DE

หลักการ ‘Innere Fuehrung’: ข้อสังเกตบางประการและบทเรียนจากประเทศเยอรมนี

RLPD WS

สหพันธสาธารณรัฐเยอรมนีเป็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก กล่าวได้ว่าความเป็นประชาธิปไตยของเยอรมนีนั้นลงหลักปักฐานอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคม ไม่เว้นแม้แต่กองทัพ ในความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและกองทัพของสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนีมีลักษณะที่พิเศษและได้รับอิทธิพลอย่างมากจากประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบอบนาซีและสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีการตั้งสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี (Federal Republic of Germany) ในปี 1949 มิได้มีการจัดตั้งกองทัพขึ้น เพราะฉะนั้นจึงไม่มีกองทัพสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนีจนกระทั่งปี 1955 ที่มีการตั้งกองทัพอีกครั้ง เหตุของการไม่ตั้งกองทัพนั้นก็เพื่อไม่ให้เกิดสภาวะที่กองทัพมีอำนาจครอบงำรัฐและสังคมขึ้นอีกและเพื่อสร้างสันติภาพในยุโรป ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทำการปลดอาวุธกองทัพเยอรมนี รวมทั้งควบคุมอุตสาหกรรมอาวุธของเยอรมนีอย่างเข้มงวด ซึ่งรวมถึงการทำลายอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วย (สัญชัย สุวังบุตร 2555: 65 และ Towle 1997: 153-168) ในขณะเดียวกันสังคมเยอรมันก็เริ่มเคลือบแคลงสงสัยต่อความชอบธรรมของการมีอยู่ของกองทัพ (เช่น Large 1984: 518) อย่างไรก็ตาม ในบริบทของสงครามเย็น เมื่อความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้เพิ่มทวีขึ้น ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 อดีตนักการเมืองและทหารของเยอรมนีในขณะนั้นก็รวมตัวกันและพูดคุยกันในประเด็นความจำเป็นของการจัดตั้งกองทัพอีกครั้งหนึ่ง ในปี 1955 จึงได้มีการจัดตั้งกองทัพในสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมันตะวันตก) และในปีเดียวกันก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization: NATO) อันเป็นองค์กรความร่วมมือทางทหารของโลกตะวันตก ในขณะเดียวกัน ควรกล่าวไว้ในที่นี้ด้วยว่าเยอรมนีในขณะนั้นแบ่งออกเป็นเยอรมันตะวันตกและตะวันออก ฝ่ายแรกอยู่ในค่ายโลกเสรีในขณะที่ฝ่ายหลังอยู่ในฝั่งคอมมิวนิสต์ ดังนั้นภายหลังจากการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน (โปรดพิจารณาเพิ่มเติมใน บรรพต กำเนิดศิริ 2559) จึงมีการรวมกองทัพของเยอรมนีด้วย นอกจากนี้ กองทัพเยอรมนียังได้ส่งกำลังพลเข้าร่วมปฏิบัติการต่างๆในหลายพื้นที่ทั่วโลกทั้งใต้ร่มธง NATO และสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจในการรักษาสันติภาพ ในช่วงหลังสงครามเย็นจำนวนของทหารในกองทัพเยอรมนีก็ลดลงอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ก็ได้มีการเสนอให้เพิ่มจำนวนทหารในกองทัพเพื่อให้สอดรับกับบริบทด้านความมั่นคงของโลก และในปี 2011 ก็ได้มีการยกเลิกการเกณฑ์ทหารเป็นการชั่วคราว หากพิจารณาจากมุมมองทางประวัติศาสตร์ กล่าวได้ว่ากองทัพเยอรมันได้ผ่านความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆมาหลายครั้ง กระนั้นก็ตามสิ่งที่ยังคงอยู่ก็คือหลักการ Innere Fuehrung ซึ่งอาจแปลโดยยึดเนื้อหาของมโนทัศน์เป็นหลักได้ว่าเสนา-พลเมืองในความหมายที่ว่าทหารหรือบุคคลในเครื่องแบบก็เป็นพลเรือนคนหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย

Inner Leadership

หลักการดังกล่าวได้จัดวางความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหาร โดยเน้นความเป็นพลเรือนในเครื่องแบบของทหารเยอรมันรวมทั้งเป็นแนวทางในการพัฒนาความเป็นผู้นำของทหารเยอรมัน หากใช้สำนวนของ Nina Leonhard ก็สามารถเรียกหลักการนี้ว่าเป็นการทำให้ ‘วัฒนธรรมทหารมีมิติความเป็นพลเมือง’ (Leonhard 2017) ตัวอย่างที่น่าสนใจคือภารกิจของกองทัพในการสร้างเยาวชนให้เป็น ‘พลเมืองที่มีความรับผิดชอบ’ (Secher 1965: 184) ลักษณะของความสัมพันธ์ดังกล่าวดำเนินไปภายใต้กรอบของประชาธิปไตย คุณค่าและสิทธิพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญเยอรมัน (Basic Law) รับรอง ในแง่นี้หลักการ Innere Fuehrung นั้นเป็นการประยุกต์ใช้หลักการที่อยู่ในรัฐธรรมนูญของเยอรมนีกับบกองทัพ (Lux 2008) ตัวอย่างที่น่าสนใจอันหนึ่งคือการประยุกต์สิทธิในการสมาคม (Freedom of Association) กับกองทัพ กล่าวคือเยอรมนีมี German Armed Forces Association (Deutscher Bundeswehrverband) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนในการรักษาผลประโยชน์ให้กับบุคลากรของกองทัพทั้งที่เป็นทหารและพลเรือน ยิ่งไปกว่านั้น หลักการ Innere Fuehrung ก็ยังมีมิติของการเป็นจริยธรรมวิชาชีพที่วางอยู่บนฐานของการพัฒนาความเป็นผู้นำและการได้รับการศึกษาเกี่ยวกับความเป็นพลเมือง กล่าวคือเป็นแนวทางการปฏิบัติตนตามครรลองของจริยธรรมของทหารนั่นเอง (Olsthoorn 2016) เพราะฉะนั้นการบังคับบัญชา การเชื่อฟังคำสั่ง (obedience) การปฏิบัติภารกิจและกิจกรรมของกองทัพและทหารจึงถูกออกแบบให้เป็นไปตามหลักการ Innere Fuehrung ซึ่งในที่สุดแล้วทำให้เกิดพื้นที่ในการตั้งคำถามกับความชอบธรรมของคำสั่งและการบังคับบัญชาในระบบของทหาร (Dörfler-Dierken 2013: 131) ตัวอย่างที่น่าสนใจคือการมีกรรมาธิการด้านกิจการกองทัพแห่งรัฐสภา (Parliamentary Commissioner for the Armed Forces) มาจากการเลือกตั้งโดยรัฐสภา มีวาระ 5 ปีและมีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนของบุคลากรในกองทัพ รวมทั้งเสนอแนวทาง ให้คำแนะนำและแถลงผลการสืบสวนสอบสวนในประเด็นปัญหาต่างๆในกองทัพต่อสาธารณะ เป็นต้น ตำแหน่งนี้จึงสะท้อนกลไกที่อำนวยความโปร่งใสให้กับการทำงานของกองทัพและในขณะเดียวกันก็เป็นกลไกในการควบคุมกองทัพด้วย (Secher 1965: 64) หากกล่าวโดยสรุปสาระสำคัญของหลักการ Innere Fuehrung จึงอยู่ที่การสร้างอัตลักษณ์ให้ทหารเป็นพลเมืองในเครื่องแบบที่เคารพหลักการสิทธิมนุษนชน ยึดถือหลักความเป็นประชาธิปไตยและตระหนักในภาระหน้าที่เชิงจริยธรรมของวิชาชีพเสมอ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้จะสะท้อนผ่านการเป็นผู้นำของทหารคนนั้นๆ นั่นเอง  

Inner Leadership

เอกสารอ้างอิง

บรรพต กำเนิดศิริ. 2559. ก่อนกำแพงเบอร์ลินจะสิ้นสูญ. กรุงเทพฯ: พารากราฟ.  

สัญชัย สุวังบุตร. 2555. ยุโรป: สงครามและสันติภาพ. นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร.

Dörfler-Dierken, A. 2013. "Ambiguity Tolerance and the Concept of "Innere Führung"". KVÜÕA toimetised 17:121-134.

Large, D. C. 1984. “‘A Gift to the German Future?’ The Anti-Nazi Resistance Movement and West German Rearmament.” German Studies Review 7(3): 499-529.

Secher, H. P. 1965. “Controlling the New German Military Elite: The Political Role of the Parliamentary Defense Commissioner in the Federal Republic.” Proceedings of the American Philosophical Society 109(2) 63-84.

Lux, M. G. 2008. “Innere Fuehrung – A Superior Concept of Leadership.” Unpublished MA Thesis, Naval Postgraduate School.

Leonhard, N. 2017. “Towards a new German military identity? Change and continuity of military representations of self and other(s) in Germany.” Critical Military Studies, DOI: 10.1080/23337486.2017.1385586

Olsthoorn, P. 2016. “Integrity, Moral Courage and Innere Führung.” Ethics and Armed Forces 1: 32-36.

Towle, P. 1997. Enforced Disarmament: From the Napoleonic Campaigns to the Gulf War. Oxford: Oxford University Press.