DE

สร้างกระบวนกรส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน

Facilitation workshop

โครงการเสริมทักษะการเป็นวิทยากรกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชน (HR Facilitator)  โดยสำนักส่งเสริมและประสานงานเครือข่าย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในระหว่างวันที่ 19 - 20 พฤษภาคม 2561  เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการเรียนรู้ ในการส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน

ในฐานะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นกลไกหลักในการปกป้อง และส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนในประเทศ ผ่านการตรวจสอบ จัดทำรายงาน เสนอแนะมาตรการหรือนโยบาย ส่งเสริมการศึกษาและความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้การจัดทำรายงานและกระบวนการต่าง ๆ ควรเป็นไปโดยเคารพหลักสิทธิมนุษยชน และคำนึงถึงการเปิดพื้นที่เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้แสดงทัศนะ เพื่อให้การจัดทำข้อเสนอตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน

Facilitation workshop

ดร. พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ได้อธิบายถึงความหมายของกระบวนการและองค์ประกอบสำคัญของการจัดกระบวนการ กระบวนการ คือ การออกแบบกิจกรรมในองค์รวม และองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการ ประกอบด้วย วิทยากรกระบวนการ สภาพแวดล้อม และเครื่องมือต่างๆ   ประสบการณ์ของวิทยากรกระบวนการในการเลือกใช้เครื่องมือต่างๆให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายและสภาพแวดล้อมจำช่วยสนับสนุนให้กิจกรรมบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิทยกากรกระบวนการควรรู้ที่จะสังเกต และเคารพในความคิดของผู้เข้าร่วม ในกระบวนการ ต้องคำนึงถึงเป้าหมายของการจัดกระบวนการ ผู้เข้าร่วม รูปแบบสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งส่งผลต่อการออกแบบ และการนำเครื่องมือต่าง ๆ มาใช้ในกระบวนการ นอกจากนี้กระบวนกรยังมีหน้าที่สำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยนระหว่างผู้เข้าร่วม เพื่อให้ผลลัพท์ที่ได้จากการอบรมนั้นเป็นผลผลิตที่เกิดจากการรับฟัง และเคารพในความเห็นของผู้เข้าร่วม

เครื่องมือที่นำมาใช้ในการอบรมครั้งนี้ เริ่มจากการ แนะนำตัว โดยวิธีการ Speed dating เพื่อให้ผู้เข้าร่วมส่วนมากได้ทำความรู้จักกันในเวลาอันสั้น การพูดคุยผ่าน Trio Dialogue ฝึกฟังแบบ Deep listening การระดมความคิดเห็นผ่าน Meta Card เสวนาผ่าน World Cafe เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนในประเด็นคำถาม อันเป็นโจทย์ที่ผู้จัดต้องการจะทราบ ย้อนดูอดีตผ่านเส้นเวลา Timeline ย้อนดูสิ่งที่มีอยู่แล้ว เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ระดมความคิดอย่างเสรีผ่านวิธี Open Space ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้มีไอเดียได้เสนอประเด็น และมีผู้เข้าร่วมที่สนใจเข้าฟังการนำเสนอได้อย่างเสรี ระดมความเห็นเป็นกลุ่มตามความถนัดหรือสนใจผ่าน Caravan พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนกับกลุ่มอื่น ๆ เพื่อช่วยเติมแนวคิดจากมิติที่ต่างกันออกไป และปิดท้ายด้วยการรับฟังเสียงของกันและกันในกระบวนการ Fish Bowl

และการอบรมสั้น ๆ เกี่ยวกับการจดบันทึกการประชุมเป็นรูปภาพ โดยวิทยากรได้แลกเปลี่ยนในการจับประเด็น จดบันทึก และใช้สีสันเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง และเพื่อให้บันทึกที่ออกมาน่าสนใจ น่าติดตามมากยิ่งขึ้น