DE

6 ปีจากการปลูก สู่การแพร่กระจายของเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตย

MOF Sim Democracy Workshop

“ผลจากการเดินทางส่งเสริมประชาธิปไตย อาจจะไม่ได้เห็นชั่วข้ามคืน แต่อาจใช้เวลาเป็นปีๆ คนที่เดินทางร่วมกันสำหรับเกมนี้มีไม่มาก”

ส่วนหนึ่งจากข้อความที่บอกเล่าถึงความประทับใจจากการอบรมเกมจำลองเมืองประชาธิปไตย (Sim Democracy) ของดร. พิมพ์รภัช (ดร. แมรี่/พี่แมรี่) ผู้จัดการโครงการประเทศไทย มูลนิธิฟรีดริช เนามัน หลังจากการอบรมหลักสูตรวิทยากรตัวคูณส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมประจำกระทรวงการคลัง ในหัวข้อ “ต้านทุจริตศึกษา 2 : การเป็นพลเมือง ความรับผิดชอบต่อสังคมและการไม่ทนต่อการทุจริต”

MOF Sim Democracy Workshop

เมื่อ 6 ปีที่แล้ว คุณกฤษณะ สุขสวัสดิ์ (กราฟ) ผู้นำกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองหาเครื่องมือในการอบรมเกี่ยวกับประชาธิปไตย และค้นพบเกมจำลองเมืองประชาธิปไตย หลังจากพยายามตัดโมเดลเกมด้วยกระดาษ แต่ยังตัดตามได้ไม่หมด จึงได้ตามหาช่องทางติดต่อมูลนิธิฯ ทำให้ทีมงานได้เดินทางไปอบรมให้กับนักศึกษากลุ่มนี้ ปีนี้ในสถานะที่ต่างออกไป คุณกราฟในฐานะเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ติดต่อมาทางเพจเกม Sim Democracy อีกครั้ง เพื่อนำ “เกมเปลี่ยนชีวิต” ไปเป็นส่วนหนึ่งในการอบรมวิทยากรตัวคูณ ประจำกระทรวงการคลัง โดยให้เจ้าหน้าที่และราชการในกระทรวงให้สามารถนำสื่อไปประยุกต์ใช้ และเผยแพร่ในหน่วยงาน และองค์กรภายนอกต่อไป

MOF Sim Democracy Workshop

ด้วยผู้ร่วมอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ด้านการวางแผนจัดการ และมีความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย และความเป็นพลเมือง เมื่อถามถึงความเป็นพลเมือง จึงได้รับเสียงตอบรับแทบจะทันทีถึงความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การจ่ายภาษี การไม่ละเมิดกฎหมาย หรือการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและพัฒนาสังคม หลังจากได้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างความเป็นพลเมืองกับความโปร่งใส จึงเริ่มกระบวนการเข้าสู่ “เกมเปลี่ยนชีวิต” เกมจำลองเมืองประชาธิปไตย เริ่มจากการหาอาสาสมัครเพื่อสังเกตพฤติกรรมระหว่างการอบรม ตามด้วยการจัดตั้งพรรคการเมือง นำเสนอนโยบาย จากนั้น หลังจากเลือกตั้งแล้วตัวแทนรัฐบาลลงไปบริหารในพื้นที่ต่างๆ ในการบริหารงาน (หรือเล่นเกม) เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอบรม ที่ผู้ผู้นำ และพลเมืองในบนกระดานต้องสวมบทบาทตามที่ได้รับ เช่น การจัดสรรงบประมาณตามความต้องการของพลเมือง หรือจัดสรรงบประมาณตามอำเภอใจ ในส่วนพลเมือง อาจมีบทบาทต่างออกไป เช่น เป็นผู้ร่วมมือกับรัฐบาล/ผู้นำ หรือเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับประโยชน์ส่วนตัว เป็นต้น

MOF Sim Democracy Workshop

หลังจากได้บริหารในพื้นที่ต่างๆ แล้ว ทีมงานได้รับฟังเสียงสะท้อนจากผู้สังเกตการณ์ถึงบทบาทผู้นำ การมีส่วนร่วมของพลเมือง และแนวทางการบริหารในพื้นที่ว่ามีลักษณะ หรือแนวโน้มเป็นอย่างไร รวมถึงส่งผลอย่างไรกับเมืองที่พวกเขาอยู่ นอกจากเสียงสะท้อนถึงแนวทางการบริหาร และจัดสรรงบประมาณจากผู้สังเกตการณ์แล้ว ในพื้นที่ที่ผู้นำต้องรับบท “ผู้นำเผด็จการ” ก็จะมีเสียงสะท้อนจากพลเมืองในพื้นที่ ว่า “อยากให้ผู้นำรับฟังเสียงบ้าง” เมื่อพวกเขามีโอกาสแสดงความเห็น หรือในส่วนของ “ผู้นำรักความยุติธรรม” ที่พยายายามจัดสรรทุกอย่างให้เท่ากัน ก็ได้รับเสียงสะท้อนถึงความล่าช้าในการตัดสินใจ รวมถึงสิ่งที่ได้รับจัดสรรอาจไม่ตอบสนองกับพลเมืองในพื้นที่อีกด้วย นอกจากนี้ความอยู่ดีกินดี หรือพื้นฐานเศรษฐกิจของเมืองต่างๆ ก็ยังขึ้นกับสถานการณ์และบริบทแวดล้อมว่าจะสามารถกระตุ้น หรือสร้างเศรษฐกิจในเมืองได้มากน้อยแค่ไหนอีกด้วย

จากการรับฟังเสียงสะท้อนอย่างมีส่วนร่วม ผู้เข้าร่วมสะท้อนให้เห็นถึงการวางแผน การบริหารจัดการงบประมาณของรัฐ รวมถึงการรับฟัง และการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความโปร่งใสจากประชาชน รวมถึงขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน