DE

สิทธิมนุษยชน x คนยุติธรรม

Human Rights Workshop

 “เพราะเราอยู่ในเบ้าหลอมแบบนั้น จากที่เราคิดว่าเขายิ่งรู้สิทธิน้อยยิ่งดี ถ้ารู้เยอะแล้วปัญหาก็อาจกลับมาที่เรา และบางทีเราเองก็เลือกปฏิบัติเหมือนกัน...”

Human Rights Workshop

ประยุกต์ใช้เกมการ์ดพลังสิทธิในการอบรมเชิงปฏิบัติการ

เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านหลักสิทธิมนุษยชนแก่บุคคลากรในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เกี่ยวข้อง อาทิ นักวิชาการ นักกิจกรรมสังคม บุคคลากรในกระบวนการยุติธรรม เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนากระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรมจึงได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมหลักสูตร “Human Rights รากฐานความรู้ของคนยุติธรรม รุ่นที่ 2” ขึ้น

กล่าวได้ว่า คนยุติธรรม เป็นผู้อำนวยให้เกิดความยุติธรรมระหว่างผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ และผู้ที่ (ถูกกล่าวหาว่า) ละเมิดสิทธิด้วย อีกนัยหนึ่งหน้าที่ของคนในกระบวนการยุติธรรม คือการเป็นคนกลางในการอำนวยความยุติธรรมระหว่างคู่กรณี ภายใต้กลไกกระบวนการยุติธรรม

สิทธิมนุษยชน คือ สิทธิที่มนุษย์ทุกคนมีมาแต่กำเนิด แบ่งแยก ถ่ายโอนไม่ได้ และเป็นสิทธิที่พึงมีก่อนที่กฎหมายจะรับรอง แม้แต่ผู้ที่ละเมิดสิทธิผู้อื่นก็ยังคงมีสิทธิมนุษยชนติดอยู่กับตัวเขาเอง คนยุติธรรมเองก็ละเมิดสิทธิของผู้ละเมิดไม่ได้ หากสิทธิดังกล่าวถูกล่วงละเมิดหรือริดรอนอาจทำให้เกิดความวุ่นวายภายในสังคมขึ้นได้

Human Rights Workshop

ผู้ร่วมอบรมลองสวมบทบาทเป็นคู่ขัดแย้ง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อจัดการความขัดแย้งโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน

สิทธิมนุษยชนผ่านสายตาคนยุติธรรม

จากกิจกรรม “Human Rights รากฐานความรู้ของคนยุติธรรม รุ่นที่ 2” ที่เพิ่มมิติมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนคนยุติธรรมกล่าวว่าพวกเขาเห็นถึงคุณค่าของสิทธิ และต้องการนำความรู้ที่ได้จากกิจกรรมไปพัฒนาและปฏิบัติใช้ โดยได้สะท้อนว่า ทัศนคติที่มีต่อคำว่าสิทธิมนุษยชนได้เปลี่ยนแปลงไป “ไม่ต้องรู้จักคำว่าสิทธิมนุษยชนก็ได้ ขอเพียงแค่เคารพกันและกัน” ในทัศนะของคนยุติธรรม สิทธิมนุษยชน คือ สิ่งที่แบ่งแยกไม่ได้ มีความเป็นสากล และสิ่งที่จะนำไปปรับใช้กับการปฏิบัติหน้าที่ คือ ได้เรียนรู้ที่จะก้าวออกจากสิ่งเดิมที่เคยทำ เคารพสิทธิของผู้อื่น และแจ้งสิทธิให้ผู้อื่นทราบ เพื่อสร้างความเท่าเทียมในโอกาสการเข้าถึงสิทธิ

Human Rights Workshop

เกมการ์ดพลังสื่อ หนึ่งในเครื่องมืออบรมเพื่อผลิตสื่อ เพื่อสื่อสารหลักการสิทธิมนุษยชน

พลังสื่อกับสิทธิมนุษยชนเราอยู่ในห้วงเวลาที่เทคโนโลยีการสื่อสารมีความก้าวหน้า คำว่าสื่อไม่ได้จำกัดเฉพาะสำนักข่าว หรือพื้นที่ที่ต้องผ่านการกลั่นกรองโดยกองบรรณาธิการ แต่ด้วยเทคโนโลยีทำให้เราทุกคนมีพื้นที่ในการเป็นสื่อได้ โดยปราศจากกองบรรณาธิการ

การอบรมเชิงปฏิบัติการ Human Rights สิทธิมนุษยชน รากฐานความรู้ของคนยุติธรรม ปีที่ 2 จึงเปิดพื้นที่ให้คนยุติธรรมได้ลองผลิตสื่อ เพื่อสื่อสารหลักสิทธิมนุษยชนให้บุคคลภายนอกได้รับรู้ ผู้เข้าร่วมได้แบ่งกลุ่มผลิตสื่อ เพื่อสื่อสารประเด็นสิทธิมนุษยชน เช่น การเลือกปฏิบัติ สิทธิแรงงาน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอสั้น ข่าวสารคดี infographic  การผลิตสื่อเป็นอีกช่องทางที่จะทำให้เกิดการตระหนักรู้ และเข้าถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ง่าย นอกจากนี้ระหว่างการผลิตสื่อ ผู้ผลิตก็ได้ศึกษาค้นคว้า และถือเป็นการนำองค์ความรู้ไปใช้เพื่อเกิดประโยชน์ต่อสังคม

Human Rights Workshop

การผลิตสื่อของผู้ร่วมอบรม เพื่อนำเสนอหลักการสิทธิมนุษยชน

กล่าวได้ว่าเมื่อคนยุติธรรมมีรากฐานความรู้สิทธิมนุษยชนที่เข้มแข็ง และมีทักษะ เครื่องมือในการเผยแพร่ความรู้ หลักสิทธิมนุษยชนก็จะเป็นรากฐานของสังคมไทยได้ต่อไป