DE

กิจกรรมอบรมเกมจำลองเมืองประชาธิปไตย (Sim Democracy Workshop) จังหวัดราชบุรี

ร่วมกับศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จังหวัดราชบุรี ภายใต้โครงการเครือข่ายพลเมืองต้นกล้าราชบุรี
SD

        มูลนิธิ Friedrich Naumann ร่วมกับศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมืองสถาบันพระปกเกล้าจังหวัดราชบุรี จัดกิจกรรม เกมจำลองเมืองประชาธิปไตยขึ้นภายใต้โครงการเครือข่ายพลเมืองต้นกล้าราชบุรี ในระหว่างวันที่ 2 สิงหาคม – 24 สิงหาคม พ.ศ.2560   สถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมีทั้งหมด 11 แห่ง ได้แก่ 1. โรงเรียนบางแพปฐมพิทยา 2. วิทยาลัยอาชีวะศึกษาดรุณาราชบุรี 3.โรงเรียนประสาทรัฐประชากิจ 4.โรงเรียนเทศบาล 5 (พหลโยธินรามินทรภักดี) 5.วิทยาลัยการอาชีพปากท่อ 6. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี 7. โรงเรียนบ้านโป่งกระทิงบน 8. โรงเรียนสุริยวงศ์ 9. โรงเรียนหนองโพวิทยา 10. โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย และ 11. โรงเรียนคุรุราษฎร์รังสฤษฎ์

 

          รูปแบบกิจกรรมประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1. การสร้างความคุ้นเคยกับองค์ประกอบของเมืองประชาธิปไตย โดยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเลือกลักษณะของเมือง ผู้นำ และประชาชน ประเภทละ 5 ลักษณะ ในรอบแรกผู้เข้าร่วมกิจกรรมเลือกลักษณะของเมืองที่อยากอยู่ โดยให้เลือก 5 ลักษณะ ได้แก่ เมืองที่ปกครองด้วยหลักนิติธรรม เมืองที่มีผู้นำโปร่งใสตรวจสอบได้ เมืองที่เคารพหลักสิทธิเสรีภาพ เมืองที่มีความเสมอภาค และ เมืองที่มีการเลือกตั้ง ในรอบนี้ตัวแทนของแต่ละเมืองร่วมอธิบายถึงเหตุผลที่เลือกเมืองลักษณะดังกล่าว ในรอบที่สองผู้เข้าร่วมกิจกรรมเลือกผู้นำที่ตนเองอยากให้เป็นผู้ปกครองเมือง 5 ประเภท ได้แก่ ผู้นำที่ตัดสินใจให้อย่างเด็ดขาด ผู้นำที่ให้ประชาชนกำหนดนโยบาย ผู้นำที่ใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากำหนดและตัดสินใจทางนโยบาย ผู้นำที่เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง และ ผู้นำที่รับฟังและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในรอบนี้ตัวแทนของแต่ละประเภทของผู้นำร่วมอธิบายถึงเหตุผลที่เลือกผู้นำประเภทต่างๆ ในรอบสุดท้ายผู้ร่วมกิจกรรมเลือกว่าอยากเป็นประชาชนแบบใดในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งมีด้วยกัน 5 ประเภท ได้แก่ ประชาชนที่เชื่อมั่นในพลังของตนและพวกพ้อง ประชาชนที่ทำตามคำสั่งหรือกฎหมายของผู้นำอย่างเคร่งครัด ประชาชนที่วางเฉยต่อการเมือง ประชาชนที่แสวงหาความมั่นคงมั่งคั่งให้แก่ตนเองเป็นหลัก และ ประชาชนที่สร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนา และเช่นเดียวกันกับ 2 รอบที่ผ่านมา ตัวแทนของแต่ละประเภทของประชาชนร่วมอธิบายถึงเหตุผลที่เลือกประชาชนประเภทต่างๆ กิจกรรมดังกล่าวเป็นการสร้างความคุ้นเคยให้ผู้เข้าร่วมได้ทราบถึงองค์ประกอบของเกมจำลองเมืองประชาธิปไตย ซึ่งเชื่อมโยงกับกิจกรรมการเลือกเมือง ลักษณะผู้นำ และลักษณะของประชาชนในเกมจำลองเมืองประชาธิปไตย

          จากการสังเกตุการณ์ของทีมงานเห็นว่าสถานศึกษาในช่วงต้นของโครงการ ผู้เข้าร่วมส่วนมากจะเลือกอยู่เมืองที่มีความเสมอภาคเท่าเทียม โดยให้เหตุผลว่าความเสมอภาคเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และลดการเอารัดเอาเปรียบในสังคม ผู้ที่เลือกอยู่ในเมืองที่มีการเลือกตั้งให้เหตุผลว่า การเลือกตั้งนั้นเป็นการคัดกรองผู้ที่มีความสามารถเป็นผู้นำแล้วตั้งแต่การตัดสินใจลงสมัคร และการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็เป็นการสะท้อนถึงการได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนมาก ดังนั้นจึงเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นกระบวนการที่ยุติธรรมในการได้มาซึ่งผู้แทนที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน นอกจากนี้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งยังเป็นเครื่องแสดงถึงอำนาจที่อยู่ในมือประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน เมืองที่ปกครองโดยผู้นำที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ ให้เหตุผลว่าการมีผู้นำที่โปร่งใสและตรวจสอบได้จะเป็นการลดปัญหาทุจริต คอร์รัปชั่น นอกจากนี้การตรวจสอบผู้นำ/ ผู้แทนก็เป็นกระบวนการสำคัญ เนื่องจากผู้นำ/ ผู้แทนเป็นผู้บริหารงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งมาจากการจ่ายภาษีของประชาชน เมืองที่เคารพสิทธิและเสรีภาพ เห็นว่าการเคารพสิทธิและเสรีภาพนั้นเป็นพื้นฐานที่จะไม่นำไปสู่การละเมิดสิทธิคนอื่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายได้ นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความเห็นว่าหลักการทั้ง 5 นั้นมีความสำคัญ อย่างไรก็ตามจากสภาพปัญหาที่เห็น คือ ผู้คนไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก และขาดการเคารพสิทธิของผู้อื่นทำให้เกิดการละเมิดสิทธิและนำไปสู่ความวุ่นวาย จึงเห็นว่าการมีอิสระในการดำเนินชีวิตนั้นเป็นเรื่องที่ดี ตราบใดที่มิได้ไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ขณะที่เมืองที่ปกครองด้วยหลักนิติธรรมจะเป็นเมืองที่คนเลือกเข้าไปอยู่น้อยที่สุด หรือไม่มีเลยในบางที่ เนื่องจากผู้เข้าร่วมเห็นว่าเมืองนิติธรรมนั้นเป็นเมืองที่อยู่บนฐานของกฎหมาย ซึ่งผู้เข้าร่วมเห็นว่ากฎหมายเป็นเรื่องยุ่งยาก และเป็นการจำกัดการใช้ชีวิต อย่างไรก็ดี เมืองที่ปกครองด้วยหลักนิติธรรมได้รับเลือกมากขึ้นในสถานศึกษาในช่วงท้ายของโครงการ โดยผู้เข้าร่วมได้แสดงทัศนะที่แตกต่างออกไป คือ เห็นว่าการปกครองด้วยกฎหมายที่เป็นธรรม มีมาตรฐานเดียวกัน และมีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัดจะทำให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม นอกจากนี้กฎหมายยังเป็นสิ่งที่กำหนดขอบเขตพฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย

 

          ในส่วนของลักษณะของผู้นำที่ปราถนา ผู้นำที่รับฟังและสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน ได้รับเลือกมากที่สุดจากทุกสถาบัน โดยผู้เข้าร่วมได้ให้เหตุผลไว้ว่า เนื่องจากเป็นผู้นำ/ ผู้แทนที่สนับสนุนให้ประชนได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอปัญหา ซึ่งถือเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย ผู้นำลักษณะนี้จะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน ผู้ที่เลือกผู้นำ/ ผู้แทนที่ใช้ผู้นำที่มีความรู้ความสามารถในการบริหาร เห็นว่า การใช้ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในการกำหนดนโยบายจะเป็นการเลือกใช้คนให้เหมาะกับงาน และเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่เลือกผู้นำที่ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดเห็นว่าผู้นำลักษณะนี้เป็นผู้ที่ยึดมั่นในกฎหมาย กล้าตัดสินใจ และเป็นผู้ที่จะทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ ลุล่วง อย่างไรก็ดีการตัดสินใจดังกล่าวต้องอยู่บนพื้นฐานความยุติธรรม ลักษณะของผู้นำที่ได้รับเลือกน้อยที่สุด หรือไม่ได้รับเลือกเลยในบางครั้ง คือ ผู้นำที่ให้ประชาชนกำหนดนโยบาย และผู้นำที่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง อย่างไรก็ดีผู้ที่เลือกผู้นำในลักษณะดังกล่าวได้แสดงทัศนะที่แตกต่างออกไป คือ ผู้ที่เลือกผู้นำที่ให้ประชาชนกำหนดนโยบายเห็นว่าเป็นการดีสำหรับประชาชน เนื่องจากรัฐรับฟังข้อเรียกร้อง และนำไปปฏิบัติตาม ส่วนผู้ที่เลือกอยู่กับผู้นำที่เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องเห็นว่าเป็นการสร้างความสามัคคี และร่วมกันพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

 

          สำหรับการเลือกบทบาทของประชาชนที่ตนเองอยากเป็น ผู้เข้าร่วมส่วนมากจะเลือกเป็นประชาชนที่สร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเห็นว่าประชาชนเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมพัฒนา และกำหนดนโยบายในการพัฒนาประเทศ การร่วมมือกันเป็นพื้นฐานที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน รวมถึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงหลักการประชาธิปไตย คือ เสียงของประชาชนมีความหมายในการกำหนดนโยบายการพัฒนา นอกจากนี้ยังถือเป็นการตอบสนองต่อแนวคิดผู้นำที่เปิดพื้นที่รับฟังและให้ประชาชนมีส่วนร่วม ประชาชนที่แสวงหาความมั่งคั่ง ให้เหตุผลว่าความมั่นคงและมั่งคั่งในระดับประชาชนเป็นพื้นฐานในการร่วมกันพัฒนาร่วมกันในอนาคต ประชาชนที่เลือกปฏิบัติตามผู้นำอย่างเคร่งครัด เห็นว่าการปฏิบัติตามกฎหมายจะทำให้ประเทศสามารถดำเนินได้อย่างเรียบร้อยและมีระเบียบ นอกจากนี้มีผู้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หากตนเองเป็นผู้นำ ก็อยากจะให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อความสงบของสังคม ประชาชนที่วางเฉยทางการเมือง มีความเชื่อมั่นในผู้นำ/ ผู้แทนที่ได้เลือกเข้ามา และเห็นว่าจะไม่ก้าวก่ายอำนาจของผู้นำที่ได้รับเลือกเข้ามา ประชาชนที่เชื่อมั่นในพลังของตนเองและทำตามพวกพ้อง เห็นว่าตนเป็นกลุ่มที่มีความสามัคคีและจะผลักดันให้ประเทศเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ขณะเดียวกันก็พยายามทำให้ผู้เห็นต่างมาเห็นพ้อง และพัฒนาประเทศตามแนวทางที่เห็นสมควร

                    หลังจากที่ได้สร้างควาคุ้นเคยกับองค์ประกอบของเมืองประชาธิปไตยเพื่อเชื่อมโยงสู่เกมจำลองเมืองประชาธิปไตยแล้ว มีการฉายวีดีทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ เกมจำลองเมืองประชาธิปไตย ที่พัฒนาชึ้นในปี 2553 โดยมีความคาดหวังให้คุณครูได้ใช้เป็นสื่อการสอนเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่นักเรียนจะสามารถเข้าใจหลักการได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้เล่นจะสวมบทบาท 2 ชุด คือ 1. สวมบทบาทเป็นพรรคการเมืองที่จะออกนโยบายในการรณรงค์หาเสียง รณรงค์หารเสียง และเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง จนได้มาซึ่งผู้ชนะในการเลือกตั้งและจัดตั้งเป็นรัฐบาล 2. สวมบทบาทเป็นรัฐบาลและประชาชน รัฐบาล มีหน้าที่ในการวางแผนในการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อปัญหาต่างๆที่ต้องการความช่วยเหลือหรือแก้ไข และในการพัฒนาภาคส่วนต่างๆ ส่วนประชาชน มีหน้าที่ในการสร้างความมั่นคงให้กับตัวเอง จ่ายภาษี ตรวจสอบและประเมินการทำงานของรัฐบาล พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆและสนับสนุนปัจจัยต่างๆในกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงลำพัง แต่ละกลุ่มจะมีผู้เล่นจำนวน 8-9 คน โดยผู้เล่นในกลุ่มจะเป็นตัวแทนของพื้นที่ต่าง ๆ 4 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่การศึกษา พื้นที่ความปลอดภัย พื้นที่สาธารณสุข และพื้นที่สิ่งแวดล้อม ผู้เล่นจะได้เรียนรู้การกำหนดนโยบายสาธารณะและการบริหารงบประมาณในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาประเทศผ่านการลงทุนในโครงสร้างขั้นพื้นฐานและการสร้างรายได้ในพื้นที่ต่าง ๆ โดยผู้เล่นจะผลัดกันเป็นรัฐบาลและประชาชนโดยรใช้วิธีการเลือกตั้ง เกมจะสิ้นสุดลงเมื่อผู้เล่นเป็นรัฐบาลครบ 4 รัฐบาล หรือมีผู้เล่นสามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานได้ครบ 12 หน่วย โดยผู้เล่นกลุ่มใดที่ได้รับดาวความดีจากการช่วยเหลือรัฐบาลและเงินออมมากที่สุดจะเป็นฝ่ายชนะ

 

          ช่วงสุดท้ายของกิจกรรมเป็นการสะท้อนถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกระดาษได้รับกระดาษ Post-it Notes จำนวน 2 ชุด ชุดละ 4 สี ในชุดแรก ผู้เข้าร่วมเขียนสิ่งที่ต้องการให้มีการพัฒนา และในชุดที่ 2 เขียนวิธีที่จะทำให้ประเทศพัฒนาในด้านต่างๆได้อย่างที่คิดไว้        สิ่งที่ผู้ร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้จากเกมจำลองเมืองประชาธิปไตย สามารถสรุปได้เป็น 3 กลุ่ม คือ  1. บทบาทของรัฐบาล/ผู้นำในการบริหารประเทศ บทบาทของประชาชนในเมืองจำลอง และความเชื่อมโยงของบทบาททั้งสองในการปกครองเมืองจำลอง ตัวแทนกลุ่มที่ออกมาสะท้อนถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ส่วนมากจะเป็นผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำ โดยจะสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทและความรับผิดชอบของรัฐบาล/ผู้นำในการบริหารจัดการงบประมาณทั้งในสภาวะเหตุการณ์ปกติ และการวางแผนป้องกันและรับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน นอกจากนี้รัฐบาลต้องมีความรอบคอบในการจัดสรรงบประมาณ ปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเท่าเทียม และแก้ปัญหาอย่างตรงจุด รัฐบาลที่ดีต้องปกครองและบริหารบนหลักนิติธรรม รับฟังความเห็นของประชาชนก่อนการตัดสินใจดำเนินการ/ดำเนินนโยบาย รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลได้ ด้านบทบาทและความรับผิดชอบของประชาชนที่มีในเมืองจำลอง คือ ความตื่นตัวทางการเมืองที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดนโยบาย และการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล นอกจากนี้ประชาชนยังมีหน้าที่ในการสร้างรายได้เพื่อให้เศรษฐกิจในประเทศเป็นไปได้ดี และหน้าที่ในการชำระภาษีให้กับรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายได้ตามแผนงานที่วางไว้ ผู้ร่วมกิจกรรมยังได้สะท้อนถึงความเชื่อมโยงของ รัฐบาล และ ประชาชน ในการอยู่ร่วมกันในเมืองจำลองประชาธิปไตย โดยกล่าวว่า ประชาชนมีส่วนในการส่งเสริมการทำงานของรัฐบาล โดยตัวแทน (ผู้เคยดำรงตำแหน่งรัฐบาล) ได้สะท้อนถึงบทบาทของประชาชนในการสร้างรายได้ (เศรษฐกิจดี) ซึ่งทำให้รัฐบาลมีรายได้และสามารถบริหารจัดการได้ตามที่คาดการณ์ไว้ ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและประชาชนในการสร้างรายได้และส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศ การร่วมมือกันแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การระดมทุน/บริจาคเงินเพื่อให้รัฐบาลแก้ไขวิกฤตโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้ เป็นต้น

 

          สิ่งที่ผู้ร่วมกิจกรรมต้องการเห็นประเทศพัฒนาที่สุด คือ การพัฒนาด้านการศึกษา โดยต้องการเห็นการศึกษาที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ กิจกรรม สื่อการเรียนรู้ที่แปลกใหม่ ได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่ตนเองมีความชำนาญเฉพาะ การให้โอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน เช่น การจัดสรรให้มีทุน “เรียนฟรีจนมีงานทำ” การจัดสรรครูในพื้นที่ห่างไกล การจัดทำสื่อการเรียนรู้ที่สนุกและสร้างสรรค์ อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าสังเกตว่าตัวแทนจากกลุ่มกิจกรรมที่วิทยาลัยการอาชีพปากท่อไม่ได้นำเสนอด้านการศึกษาที่อยากเห็น หากแต่ให้ความสำคัญกับสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาด้านสาธารณสุขได้รับการกล่าวถึงในช่วงสถานศึกษาแรก ๆ ของกิจกรรม แต่ในช่วงหลังกลับไม่ได้รับการกล่าวถึงในช่วงหลัง การพัฒนาด้านสาธารณสุขได้รับการนำเสนออีกครั้งที่โรงเรียนคุรุราษฎร์รังสฤษฏ์ซึ่งเป็นโรงเรียนปิดท้ายของโครงการ โดยผู้เข้าร่วมต้องการเห็นโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึง การได้รับการบริการด้านสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม รวดเร็ว และการมีอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างครบครัน โดยเสนอแนวทางให้จัดสรรแพทย์เคลื่อนที่ให้ดูแลในพื้นที่ห่างไกล จัดสรรเวลาพบแพทย์ในสถานพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและบุคคลากรทางการแพทย์ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ รวมไปถึงการสนับสนุนแพทย์ทางเลือกและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการรักษา การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาด้านความปลอดภัยเป็นประเด็นที่ได้รับการกล่าวถึงในทุกสถาบันการศึกษาที่จัดกิจกรรม โดยในด้านสิ่งแวดล้อม ผู้เข้าร่วมต้องการเห็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศมีความอุดมสมบูรณ์ผ่านการรณรงค์โครงการปลูกป่า สร้างฝาย เป็นต้น ด้านความปลอดภัย ถือได้ว่าเป็นประเด็นหลักที่โรงเรียนคุรุราษฎร์รังสฤษฏ์นำเสนอ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความกังวลต่ออาชญากรรมในพื้นที่ผู้เข้าร่วมต้องการเห็นประเทศที่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และปฏิบัติตามมารฐานเดียวกันอย่างเคร่งครัด มีการตรวจสอบผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมถึงให้กฎหมายมีความเด็ดขาดและรุนแรง เพื่อป้องกันอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้น 

          การจัดอบรมเกมจำลองเมืองประชาธิปไตย ร่วมกับศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จังหวัดราชบุรี ภายใต้โครงการเครือข่ายพลเมืองต้นกล้าราชบุรี ได้รับความร่วมมืออันดีจากสถาบันการศึกษาในเครือข่ายและผู้เข้าร่วมทุกสถาบันการศึกษามีความตื่นตัวเกี่ยวกับความเป็นพลเมือง และต้องการร่วมมือกันในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม

ข้อมูล

  1. โรงเรียนบางแพปฐมพิทยา จัดขึ้นวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 55 คน
  2. วิทยาลัยอาชีวะศึกษาดรุณาราชบุรี จัดขึ้นวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยนักเรียนชั้นปีที่ 1 จำนวน 48 คน
  3. โรงเรียนประสาทรัฐประชากิจ จัดขึ้นวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 50 คน
  4. โรงเรียนเทศบาล 5 (พหลโยธินรามินทรภักดี) จัดขึ้นวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 50 คน
  5. วิทยาลัยการอาชีพปากท่อ จัดขึ้นวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 70 คน
  6. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี จัดขึ้นวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 46 คน
  7. โรงเรียนบ้านโป่งกระทิงบน จัดขึ้นวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยนักเรียนชั้นปีที่ 1 – ปีที่ 2 จำนวน 47 คน
  8. โรงเรียนสุริยวงศ์ จัดขึ้นวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 41 คน
  9. โรงเรียนหนองโพวิทยา จัดขึ้นวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 41 คน
  10. โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย จัดขึ้นวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 58 คน
  11. โรงเรียนคุรุราษฎร์รังสฤษฎ์ จัดขึ้นวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 41 คน