DE

สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์

ส่งเสริม คุ้มครอง ปกป้อง เยียวยา สิทธิมนุษยชน
Mani

หากพูดคำว่า “มานิ” หรือ “มะนิ” หลายคนคงทำหน้าสงสัย ถ้าเป็น “เงาะป่า” หรือ “ซาไก” ล่ะ พอจะคุ้น หรือ จินตนาการออกกันไหม?

ซาไก หรือ เงาะป่า ที่เรารู้จักกัน หากมาได้ยินเราเรียกพวกเขาอย่างนั้น พวกเขาคงไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เพราะ ซาไก แปลว่า คนป่า แต่พวกเขานั้นเป็นมนุษย์ เป็นคน เหมือนเรา ๆ ท่าน ๆ นั่นแหละ เขาจึงจะพอใจมากกว่าหากเราจะเรียกพวกเขาว่า มานิ หรือ มะนิ ซึ่งแปลว่า มนุษย์

มานิ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ อาศัยอยู่ในป่า เขตอนุรักษ์ต่าง ๆ แล้วแต่ทรัพยากรจะอำนวย  มีทั้งกลุ่มที่ย้ายถิ่นฐาน (ทับ) ไปตามแหล่งอาหาร กลุ่มที่ตั้ง “ทับ” กึ่งถาวร และกลุ่มที่มีที่อาศัยถาวร 

Mani

หนึ่งในครอบครัวมานิในพื้นที่อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล

มานิที่ย้ายทับไปตามแหล่งอาหาร หรือกลุ่มที่มีทับกึ่งถาวร ดำรงชีวิตด้วยการหาอาหารไปเรื่อย ๆ เช่น การขุดหัวมัน ล่าสัตว์ แต่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ มานิเล่าว่าพวกเขาอยู่กันอย่างปรองดอง คือ เมื่อหาอาหารมาได้ ทุกคนจะได้รับแบ่งอาหารเท่ากัน โดยเริ่มจากเด็ก แล้วจึงให้ผู้หญิง คนแก่ และผู้ชาย ตามลำดับ นอกจากนี้เวลาจะย้าย “ทับ” กัน มานิจะต้องมีข้อตกลงในการย้ายทับร่วมกัน โดยอาศัยเสียงข้างมากในการตัดสินใจย้าย และตัดสินใจว่าจะย้ายไปที่ใด ตามแต่แหล่งอาหาร และทรัพยากรจะอำนวย

มานิที่มีที่อยู่อาศัยถาวร เป็นกลุ่มที่มีอาชีพ มีรายได้ และมีที่อยู่ที่มั่นคง โดยแหล่งรายได้มาจากการเก็บของป่าเพื่อขาย เป็นต้น

Mani

“ทับ” กึ่งถาวร ของมานิ

ปี 2561 นี้ เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองการครบรอบ 70 ปี การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รัฐบาลไทย โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็ได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระชาติ ในการขับเคลื่อนประเทศไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่กลุ่มชาติพันธุ์มานิ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาบรรทัด จังหวัดสตูล และได้รับความสนใจจากนักข่าว จึงได้มีการติดต่อขอเข้าพื้นที่เพื่อทำสารคดีในประเด็นการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่กลุ่มชาติพันธุ์มานิ

Mani

บรรยากาศการลงพื้นที่เพื่อดำเนินการช่วยเหลือทางกฎหมายกับกลุ่มชาติพันธุ์มานิ

Mani

เฒ่าไข่ ศรีมะนัง หัวหน้ากลุ่มมานิ อาศัยอยู่ที่อำเภอละงู (ติดกับอำเภอทุ่งหว้า) ได้รับความสนใจจากนักข่าวในการทำสารคดีข่าวเกี่ยวกับการรับรองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ

กลุ่มชาติพันธุ์มานิจำนวนหนึ่ง ได้รับการรับรองสัญชาติ และได้ถือครองบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อประมาณ 1 ปีที่แล้ว หนึ่งในผู้ที่ได้รับบัตรประจำตัวประชาชน คือ เฒ่าไข่ ศรีมะนัง ได้เล่าว่า การมีบัตรประจำตัวประชาชน และได้รับการรับรองสถานะบุคคลได้ทำให้เขา ได้รักษาฟรีในโรงพยาบาล โดยที่มาของการได้รับบัตรประจำตัวประชาชน จากคำบอกเล่าของเฒ่าไข่นั้น เกิดขึ้นเมื่อเฒ่าไข่ต้องเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่โรงพยาบาลไม่สามารถรักษาได้ เนื่องจากเฒ่าไข่ไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน

Mani

พวกเขามีสถานะเป็นบุคคล มีสิทธิเช่นเดียวกันกับที่เรามี

ใน “ทับ” ที่คณะได้ขึ้นไปเยี่ยม เป็นทัพแบบกึ่งถาวร และยังมีมานิอีกหลายคนที่ยังไม่ได้รับการรับรองสถานะ ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน สาเหตุเพราะ ตกสำรวจ และถูกลืม ทำให้มานิยังไม่ได้รับสวัสดิการจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การรักษาพยาบาลและสาธารณสุข เป็นต้น และพวกเขาคิดว่าหากพวกเขามีบัตรประจำตัวประชาชนน่าจะช่วยพวกเขาในเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ ได้มาก เนื่องจากสภาพแวดล้อมและสภาพสังคมของพวกเขาได้เปลี่ยนไปแล้วเช่นกัน

“...เมื่อพวกเขาได้รับบัตรประชาชนแล้ว พวกเขาก็จะมีสถานะเป็นบุคคล มีสิทธิเช่นเดียวกันกับที่เรามี แต่แน่นอนสิทธิก็จะมาพร้อมกับหน้าที่...”

นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

เมื่อมานิเป็นมนุษย์ พวกเขาก็ควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ควรได้รับ แต่พวกเขาไม่ได้รับสิทธิบางประการเพราะไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน

นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า “...เมื่อพวกเขาได้รับบัตรประชาชนแล้ว พวกเขาก็จะมีสถานะเป็นบุคคล มีสิทธิเช่นเดียวกันกับที่เรามี แต่แน่นอนสิทธิก็จะมาพร้อมกับหน้าที่...”