DE

Dream ASEAN Workshop

ASEAN, A Community For All
Dream ASEAN group photo

กิจกรรม Dream ASEAN เปิดรับ “เยาวชนอาเซียน” จาก 10 ประเทศสมาชิก ที่มีความแตกต่างหลากหลายทางภาษา วัฒนธรรม ประสบการณ์ ความคาดหวัง และความฝัน เพื่อที่จะทำให้กิจกรรมเป็นไปตามความคาดหวัง และความฝันของตัวแทนจาก 10 ประเทศอาเซียน จึงได้มีกิจกรรมเล็กน้อย เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่เนื้อหา...

เพื่อให้เยาวชนอาเซียนได้รู้ประสบการณ์ และความคาดหวังจากตัวแทนอื่น ๆ ในเวลาอันรวดเร็ว กิจกรรมแรกจึงได้เลือกใช้วิธี Speed Dating โดยให้ตัวแทนอยู่ในวงพูดคุยที่หันหน้าเข้าหากัน แต่ละคนจะมีเวลา 30 วินาทีที่จะเล่าเรื่องของตนเอง ความสนใจเกี่ยวกับอาเซียน และความคาดหวังของเขา โดยต้องเปลี่ยนคู่สนทนาเมื่อครบเวลา 1 นาที

หลังจากได้ทำความรู้จักกันในเบื้องต้นแล้ว ทีมงานจึงได้นำตัวแทนเข้าสู่กิจกรรมถัดไป คือ  กิจกรรม Spectrum  โดยให้ตัวแทนยืนตามจุด ตั้งแต่ “เห็นด้วยที่สุด” ไปจนถึง “ไม่เห็นด้วยที่สุด”  เพื่อตอบคำถามและแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับอาเซียนในด้านต่าง ๆ  โดยส่วนมากผู้เข้าร่วมจะอยู่ในช่วง “ไม่แน่ใจ” และ “เห็นด้วย” กับคำถามที่ให้มา คือ “อาเซียนควรทำตาม (follow) โครงสร้างสหภาพยุโรป เพื่อขยายความร่วมมือระดับภูมิภาคหรือไม่” เป็นข้อความที่มีความคิดเห็นกระจายกันมากที่สุด โดยผู้ที่อยู่ในทิศทางที่ไม่เห็นด้วย เห็นว่า อาเซียนมีความหลากหลาย และมีเอกลักษณ์เฉพาะภูมิภาค การจะทำตามโครงสร้างใดโครงสร้างหนึ่งอาจเป็นไปได้ยาก และอาเซียนเองก็ควรให้ความสำคัญกับความหลากหลายนี้ในการพัฒนาโครงสร้าง ในส่วนผู้มีความเห็นไปในทิศทาง เห็นด้วย เห็นว่า การทำโครงสร้างสหภาพยุโรปไม่ใช่การ copy – paste แต่อาเซียนสามารถเลือกแนวปฏิบัติบางอย่างที่เหมาะสมมาปรับใช้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือ โดยไม่ต้องผ่านการลองผิด-ลองถูกใหม่เสียทีเดียว

จากนั้นผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาเซียนในมิติต่าง ๆ ผ่านเวทีแลกเปลี่ยน นำโดย คุณ Ng Yeen Seen และ ดร. เจษฎา ศาลาทอง ตามด้วย กิจกรรม Timeline ที่ให้ผู้เข้าร่วมได้มองย้อนกลับไปถึงสิ่งที่อาเซียนมี และประสบความสำเร็จ ผ่านประสบการณ์ตรงที่พวกเขามีร่วมกับอาเซียน เช่น การได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับอาเซียน การเข้าร่วมกิจกรรม การแข่งขันเกี่ยวกับอาเซียน หรือในระดับอาเซียน ทุนการศึกษา แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยกิจกรรม Timeline เป็นการนำไปสู่ Dream ASEAN ที่เป็นแนวคิดหลักของงานได้เป็นอย่างดี ในช่วงต่อระหว่าง Timeline และ Dream ASEAN คุณ Lee Yoong Yoong, Director of Community Affairs ของอาเซียนได้กล่าวเสริมว่า นอกจากการได้รับประสบการณ์ตรงผ่านการเดินทางท่องเที่ยวแล้ว ผู้ร่วมกิจกรรมเองก็มีส่วนร่วมในการสร้างประชาคมอาเซียนในอนาคตอีกด้วย กิจกรรมและเวทีแลกเปลี่ยนเป็นข้อมูลที่ตัวแทนจากทั้ง 10 ประเทศสมาชิกได้รับเป็นพื้นฐานในการผลิตสื่อที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ สิทธิมนุษยชน การศึกษา ความปลอดภัย เพื่อนำอาเซียนไปสู่สิ่งที่พวกเขาวาดฝันไว้

วันที่สองของกิจกรรม (13 ธ.ค.)  ผู้เข้าร่วมได้เลือกเรียนรู้การผลิตสื่อในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการผลิต infographic ภาพยนต์สั้น วิดีโอสั้น และแต่งเพลง ตามความสนใจ/ความถนัดของพวกเขา โดยมีผู้เชี่ยวชาญในการผลิตสื่อรูปแบบต่าง ๆ มาเป็นวิทยากร และที่ปรึกษาการผลิตให้กับผู้เข้าร่วม จากข้อมูลในวันแรก และวิธีการผลิตสื่อในวันที่สอง ผู้เข้าร่วมต้องทำงานแข่งกับเวลา เนื่องจากพวกเขาต้องนำเสนอผลงานในวันที่ 15 ธันวาคม วันสุดท้ายของกิจกรรม Dream ASEAN

ผลการผลิตสื่อของตัวแทน 10 ประเทศ ประกอบด้วย หนังสั้น จำนวน 1 เรื่อง วิดีโอสั้น จำนวน 2 คลิป เพลง 4 เพลง และผลงาน infographic จำนวน 1 ชิ้น สื่อที่ผู้เข้าร่วมผลิตออกมานำเสนอถึงเนื้อหาในประเด็นสิทธิมนุษยชน การศึกษา  โครงสร้างพื้นฐาน สิ่งแวดล้อม การใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีในการผลิตสื่อ รวมถึงสนับสนุนการลงมือทำสิ่งที่คิดอย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่ตัวแทนเยาวชนเท่านั้นที่ได้แรงบันดาลใจกลับไป แต่คณะผู้จัดก็ได้รับแรงบันดาลใจจากตัวแทนเยาวชนเช่นกัน จากแนวทางการแต่งเพลงของเหล่าเยาวชน ทำให้กรมประชาสัมพันธ์ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน และคุณ Lee Yoong Yoong ได้ร่วมกันแต่งเพลงสำหรับ Dream ASEAN และได้นำเสนอให้ตัวแทนเยาวชนได้ร้องเพลงร่วมกันเช่นกัน

หลังจากการนำเสนอผลงาน ผู้เข้าร่วมได้ร่วมแลกเปลี่ยน ถอดบทเรียนกันอีกครั้ง โดยพวกเขาเห็นว่ากิจกรรม Dream ASEAN ไม่เพียงแค่ทำให้อาเซียนเป็นเรื่องใกล้ตัวที่จับต้องได้สำหรับพวกเขา แต่ยังทำให้พวกเขาอยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้กับคนอื่น ๆ อีกด้วย กิจกรรมนี้ทำให้เยาวชนอาเซียนได้ทำงานเคียงข้างกัน โดยมีความคิดของตัวเองเป็นตัวนำทาง หลอมรวมกับผู้อื่นระหว่างการเดินทางและพัฒนาร่วมกัน ทั้งหมดนี้ได้นำเสนอแนวคิดหลักของอาเซียน A community for all