DE

International Opendata นโยบายเปิดเผยข้อมูลเพื่อการมีส่วนร่วมของพลเมือง

IODD

International Opendata Day คือ วันที่กลุ่มชุมชนที่สนใจเรื่องระบบข้อมูลแบบเปิด (Open Data) ทั่วโลก ร่วมกันจัดกิจกรรม ในปี 2561 International Opendata Day ตรงกับวันที่ 3 มีนาคม ซึ่งกว่า 80 เมืองทั่วโลกจะมีการจัดกิจกรรมขึ้นพร้อมเพรียงกัน เพื่อร่วมสนับสนุนให้เกิดนโยบายเปิดเผยข้อมูล (Open Data Policies) ในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม การเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถนำไปต่อยอดได้ จะเป็นประโยชน์กับทุกคน นับเป็นการสร้างการมีส่วนร่วม ส่งเสริมความร่วมมือกันในสังคม

ในประเทศไทย International Opendata Day เกิดขึ้นบนพื้นฐานความต้องการสร้างสังคมแบบเปิด (Open Soiety) ที่ทุกภาคส่วน ทุกคนสามารถมีส่วนร่วม ผ่านการสนับสนุนนโยบายเปิดเผยข้อมูลของภาค และการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ การจัดงานในปีนี้เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคีต่าง ๆ ดังนี้ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation Social Technology Institute National Democratic Institute - Thailand Blognone Thai Netizen Network ANFREL - Asian Network for Free Elections ChangeFusion King Prajadhipok's Institute, Government Complex, Laksi BangkokBarcamp Bangkok ทางโครงการได้รับการสนับสนุนอาหารว่างและอาหารกลางวันจาก Charoen Pokphand Group - C.P. Group นับเป็นความร่วมมือระหว่างหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐบาล ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคสื่อมวลชน และภาคประชาสังคม

การดำเนินกิจกรรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การสัมมนาเกี่ยวกับข้อมูลเปิดและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเปิด (Open data) โดยมีการ
ปาฐกถา เรื่อง "Opendata กับการมีส่วนร่วมภาคประชาชน เพื่อความโปร่งใสและอนาคตของสังคม" โดย ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ซึ่งได้ศึกษาประโยชน์จากข้อมูลแบบเปิด ที่ทำให้หลาย ๆ ประเทศประสบความสำเร็จในการใช้ข้อมูลเปิด เพื่อสร้างความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามมาด้วยการสัมมนาเรื่อง Opendata เพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของพลเมือง ซึ่งได้รับเกียรติจาก กรรมการการเลือกตั้ง รศ. สมชัย ศรีสุทธิยากร มาเล่าถึงการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ข้อมูลประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง นอกจากนั้นในช่วงบ่ายมีการสัมมนากลุ่มย่อย เรื่อง ข้อมูลเปิดกับการตรวจสอบการทุจริต และข้อมูลเปิดกับการติดตามการเลือกตั้ง และมีการพูดคุยของกลุ่มคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมและส่งเสริมสังคมแห่งความเปิดกว้าง

นอกจากการสัมมนาด้านความรู้เกี่ยวกับข้อมูลเปิดและประโยชน์ของข้อมูลเปิดแล้ว ด้านกิจกรรมมีกิจกรรม Hackathon ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สนใจใช้ข้อมูลเปิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งและธรรมาภิบาลเพื่อพัฒนาเครื่องมือใหม่ โดยเสนอแนวคิดการทำต้นแบบ (prototype) แอปพลิเคชั่น หรือ ร่วมกันหาหรือสร้างชุดข้อมูล (dataset) เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมในการทำงานของภาครัฐ และนำเสนอในช่วงท้ายของกิจกรรม โดยมีการนำเสนอผลงานจาก 4 ทีม ผลงานมีทั้งต้นแบบการนำเสนอข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐในรูปแบบที่เข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย แนวคิดการสร้างระบบการแนะนำการรักษาทางไกลผ่านเทคโนโลยี Blockchain โมเดลการศึกษาปัจจัยและแนวโน้มการเลือกตั้งเพื่อทำนายผลการเลือกตั้ง และแนวคิดการพัฒนาโมเดลเพื่อพัฒนาการศึกษา เพื่อให้คนประสบความสำเร็จ

ทีม Open48 นำเสนอภาพตัวอย่างเว็บไซต์ Open48 ที่นำข้อมูลเปิดจากเว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐ มาประมวล ปรับรูปแบบ Data ให้เข้าถึงได้ง่าย และให้คนทั่วไปสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ต้นทาง เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับข้อมูลแบบ real time

ทีม Second Age นำเสนอการสร้างระบบการแนะนำการรักษาทางไกล โดยการจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วย และข้อมูลการรักษาขอแพทย์ผ่านเทคโนโลยี Blockchain เพื่อประมวลผลร่วมกันระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีการแบ่งการจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลเพื่อไม่ให้กระทบกับ privacy ของผู้ป่วย

ทีม e Predictor นำเสนอการใช้ข้อมูลที่เปิดเผยจากหน่วยงานต่าง ๆ มาดูปัจจัย และแนวโน้มการเลือกตั้ง เพื่อทำนายผลการเลือกตั้งในอนาคต

ทีม Cognitive Development นำเสนอปัจจัยที่ทำให้คนไทยประสบความสำเร็จ เช่น การศึกษา รายได้ อาชีพ ประวัติอาชญากรรม ฯลฯ เพื่อพัฒนาโมเดลต้นแบบเพื่อพัฒนาการศึกษาในอนาคต

กิจกรรม International Opendata Day นับเป็นการเปิดพื้นที่ และสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ และยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนจากหลากหลายอาชีพ หลากหลายมุมมอง หลากหลายช่วงวัย ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนกัน โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างการมีส่วนร่วมในสังคมเสรี