่วมงานในครั้งนี้เปิดโลกให้ตัวเราอย่างมาก ตั้งแต่เริ่มทำโปรเจคจนกระทั่งขึ้นไปบนเวที ทำให้เข้าใจมากขึ้นเรื่อย ๆว่า ในการแก้ปัญหาการตั้งคำถามและทำความเข้าใจข้อเท็จจริงให้มากที่สุดเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ และสิ่งที่น่าตลกคือ แม้แต่ตัวเราเองที่คิดว่าเป็นคนที่ชอบตั้งคำถาม ไม่รับฟังข้อมูลอย่างเฉื่อยชา ก็แทบไม่เคยได้ลงมือสืบค้นหาข้อเท็จจริงด้วยตัวเองเลย เพราะความสามารถในการเข้าถึง”ความจริง” หรือวิเคราะห์หาความจริงด้วยวิจารณญาน ของตัวเองก็เป็นสิ่งที่ตัวเองไม่คุ้นเคย จากการไปร่วมครั้งนี้ทำให้ตระหนักว่า จริง ๆแล้วการนั่งรอรับข้อมูลอย่างเฉื่อยชา ไม่ตั้งคำถาม ไม่อยากรู้อยากเห็น ก็เป็นพฤติกรรมสำคัญที่ทำให้หลายคนในปัจจุบันต้องตกเป็นเหยื่อของกลุ่มคนที่รู้จักการเล่นกับข้อมูลนำมันไปใช้ประโยชน์ และท้ายที่สุดแล้วข้อมูลที่อยู่รอบตัวเราที่เราไม่เคยให้ความสนใจนั่นแหละ ที่จะกลับมาทำร้ายเราเอง เมื่อเรารู้ไม่เท่าทันการเล่นกลกับข้อมูลนั้น ไม่ว่าทั้งจากทางรัฐบาลหรือเอกชน