DE

Speed Dating Evolution

ประมวลกิจกรรม ภาพกิจกรรม และเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วม
ช่วงกระบวนการ Speed Dating Evolution
กลุ่มย่อย

นานา-วิภาพรรณ วงษ์สว่าง –

Coconut Empire เป็นเกมที่คิดขึ้นจากความต้องการความสนุกระหว่างเพื่อน และเห็นว่าเกมในแบบตะวันตกนั้นยังขาดมิติเล่เหลี่ยมการตีความในแบบตะวันออก นอกจากนี้ยังไม่ได้ใช้เกมในฐานะสื่อการสอนโดยตรง และไม่ได้จำกัดเนื้อหาที่จะได้จากเกม หากแต่อยู่ที่ผู้เล่นว่าจะนำไปเล่นอย่างไร และได้สาระสำคัญอะไรจากเกม

Consent ความยินยอม ยังไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย และยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ในทางกฎหมาย สิ่งที่ทำให้คุณนานาหันมาทำเรื่องความยินยอม (Consent) เพราะเห็นว่ากฎหมายยังไม่ได้เยียวยาผู้เสียหายจากการถูกล่วงละเมิด นอกจากนี้กฎหมายยังให้น้ำหนักกับเรื่อง consent น้อย และผู้ถูกกระทำมักถูกสังคมตัดสินไปก่อนแล้วว่าถูกกระทำเพราะพฤติกรรมที่แสดงออกเป็นการ “ยินยอม” เรื่องนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนต่อไปว่าจริง ๆ สิ่งที่ผู้เสียหายต้องการ คือ การสำนึกผิด และคำขอโทษจากผู้กระทำ การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ล่วงละเมิดอีก คือ เราต้องมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น การสำนึกจากการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และการสำนึกจากความหวาดกลัวบทลงโทษนั้นส่งผลต่อพฤติกรรมไม่เท่ากัน ดังนั้นประเด็นสำคัญคือการสร้างความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้เกิดขึ้น

กลุ่มย่อย

แก้วใส - ณัฐพงษ์ ภูแก้ว เริ่มจากการเป็นนักกิจกรรม (เด็กค่าย) ที่เห็นว่าบทเพลงที่ขับร้องในกิจกรรมต่าง ๆ ขับเคลื่อนบรรยากาศและประเด็นได้ จึงเริ่มให้ความสนใจกับการใช้บทเพลงในการขับเคลื่อนประเด็นสังคม ประกอบกับเมื่อเพื่อนถูกจับกุม เขาจึงแต่งเพลงในนาม วงดนตรีของสามัญชน โดยสามัญชน เพื่อสามัญคน เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนธรรมดาก็ทำเพลงได้ แก้วใสยังกล่าวอีกว่าเพลงที่ขับเคลื่อนด้วยไม่ได้จำกัดอยู่ที่แนวดนตรี แต่เป็นเนื้อหาต่างหาก โดยได้มีการแลกเปลี่ยนในกลุ่มถึงบทเพลงที่พวกเขาชอบฟังในปกติ จึงเห็นว่าเพลงส่งผลกับความรู้สึก ขณะเดียวกัน ความรู้สึกก็เป็นส่วนหนึ่งในการเลือกฟังเพลงในบางขณะ

ต่าย – ภนิธา โตปฐมวงศ์ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองด้านการเรียนรู้ โดย “อาชีฟ” เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่จะชวยต่อยอดการศึกษาให้กับคนรุ่นใหม่ ในการค้นหาความสนใจของตนเอง ในกลุ่มเกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างแนวคิดการทำงานเพื่อสังคม หรือลงมือเปลี่ยนแปลงสังคม โดยสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ไม่ค่อยจะได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวมากนัก เนื่องจากเห็นว่าการทำงานเพื่อสังคมนั้นเป็น “การพาตัวเองไปลำบาก” ทั้งที่เขา/เธอมีศักยภาพมากพอที่จะสร้างความมั่นคงในชีวิตได้ (โดยไม่ลำบาก) การปิดกั้นของครอบครัวก็ไม่ต่างอะไรกับการปิดกั้นความฝันของเด็ก เราไม่ควรกลัวที่จะฝัน และไล่ล่าความฝันของพวกเขา สิ่งที่ครอบครัวควรทำจึงน่าจะเป็นการสนับสนุนการเดินตามเส้นทางความฝันของเขามากกว่าที่จะปิดกั้น เพื่อให้เขา/เธอใช้ศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่

 

กระบวนการ

แบ่งช่วงกระบวนการได้เป็นอีกหลายกิจกรรม

ช่วงแรกเป็นการทบทวนตนเอง โดยกระบวนกรได้แจกกระดาษให้ผู้เข้าร่วม พร้อมปากกา และสี เพื่อให้ผู้เข้าร่วมแต่งแต้ม วาด เขียน “อะไรเป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้เราเป็นเราในทุกวันนี้” ลงในกระดาษ เนื่องจากผู้เข้าร่วมนั่งเป็นวงกลมใหญ่ จึงมีโอกาสได้สังเกตปฏิกิริยาของผู้เข้าร่วม หลายคนยังไม่จรดปลายปากกา (และสีชอล์ค) แต่งแต้มสิ่งที่หล่อหลอมพวกเขา เหมือนกับครุ่นคิดว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร (หรือจะวาด/เขียน ออกมาอย่างไร) บางคนเริ่มจรดปลายปากกาแทบจะทันทีทันใด งานศิลปะที่ออกมามีความหลากหลาย มีทั้งการแต้มสีลงในกระดาษ ภาพหนังสือ ภาพการพูดคุย คำบางคำ ภาพความหลุดจากกรอบ ภาพเปรียบเทียบชีวิตของเขา หลังจากได้ชมผลงานของผู้เข้าร่วมแล้ว ได้มีการจับกลุ่ม แลกเปลี่ยนเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในภาพ/คำนั้น ๆ ทำให้เกิดความรู้สึกเข้าอกเข้าใจ และเรียนรู้จากคนอื่นมากขึ้น

ต่อมากระบวนกรได้นำให้เกิดการแลกเปลี่ยนผ่านกระบวนการ Spectrum โดยแบ่งห้องออกเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งเห็นด้วย (100%) และฝั่งไม่เห็นด้วย (0%) โดยผู้เข้าร่วมสามารถเลือกได้ว่าจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับคำถามจากกระบวนกรมาก-น้อยเพียงใด กระบวนการดังกล่าวทำให้เห็นถึงพื้นที่แห่งการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยน การมองเรื่องราวอย่างหลากหลายมุมมอง การไม่ด่วนตัดสินคนอื่น นอกจากนี้สิ่งที่กลุ่มเห็นพ้อง คือ ความหลากหลายทางความคิด ที่ยังไม่มีถูก-ผิด แต่สังคมมีพื้นที่เปิดกว้างมากพอสำหรับความหลากหลายหรือไม่

ช่วงท้ายเป็นการปิดกระบวนการ ผู้เข้าร่วมได้กล่าวถึงสิ่งที่ได้กลับไป โดยให้น้ำหนักกับความคาดหวังในครั้งแรก ส่วนมากมองที่ว่าสิ่งที่ได้กลับไปก็พอจะคุ้มค่ากับเงินค่าลงทะเบียน นอกจากสิ่งของแล้วยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนจากผู้ต้องการเปลี่ยนแปลง บ้างก็มาเพื่อจะเรียนรู้ความคิดคนรุ่นใหม่ บ้างมาเพื่อหากำลังใจในการทำงานต่อ บ้างมาเพื่อฝึกฝนตัวเองและก้าวข้ามข้อจำกัดบางอย่างของตนเอง โดยรวมผู้เข้าร่วมเห็นว่าการจ่ายเงินก็พอจะเป็นประโยชน์อยู่บ้าง เช่น การได้ของที่ระลึกกลับมา หรือการบังคับให้ตัวเองมาร่วมกิจกรรม