DE

กระบวนกร ส่งต่อกระบวนการ

KPI Facilitation WS

วิทยากรกระบวนการ กระบวนกร หรือ facilitator เป็นวิทยากรแบบหนึ่ง แต่การเป็นวิทยากรกระบวนการนั้นไม่ใช่การไปบรรยาย หรือ ให้ความรู้กับผู้เข้าร่วมอบรมเพียงเท่านั้น หากแต่เป็นการ “ดึง” ความรู้และประสบการณ์จากผู้เข้าร่วมอบรม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน ต่อยอดระหว่างผู้เข้าอบรมด้วยกันเอง โดยมีวิทยากรกระบวนการและกระบวนการเป็นสะพานเชื่อมความรู้และการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน

การอบรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ทักษะวิทยากรกระบวนการ รุ่นที่ 6” จัดโดยสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ได้เชิญดร. พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิฟรีดริช เนามันประเทศไทย ให้ร่วมเป็นวิทยากรในหัวข้อ “เครื่องมือที่ใช้ในการทำงานของวิทยากรกระบวนการ” ในวันที่ 31 มกราคม 2561

เครื่องมือที่ดร. พิมพ์รภัชร่วมส่งต่อ/แลกเปลี่ยนให้กับผู้ร่วมอบรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย...

KPI Facilitation WS

กระบวนการ World Cafe หรือ สภากาแฟ เป็นการจัดกระบวนการ สร้างบรรยากาศเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เข้าร่วม โดยการแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อให้ได้สนทนาและแลกเปลี่ยนกัน และให้มีการเปลี่ยนกลุ่มพูดคุยได้ตามความสนใจเมื่อครบเวลาที่กำหนด โดยจะมี “เจ้าของโต๊ะ” เป็นผู้จดประเด็นแลกเปลี่ยน และเล่าสู่ผู้คนกลุ่มใหม่ฟัง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและต่อยอดต่อไป

กระบวนการ Caravan เป็นการจำลองการเดินทางของกองคาราวานในทะเลทราย คือ ผู้เข้าร่วมอบรมจะแบ่งกันออกเป็นกลุ่มตามความสนใจ และพูดคุยในประเด็นที่สนใจตามเวลาที่กำหนด เมื่อครบเวลาทั้งกลุ่มจะต้องเคลื่อนย้ายไปยังวงสนทนาประเด็นอื่น โดยต้องไปกันกลุ่ม เหมือนกองคาราวานที่เดินทางหาโอเอซิสแห่งใหม่นั่นเอง ทั้งนี้การไปเห็นประเด็นอื่นจะเป็นการช่วยเติมเต็มสิ่งที่ผู้สนใจอาจมองข้ามไป ในแต่ละประเด็นสนทนาจะมีผู้จดประเด็น และเล่าให้กองคาราวานผู้มาใหม่ได้ร่วมเสนอความเห็น และมุมมองที่อาจเพิ่มเติม หรือแตกต่างออกไปได้

KPI Facilitation WS

กระบวนการ Timeline เป็นกระบวนการให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนมองย้อนกลับไปว่าสิ่งที่มีอยู่ และสิ่งที่เคยทำในประเด็นนั้น ๆ มีอะไรบ้าง มีความสำคัญอย่างไร และให้ได้ร่วมแลกเปลี่ยนกันตามที่สมัครใจ ทั้งนี้กระบวนการ Timeline จะเชื่อมร้อยกับกระบวนการ Dream หรือ Dream Technology ได้เป็นอย่างดี

กระบวนการ Dream หรือ Dream Technology เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2012 โดย ดร.พิมพ์รภัช ได้ใช้กระบวนการนี้ในโครงการที่ชื่อว่า Dream Thailand เป็นกระบวนการมองภาพอนาคตที่ต้องการจะเห็น บวกกับการค้นหาแนวทางที่จะไปถึงจุดมุ่งหมาย โดยไม่มีข้อแม้ หรือข้อจำกัดกับภาพที่ต้องการเห็น

กระบวนการ Open Space เกิดขึ้นโดย Harrison Owen ในปี 1982 ได้ชื่อว่าเป็นกระบวนการที่มีความประชาธิปไตยมากที่สุดวิธีการหนึ่ง โดยกระบวนการ Open Space ประกอบด้วย 4 ข้อตกลง คือ (1) ใครก็ตามที่เข้ามาร่วมถูกต้องทั้งนั้น (2) เริ่มเมื่อต้องเริ่ม (3) ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นล้วนเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น (4) จบเมื่อต้องการจบ และ 2 กฎกติกา คือ (1) กฎแห่งการเคลื่อนที่ คือ ถ้าไม่ได้รู้สึกว่าจะได้เรียนรู้ หรือมีส่วนร่วมกับประเด็นนั้น ๆ แล้ว ท่านสามารถก้าวออกจากวง เพื่อค้นหาประเด็นอื่นที่อาจเป็นประโยชน์มากกว่าได้ (2) ผู้เข้าร่วมอาจเป็น “ผึ้งงาน” หรือ “ผีเสื้อ” ก็ได้ นอกจากนี้ประเด็นที่นำมาพูดคุยก็จะเป็นประเด็นที่มาจากผู้เข้าร่วมเอง ทั้งการเสนอประเด็น การแบ่งประเด็น และการเป็นเจ้าของนำเสนอประเด็นร่วมกันล้วนเป็นการตัดสินใจของผู้เข้าร่วมอบรม โดยกระบวนกรเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกเท่านั้น

กระบวนการในการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงความรู้เช่นนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนา โดยนำสิ่งที่ผู้เข้าร่วมมีมาแลกเปลี่ยนและต่อยอด เพื่อให้เกิดความก้าวหน้า และการพัฒนาสังคมในวงกว้าง