DE

การเดินทางตามหาเสรีภาพผ่านบทเพลง "การเดินทางตามรางรถไฟ"

Freedom Song

จับเข่าคุยกับ ตั๊ก ธิดานันท์ สุขมิสา

เจ้าของบพเพลง “การเดินทางตามรางรถไฟ”

โครงการเสรีภาพเสรีเพลง 2017

 

FNF:ช่วยเล่าเรื่องเกี่ยวกับเส้นทางดนตรีของตั๊กให้คนที่ติดตามได้รู้จักตั๊กคร่าวๆหน่อย

ตั๊กเริ่มเรียนดนตรีครั้งแรกตอน ป.6 ตอนนั้นเล่นเครื่องคีย์บอร์ดเพราะแม่อยากให้เรียน แต่พอเรียนไปได้สักพักก็เลิกเรียน

เพลงๆแรกที่ชอบคือเพลงอะไร

จำไม่ได้ว่าเพลงแรกคือเพลงอะไร แต่เพลงที่จำได้คือเพลงของ  Carpenters ที่คุณแม่จะชอบเปิดก่อนไปโรงเรียนทุกวัน ไม่ก็เพลงดอกกุหลาบ 9999 ดอกค่ะ

มารู้ตัวอีกที ก็ฟังเพลงทั้งอัลบั้มของพี่เบิร์ด อัลบั้ม พี่เบิร์ดสมายด์คลับ ตอนนั้นชอบเพลง คนไม่มีแฟน และก็ได้คุณแม่ซื้อ Sony Walkman ให้หนึ่งเครื่อง ก็เป็นยุคท้ายของยุคเทปคาสเซต

เพลงพี่เบิร์ดทำให้ตั๊กอยากเรียนดนตรีเลยหรือเปล่า ตั๊กเข้ามาสู่วงการดนตรีได้ยังไง

จริงๆตั๊กเรียนสายวิทย์ อยากเป็นสัตวแพทย์ ก็ได้ลองไปทำงานที่คลินิคสัตว์ ก็เจอว่าไม่ได้อยากทำด้านนี้ ก็อยู่ๆก็คิดว่ากลับไปเรียนกลองดีไหม ก็มีอาจารย์บอก ตอนม.5 ก็เลยไปเรียน ไปติว คุณอาซื้อคีย์บอร์ดตัวละพันกว่าบาทให้หนึ่งตัว เพื่อเอามาฝึก Ear Training เองที่บ้าน (คือการฟังฟังเสียงโน้ตต่างๆ แล้วก็ตอบให้ได้ว่าเป็นโน้ตอะไร ร้องโน้ตตามให้ถูก)

 

Verse1: การเดินทางที่แสนไกล ไปสู่ดินแดนที่เคยรุ่งเรือง เมืองที่แสนรักแสนห่วง ยังคงคิดหวง วันคืนที่ผ่านมา ชีวิตคนธรรมดา

 

FNF: แล้วเพลงการเดินทางตามรางรถไฟเริ่มต้นมายังไง

ตอนตั๊กเรียนอยู่ปีสาม ก็รู้สึกคิดถึงบ้าน ปีหนึ่งตั๊กจะได้กลับบ้าน 1-2 ครั้งต่อไปตามวันหยุดเทศกาลด้วยการนั่งรถไฟ เมื่อก่อนค่าเครื่องบินแพงมาก ก็เลยต้องนั่งรถไฟ ระหว่างที่นั่งก็คิดถึงสมัยช่วงประถมที่โรงเรียนกำลังจะมีค่ายลูกเสือ เนตรนารี เด็กทุกคนจะได้นั่งรถไฟไปค่าย แต่วันนั้นทุกคนก็ไม่ได้ไป เพราะว่าเกิดระเบิดรางรถไฟ ไฟดับทั้งเมือง ผู้ปกครองก็ขับรถออกตามหาลูก พ่อตั๊กก็ขับมอเตอร์ไซด์ตามหาตั๊ก แต่ก็คลาดกัน หลังจากวันนั้น เมืองที่เราอยู่ก็ค่อยๆเปลี่ยนไป เคยเดินทางไปไหนก็ได้ ร้านรวงต่างๆเปิดดึกได้เหมือนในกรุงเทพ แต่หลังจากเหตุระเบิด ร้านต่างๆก็ต้องปิดกันตั้งแต่ทุ่ม สองทุ่มแล้ว  พอมีโครงการเสรีภาพเสรีเพลงแล้วได้ยินข่าวว่าปีที่ผ่านมาไปจัดที่นราธิวาสด้วยก็เลยลองส่งเพลงนี้ดู เล่าเรื่องบ้านของเราเอง

 Verse2:  “ดวงตะวันร่ำลับตา หมู่วิหคก็เริ่มร่อง เจ้าม้าเหล็กยังเคลื่อนไป ฉันหลับตาเพื่อพรุ่งนี้ ฉันตื่นมา จะพบ”

 ตอนแต่งท่อนนี้เป็นความรู้สึกตอนนั่งรถไฟว่าทำไมนานจัง นั่งตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้น ยันดวงอาทิตย์ตก นกบินกลับบ้านหมดแล้ว เราก็ยังไม่ถึงบ้านเราซักที ก็เป็นความรู้สึกของเราตอนนั้นจริงๆ แต่ก็คิดว่า ก็นอนหลับไปเดี๋ยวตื่นมาก็ถึงบ้านเรา

 

Pre-Chorus: สิ่งที่หายไป อีกไม่นานคงกลับมา และฉันไม่เคยกลัวที่จะไป ที่นั่น ที่จะไป ที่นั่น

เมื่อก่อนเคยมีเพื่อนที่ชอบล้อ เช่น เด็กมาจากต่างจังหวัด เด็กที่บ้านมีระเบิด เราก็ยังไม่เข้าใจว่าล้อทำไม ก็คิดแค่ว่าล้อทำไม แต่ก็ไม่ได้คิดมากอะไร ตอนนี้เพื่อนก็โตแล้วเข้าใจอะไรมากขึ้น เราก็โตแล้วไม่ได้คิดอะไร แต่คิดว่าถ้าใครมาพูดตอนนี้ก็จะตอบได้ว่าเกิดอะไรขึ้นรู้สึกยังไง

FNF: เคยชวนเพื่อนไปเที่ยวยะลาบ้างไหม

เคยค่ะ เมื่อก่อนเพื่อนไม่กล้าไป แต่ช่วงห้าปีที่ผ่านมา เพื่อนก็อยากไปมากขึ้นเช่น เบตง ป่าฮาราบารา แต่พ่อแม่เพื่อนบางคนก็ยังไม่อยากให้ไป เพราะคิดว่าเสี่ยง ไม่ปลอดภัย

FNF: เพื่อนๆที่เคยไปแล้วสะท้อนยังไงบ้าง

เพื่อนก็ชอบกัน ชอบตลาดนัดมือสอง สนุก ก็กลายเป็นว่าเราก็หาที่เที่ยวในบ้านเราที่ไม่เคยไปแล้วก็ชวนเพื่อนไปกัน เช่น ต้นสมพงยักษ์ ในหมู่บ้านจุฬาภรณ์ อยู่เบตง เป็นต้นไม้ที่ใหญ่มาก ใหญ่เท่าตึกตอนแรกตั๊กก็คิดว่า ไปดูต้นไม้ ดูไม่ค่อยน่าสนใจ ต้องเดินขึ้นไปบนเขาอีก แต่พอได้ไปเห็นของจริง  มันก็ยิ่งใหญ่มากจริงๆ ตัวเราเล็กนิดเดียว 

 

Hook: “ดินแดนที่ฉันเอง เฝ้ารอคอยได้กลับไป ผิดกลับใครๆที่ได้ยินต่างหวาดกลัว

เธอจะเชื่อไหมว่าที่แห่งนั้นจะมีรักแท้เฝ้ารอฉันอยู่ ที่อันตรายนั้น กลับคอยเติมฟืนให้ฉัน ให้มีพลัง”

 

FNF: โจทย์เพลงในปีนี้ เป็นเรื่องของ พหุวัฒนธรรม ตั๊กเข้าใจมันยังไง มีตัวอย่างเหตุการณ์อะไรที่จะทำให้เพื่อนๆเห็นภาพการอยู่ร่วมกันในความหลากหลายได้บ้างไหม

ที่บ้านตั๊ก คุณแม่เป็นมุสลิม คุณพ่อเป็นพุทธ พ่อแม่มีความเชื่อต่างกันแต่เราก็อยู่ด้วยกันได้ เรารู้สึกว่าไม่สำคัญอีกต่อไปว่าจะเชื่ออะไร สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือความเข้าใจกันในครอบครัว พ่อไม่เคยบังคับคุณแม่ว่าต้องกินหมู หรือต้องทำอะไรที่ขัดกับหลักความเชื่อของแม่ ส่วนแม่ก็เคยทำกับข้าวให้พ่อกิน ถ้าพ่อจะกินหมู แม่ก็ทำให้ก็แค่ใส่ถุงมือแล้วให้ตั๊กชิมแทน ถ้าทุกคนที่อยู่ในความต่างแบบนี้ เข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ เราก็จะอยู่ด้วยกันแบบสบายใจ

FNF: ในฐานะที่ตั๊กเรียนดนตรี ตั๊กคิดว่าบทบาทของดนตรีคืออะไร

ตั๊กคิดว่าดนตรีเป็นตัวเชื่อมที่ดีสำหรับหลายๆอย่างในสังคม ตั๊กโชคดีที่มีเพื่อนๆที่ช่วยกันทุกอย่าง ตั๊กอยากทำเพลงนี้ ก็มีเพื่อนที่มีห้องอัดบอกว่าให้ใช้ห้องอัดได้ ไม่คิดตังค์ ใครต้องการความช่วยเหลืออะไรด้านดนตรีเราก็ช่วยกัน ตั๊กมีรุ่นพี่คนหนึ่งที่เป็นต้นคิดว่าทุกวันอาทิตย์เราเข้าไปสอนดนตรีกับเด็กๆในชุมชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเรื่องยาเสพติด การพนัน เราก็ชวนเด็กๆในชุมชนมารวมกันเล่นดนตรี เพราะเราคิดว่าถ้าเด็กมีอะไรทำที่ดีเด็กก็จะทำอะไรดีๆ ถ้าเด็กไม่มีอะไรทำ มักก็ง่ายมากที่จะถูกชวนไปในทางที่ไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดที่เราทำก็ทำให้เด็กมีพื้นที่ได้มาใช้เวลาด้วยกัน

สำหรับตั๊ก ดนตรีเป็นตัวที่พาเราไปเจออะไรใหม่ๆ เพื่อนใหม่ สังคมใหม่ งานใหม่ ดนตรียังเป็นตัวแทนการสื่อสารได้ดี ดนตรีมีส่วนสำคัญกับจิตใจ จิตใจมันจะดีหรือไม่ดี เพลงมักจะมีส่วนในการสร้างคนๆนั้นขึ้นมา บางคนฟังเพลงที่มีเนื้อหาเป็นฝ่ายยอม ถูกกระทำ แนวโน้มชีวิตก็จะเป็นแบบนั้น แต่บางคนฟังเพลงแบบนักสู้ชีวิตก็จะมีพลังบวกขึ้นมา

 

“เธอจะเชื่อไหมว่าที่แห่งนั้นจะมีรักแท้เฝ้ารอฉันอยู่ ที่อันตรายนั้น กลับคอยเติมฟืนให้ฉัน เมืองยะลา”

 

FNF: ถ้าวันหนึ่งตั๊กได้กลับไปใช้ชีวิตที่ยะลาอีกครั้ง ตั๊กอยากให้เมืองยะลาเป็นยังไง แล้วตั๊กอยากจะมีส่วนทำอะไรที่ยะลาบ้าง

ตั๊กไม่ได้อยากให้คนทำอะไร แต่แค่อยากให้ทุกคนได้ทำอะไรที่ปกติที่สุด ใช้ชีวิตได้ปกติที่สุด ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่แล้วมันจะไปได้ด้วยตัวเอง

เมื่อก่อนตอนตั๊กเรียนดนตรีที่ยะลา มีครูแค่หนึ่งคน สอนทุกเครื่อง ก็เลยมีข้อจำกัดของความรู้ แต่ตอนนี้ที่ยะลาก็มีวงออเคสตร้าแล้ว  มีรุ่นพี่ที่กลับไปเป็นครูที่ยะลาก็ชวนให้ไปช่วยกัน  ตั๊กอยากชวนคนมาเที่ยวเยอะๆ ถ้าให้แนะนำก็มีหลายที่ที่น่าสนใจ เช่น ทะเลหมอก ป่าฮาราบารา แล้วก็มีที่ปัตตานีที่ตั๊กยังไม่เคยไป ที่นั่นมีปะการังที่สวยมากๆอยู่ในทะเลลึกที่ต้องนั่งเรือไป 12ชั่วโมง

ออกเดินทางแล้วจะพบ

ออกเดินทางเพื่อทำความเข้าใจความหลากหลาย

ออกเดินทางเพื่อเข้าใจตัวเอง และเข้าใจคนอื่น

ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของการเดินทางตามรางรถไฟ ของ ตั๊ก ธิดานันท์ สุขมิสา