DE

การอบรม Human Rights

รากฐานความรู้ของคนยุติธรรม 9-11 มกราคม 2017
สกธ

“For to be free is not merely to cast off one chain, but to live in a way that respects and enhances the freedom of others.
“อิสระหาใช่การปลดโซ่ตรวนที่ล่ามไว้ หากแต่คือการดำเนินชีวิตอยู่อย่างเคารพและส่งเสริมเสรีภาพของผู้อื่น”
-Nelson Mandela-
วันที่9-11 มกราคม 2017 ที่ผ่านมา สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรมได้เชิญมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ร่วมกับคณะสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกันออกแบบกระบวนการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ให้แก่ข้าราชการระดับชำนาญการพิเศษจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย จำนวน 40 ท่าน ในหัวข้อ “Human Rights รากฐานความรู้ของคนยุติธรรม”
Dr.David Engstrom จาก San Diego State University ได้เริ่มบรรยายถึงหลักการ 4 อย่างที่เป็นพื้นฐานจริยธรรมของประเด็นสิทธิมนุษยชนคือ Dignityศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ Respect ความเคารพซึ่งกันและกัน Freedom เสรีภาพ และ Duty คือหน้าที่ความรับผิดชอบที่มีต่อตนเองและผู้อื่น ดร.เดวิดยังได้อธิบายถึงความหมายของ Positive Right คือ สิทธิที่รัฐบาลควรทำ เช่น การดูแลประชาชนด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ หรือ การมีน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด ส่วน Negative Rights คือการกระทำที่รัฐไม่ควรกระทำต่อประชาชนเช่น การซ้อมทรมาน การจับกุมโดยพลการ  โดยมีรศ.ดร.เดชา สังขวรรณ คณบดีวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ร่วมบรรยาย
 
จากนั้น ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ได้ชวนคนยุติธรรมเข้าร่วมกระบวนการ Timeline โดยผู้เข้าร่วมได้ค้นคว้าประวัติศาสตร์และพัฒนาการของสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั้งในตะวันตกและตะวันออกผ่านหัวข้อที่กำหนดให้ และแบ่งปันต่อผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ โดยเริ่มตั้งแต่ มหากฎบัตรแมกนาคาร์ตา ซึ่งเป็นคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง โดยมีหลักการพื้นฐานวางอยู่บน เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ ซึ่งจำกัดอำนาจกษัตริย์ วางหลักเกณฑ์การปกครองบ้านเมืองและยังเป็นกฎบัตรที่มีอิทธิพลต่อการเกิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ จากนั้นผู้เข้าร่วมกลุ่มอื่นยังได้ค้นคว้าประวัติศาสตร์สิทธิมนุษยชนในสมัยพระนารายณ์มหาราชที่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ให้อิสระในการนับถือศาสนา และที่ขาดไม่ได้คือ ธอมัส เพน เป็นผู้ที่เขียนหนังสือ Rights of Man ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของประชาชนและทำให้เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส และมีการจัดตั้งสภาทวีป ซึ่งมีหลักการอยู่บนการแบ่งแยกอำนาจ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในอเมริกาซึ่งมีชื่อเรียกว่า บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิของอเมริกา (US Bill of Rights) นอกจากนั้นผู้เข้าร่วมยังได้ค้นคว้าเกี่ยวกับบุคคลสำคัญร่วมสมัยที่สนับสนุนประเด็นสิทธิมนุษยชนอีกสองท่านคือ เนลสัน แมนเดลา และ องค์ดาไลลามะที่14 ที่ได้ต่อสู้กับความอยุติธรรม เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพอย่างสันติ
 
เมื่อผู้เข้าร่วมได้เห็นภาพรวมประวัติศาสตร์ของสิทธิมนุษยชนแล้ว ดร.แมรี่ได้นำกระบวนการ World Café มาใช้เพื่อให้คนยุติธรรมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันใน 3 ประเด็นคือ
1.อยากเห็นประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างไร
2.ปัญหาการละเมิดสิทธิที่พบให้ปัจจุบันมีอะไรไรและคิดว่ามีสาเหตุมาจากอะไร
3.ท่านคิดว่าจะมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้อย่างไรบ้าง
 
กระบวนการดำเนินไปอย่างต่อเนื่องโดยผู้เข้าร่วมได้รับชมภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Where to invade next? ซึ่งเป็นสารดคีที่พาผู้ชมไปเรียนรู้ประเด็นสิทธิด้านต่างๆในหลายๆประเทศทั่วโลก เช่น อิตาลีที่ประชาชนมีวันหยุดพักผ่อนมากถึง 8 สัปดาห์ต่อปี โดยประชาชนสะท้อนว่าการเสียเงินไปกับการพักผ่อนดีกว่าการเสียเงินให้กับการรักษาสุขภาพเพราะทำงานหนักและพักผ่อนไม่เพียงพอ ผรั่งเศสที่ผู้บริหารท้องถิ่นและคุณครูโรงเรียนประถมประชุมกันทุกสัปดาห์เกี่ยวกับเมนูอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนของพวกเขา  ฟินแลนด์ได้เล่าถึงกระบวนการปฏิรูปการศึกษาที่ทำให้ในปัจจุบัน ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกและมีการวัดระดับการศึกษาที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ นอร์เวย์ ประเทศที่มีผู้คุมเรือนจำไม่ต้องพกอาวุธ อาวุธของพวกเค้าคือการพูดคุย การดูแลนักโทษไม่ได้มีจุดประสงค์ที่การแก้แค้น กักขังแต่คือการเยียวยาฟื้นฟูให้ผู้ต้องขังใช้ชีวิตและกลับตัวเข้ามาอยู่ในสังคมได้ และตัวอย่างการเรียกร้องสิทธิสตรีในประเทศตูนีเซีย
 
วันต่อมาการอบรมเข้มข้นขึ้นโดยผู้เข้าร่วมได้ร่วมกันคิดถึงสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เช่น สถานการณ์ความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้ สถานการณ์การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล สิทธิเด็ก สิทธิของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม และสถานการณ์แรงงานต่างด้าว ผ่านกระบวนการ Scenario Building  และ ผ่านการเล่นเกมการ์ดพลังสิทธิที่เป็นเครื่องมือการเรียนรู้สิทธิมนุษยชน ซึ่งพัฒนาโดยมูลนิธิฟรีดริช เนามัน และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
 
สุดท้ายผู้เข้าร่วมทุกคนได้ร่วมกันคิดอีกครั้งหนึ่งว่า
1.เราจะสร้างเครือข่ายคนยุติธรรมได้อย่างไร
2.เราจะทำอย่างไรให้สังคมตระหนักและยอมรับคุณค่าของสิทธิมนุษยชน
3.เราจะใช้เครื่องมืออะไรในการสื่อสารกับสังคมในประเด็นสิทธิมนุษยชน
4.เราแต่ละคนจะนำความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนไปปรับใช้อย่างไรในหน่วยงานของตัวเอง
5.เราจะมีส่วนส่งเสริม สนับสนุนงานของสำนักงานกิจการยุติธรรมได้อย่างไร
 
จะเห็นว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคน เป็นสิทธิพึ่งมีพึ่งได้ แต่หลายครั้งเราพบเห็นปัญหาในกระบวนการยุติธรรม เราตั้งคำถามแต่ไม่ได้ลงมือแก้ไข จะดีแค่ไหนถ้าหลายๆภาคส่วนได้ร่วมกันคิดและร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม ไม่แบ่งแยกเพศ เชื้อชาติ ศาสนา
 
วันนี้คนในกระบวนการยุติธรรมได้เรียนรู้และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม
 
เราจะเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร?