DE

ปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนแปลง เยาวชนเคารพสิทธิ

โครงการฝึกอบรมเยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจเคารพสิทธิ
YHRC

พิธีเปิดโครงการฝึกอบรมเยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจเคารพสิทธิ ปี 2 รุ่นที่ 3

“มนุษย์ที่ขาดอิสรภาพ ก็เหมือนร่างกายที่ไร้จิตวิญญาณ”

สิทธิมนุษยชนเป็นจิตวิญญาณและรากฐานของประชาธิปไตย เกมการ์ดพลังสิทธิสร้างการตระหนักรู้เรื่องสิทธิของตนเอง และสนับสนุนให้ทุกคนกล้าพูด กล้าตั้งคำถามกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การถกเถียงเป็นกระบวนการของการเรียนรู้ผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมอง

ปี 2561 เป็นปีที่ 2 ของ “ค่ายเยาวชนรุ่นใหม่ ใส่ใจเคารพสิทธิ” โดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และองค์กรภาคีอื่น ๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิของตนเองที่พึงได้รับ และการเคารพสิทธิของผู้อื่น รวมถึงสามารถส่งต่อคุณค่าของสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เป็นที่ตระหนักในวงกว้าง ผ่านงานศิลปะและสื่อแขนงต่าง ๆ เช่น ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพยนต์สั้น และงานเขียน เป็นต้น นอกจากการส่งเสริมการสร้าง “ศิลป์สื่อสิทธิ” เพื่อสร้างความตระหนักรู้แล้ว กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพยังมีวัตถุประสงค์ให้เยาวชนได้มีโอกาสค้นหา เรียนรู้ และสานต่อเครื่องมือที่เยาวชนสนใจ เพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพได้ในอนาคต

RC

มูลนิธิฟรีดริช เนามัน หนึ่งในภาคีร่วมจัด “ค่ายเยาวชนรุ่นใหม่ ใส่ใจเคารพสิทธิ” มีพันธกิจหลักในการส่งเสริมการเคารพสิทธิ การอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตยเสรี ส่งเสริมหลักนิติธรรม และส่งเสริมการตลาดแบบเสรี พันธกิจดังกล่าวเป็นสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Rights: UDHR) และเป็นไปตามพัฒนาการของสิทธิมนุษยชนในแต่ละยุคสมัย คือ

ในยุคแรก (First Generation of Human Rights) สิทธิมนุษยชนเป็นการต่อสู้และเรียกร้องสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าว สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองนับเป็นพื้นฐานของกฎหมายของรัฐ ยุคต่อมา (Second Generation of Human Rights) เป็นการเรียกร้องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งสิทธิดังกล่าวจะถูกบรรจุไว้ในกฎหมายของรัฐ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างทั่วถึง ในยุคที่สาม (Third Generation of Human Rights) เป็นการเรียกร้องสิทธิชุมชน และการอยู่ร่วมกัน อย่างไรก็ตามแนวคิดสิทธิมนุษยชนจะยังคงพัฒนาต่อไปอีกตามบริบทสังคมและสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป

YHRC

คุณแคทรีน บันนัคค์ หัวหน้าสำนักงานประเทศไทย มอบรางวัลให้กับหนึ่งใน Human Rights Champions

ด้วยบริบทสังคมและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ได้ร่วมกันพัฒนาสื่อการเรียนรู้ “เกมการ์ดพลังสิทธิ” ขึ้น เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เล่น ซึ่งเป็นหนึ่งกิจกรรมที่ “ชาวค่าย” ได้เรียนรู้ร่วมกัน

หลังจากการแลกเปลี่ยนความคิด ความเห็น แนวทางแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ แล้ว เยาวชนจากแต่ละกลุ่มได้นำเสนอสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน และแนวทางแก้ปัญหาที่กลุ่มได้มีข้อตกลงร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเลือกปฏิบัติ การเลือกนับถือศาสนา ที่แม้ว่าจะมีสถานการณ์ที่เหมือนกัน แต่แนวทางการจัดการปัญหาของแต่ละกลุ่มก็อาจต่างกันไปตามการพูดคุย และข้อตกลงในกลุ่มนั้น ๆ