DE

เกมจัดการความขัดแย้ง Peace So Cracy - จากการพัฒนาสู่การนำไปทดลองใช้

PSC

ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้เสมอและมีให้เห็นได้ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นในระดับบุคคล ครอบครัว สถาบัน องค์กร หน่วยงาน ชุมชน หรือแม้แต่ในระดับประเทศ และประเด็นของความขัดแย้งก็มีความหลากหลาย เมื่อความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่เราต้องพบเจอ เราจะจัดการกับความขัดแย้งนั้นอย่างไรเพื่อให้ได้ทางออกที่ยอมรับได้และเป็นไปตามความต้องการลึก ๆ ของคู่ขัดแย้งนั้น เกม Peace So Cracy ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย กระบวนการพูดคุยของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อค้นหาความต้องการที่แท้จริง จะสามารถนำไปสู่การเสนอทางออกของความขัดแย้งได้ ซึ่งนับเป็นเวลามากกว่า 1 ปี ที่ทีมงานของสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ได้ช่วยกันคิดและจำลองเรื่องราวสถานการณ์ความขัดแย้งต่าง ๆ จากสถานการณ์จำนวนมากจนเหลือ 15 สถานการณ์สำคัญที่ครอบคลุมปัญหาตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยมีประเด็นที่เกี่ยวกับ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สาธารณสุข และความมั่นคงปลอดภัย

โครงการ พัฒนาศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ประชาคมราชบุรี ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 16 มกราคม - 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เป็นโครงการนำร่องการนำเกม Peace So Cracy ไปเผยแพร่ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ซึ่งมีโครงการเข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 5 แห่ง ได้แก่

1.      องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านคา จัดกิจกรรมวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2561 ผู้เข้าร่วม จำนวน 8 คน

2.      เทศบาลตำบลบ่อกระดาน จัดกิจกรรมวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2561 ผู้เข้าร่วม จำนวน 24 คน

3.      องค์การบริหารส่วนตำบลท่าเคย จัดกิจกรรมวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561 ผู้เข้าร่วม จำนวน 28 คน

4.      เทศบาลตำบลเบิกไพร จัดกิจกรรมวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ผู้เข้าร่วม จำนวน 24 คน

5.      เทศบาลตำบลเจ็ดเสมียน จัดกิจกรรมวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ผู้เข้าร่วม จำนวน 22 คน

สำหรับสื่อการเรียนรู้ การจัดการความขัดแย้งนี้ ผู้เข้ารับการอบรม จะได้เลือกเรื่องราวความขัดแย้ง ที่ผู้เล่นเห็นว่าน่าสนใจ สวมบทบาทเป็นตัวละครที่หลากหลาย ตามที่ผู้เล่นเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ในการสืบค้นความต้องการของคู่ขัดแย้ง เพื่อเสนอแนวทางในการจัดการความขัดแย้งที่คู่ขัดแย้งทั้งสองพอใจมากที่สุด จากการสะท้อนถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมจะเห็นว่า เรื่องราวที่ผู้เข้าร่วมสนใจมากที่สุดเป็นเรื่องใกล้ตัวหรือเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับพื้นที่ เช่น เรื่องการรวมกลุ่มของวัยรุ่นในชุมชน สร้างความเดือดร้อนในพื้นที่ คู่ขัดแย้งในเรื่องนี้ถกเถียงกันว่าควรให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดำเนินการต่อไป หรือควรให้ชุมชนจัดการกันเอง อีกเรื่อง คือเรื่องเกี่ยวกับการปรับปรุงพื้นที่ชุมชนให้เป็นที่สาธารณประโยชน์และแก้ไขปัญหาทัศนียภาพ คู่ขัดแย้งคือชุมชนที่ไม่ออกจากพื้นที่ และเทศบาลที่ต้องการพื้นที่นั้น และอีกเรื่อง คือเรื่องการสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ชุมชน คู่ขัดแย้งถกเถียงว่าควรมีโรงงานไฟฟ้าในพื้นที่ชุมชนหรือไม่

ผู้เข้าร่วมได้กล่าวว่าเกม Peace So Cracy เป็นประโยชน์ต่อชุมชนในแง่การจัดการความขัดแย้งภายในชุมชนได้ จากสถานการณ์ต่าง ๆ ผู้เข้าร่วมได้พัฒนาทักษะในการตั้งคำถาม การสวมบทบาททำให้สามารถเข้าใจคู่ขัดแย้ง และการสืบค้นความต้องการพร้อมความเข้าใจสามารถนำไปสู่การนำเสนอทางออกให้กับคู่ขัดแย้งได้ ทั้งนี้ การจัดอบรมเกม Peace So Cracy ร่วมกับประชาคมราชบุรี ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) จังหวัดราชบุรี ได้รับความร่วมมืออันดีจากเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดราชบุรี ที่มีความตื่นตัวกับความเป็นพลเมือง และต้องการร่วมมือกันในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม