Gender Equality
Condition for Unconditional love : เมื่อรักที่ไม่มีเงื่อนไข ต้องพบเจอกับข้อจำกัดจากสังคม ชวนพูดคุยกับความรักของคนเป็นแม่ ที่มีครอบครัวไม่ตรงตามกรอบนิยามเดิมๆ
“ลูกชายของแม่เป็น trans masculine aromatic asexual”
สำหรับผู้อ่านหลายคน คำที่คุณอังสุมาลินเพิ่งจะกล่าวถึงอาจฟังดูยากไปหมด เหมือนชื่อเมนูในร้านกาแฟชื่อดัง คุณอังสุมาลินเข้าใจบรรยากาศแบบนี้ดี เธอจึงเริ่มต้นบทสนทนากับเราด้วยการนิยามคำศัพท์ที่เราจะได้ยินกันบ่อยๆในบทความนี้ให้เราฟัง
Trans gender หมายถึงกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิด เช่นภาษาปากที่เรียกว่าหญิงข้ามเพศ
Aromatic คือคนที่แทบไม่ได้สนใจความรักแบบโรแมนติก ซึ่งจะมีหลากหลายระดับแตกต่างกันไป
Asexual คนที่มีแรงดึงดูดทางเพศน้อย ไม่ได้หมายความว่าไม่มีสมรรถภาพทางเพศ มีการช่วยตัวเอง และสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปรกติ
"สมัยก่อนบ้านเราไม่มีคำเรียกเหล่านี้ เคยมีเพื่อนๆมาปรึกษาเหมือนกันว่าเขารักแฟนมาก แต่ไม่ได้อยากมีอะไรกับแฟน มันปรกติมั้ย แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้คือความหลากหลาย และไม่ใช่เรื่องผิดปรกติอะไร" คุณอังสุมาลินกล่าวกับเรา
มายาคติและภาพจำ สังคมไทยสร้างเงื่อนไขอะไรให้ความรักของคนเป็นแม่
"ยังมีคนเข้าใจว่าความหลากหลายทางเพศเป็นความผิดปรกติ จริงอยู่ที่มีการยอมรับมากขึ้น แต่ยังน้อยกว่าที่ควรจะเป็นมากอยู่"
มีภาพจำที่สื่อต่างๆทำให้เรานึกไปถึงเสมอเวลาพูดถึง LGBTQ เช่น หญิงข้ามเพศต้องแสดงออกมากกว่าปรกติ เลสเบี้ยนต้องอารมณ์รุนแรง ขี้หึง เกรี้ยวกราด ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ หลายๆคนยังเชื่อว่าการเป็น LGBTQ เกิดจากการเลี้ยงดู ถูกหล่อหลอม อบรมมาแบบผิดๆ ในความเป็นจริงคนที่เป็นเขาก็เป็น แค่เลือกจะแสดงออก เป็นตัวของตัวเองหรือไม่เท่านั้น ตอนเด็กๆอาจมีพ่อแม่พูดว่าอย่าคบเพื่อนเกเรใช่มั้ย แต่อีกคำที่คนชอบพูดคืออย่าไปคบเพื่อนเป็นตุ๊ด เป็นทอม เดี๋ยวเป็นตาม ซึ่งถ้ามันเป็นเรื่องจริงก็คงไม่มี LGBTQ แล้ว เพราะจะติดเป็น straight จากคนส่วนใหญ่กันไปหมด
ยิ่งคนมีอายุบางคนจะยิ่งขาดความเข้าใจ ใช้คำเป็นพวกวิตปริต ผิดเพศ และคำศัพท์หลายคำเป็นคำใหม่อย่างที่เราพูดกันไป ความรู้ความเข้าใจเลยยังไม่ได้ถูกถ่ายทอดไปอย่างทั่วถึง
“ ไม่มีลูกคนไหนอยากทำให้พ่อแม่ผิดหวัง อยากได้รับการยอมรับ อยากได้รับความเข้าใจ แรงสนับสนุนจากพ่อแม่ ถ้าได้กำลังใจจากครอบครัวใจก็ฟูขึ้นแล้ว”
‘ความเข้าใจ’ ประตูที่เปิดใจให้เราเข้าใกล้กันมากขึ้น
การสื่อสารกับคนรอบข้างให้เข้าใจลูกเราค่อนข้างสำคัญมาก พ่อแม่ต้องหาข้อมูลเพื่อเข้าใจเขา ยิ่งในช่วงเวลาที่เขากำลังค้นหาตัวเองอยู่ หรือค้นพบตัวเองแล้ว สิ่งที่ยากมากคือจะบอกกับครอบครัวยังไง
มันสำคัญมากกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะเด็ก ที่เขาอาจยังไม่แน่ใจในตัวเอง หลายบ้านไม่ยอมรับ เขาก็ไม่ได้เลิกเป็น แต่เขาจะโกหก อยู่บ้านให้น้อยที่สุด ยิ่งถ้าครอบครัวใช้ความรุนแรง บางครอบครัวเข้าใจว่าถ้าใช้ความรุนแรง ลูกจะกลับมาเป็นผู้ชาย หรือผู้หญิงถ้าเป็นเลสเบี้ยน ก็จะมีวลีอย่าง แก้ทอมซ่อมดี้ คนที่เป็นเขารู้สึกว่าถ้อยคำเหล่านั้นเหมือนการคุกคามกัน
ในสังคมเราจะต้องทำงานเรื่องนี้ ต้องสร้างความเข้าใจอีกมาก เช่นข้อมูลทางการแพทย์บางทีมันก็เข้าถึงยาก หมอหลายคนก็มาเรียนเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้นเหมือนกัน มีหลักสูตรจัดโดยโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ที่สอนเกี่ยวกับความเข้าใจทางเพศด้วย เราต้องช่วยกันพูดในหลายๆแง่มุม อย่างนักวิชาการ คนในวงการแพทย์ ในแวดวงการศึกษา คนก็จะเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น
ไม่ใช่แค่กับ LGBTQ ครอบครัวของพวกเราก็เผชิญกับความท้าทายนี้ไม่ต่างกัน
เราถูกถามเยอะมากว่าทำยังไงถึงจะเข้าใจลูก หรือมีเด็กมาถามว่าทำยังไงให้ที่บ้านยอมรับความเป็นเขา ถ้าครอบครัวยอมรับ เขาจะมีภูมิต้านทานในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรเขาจะรู้ว่าเขามีพื้นที่ปลอดภัยในบ้านเสมอ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเขาไม่สามารถแสดงตัวตนที่แท้จริงกับที่บ้าน มันจะอยู่กันแบบหลบซ่อน ยิ่งบ้านที่ต่อต้าน มองว่าเขาเป็นตัวปัญหา มันจะทุกข์มาก รู้สึกไม่เคยดีพอ ไม่เคยเป็นที่ยอมรับไม่ว่าโลกข้างนอกเขาจะประสบความสำเร็จแค่ไหนก็ตาม
การสร้างพื้นที่ปลอดภัย ทักษะการฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสิน จึงเป็นทักษะที่สำคัญมาก การพูดก็เช่นกัน แม้แต่ตัวแม่เองก็เคยถูกลูกบอกว่าอย่าปฏิบัติกับเขาเหมือนเขาเป็นเด็กผู้หญิงได้มั้ย บางทีเราต้องให้เวลาคนอื่นด้วยในการเรียนรู้ ปรับตัวกับข้อมูลใหม่ บางทีมันไม่ได้มาจากความตั้งใจแต่มาจากความไม่รู้ด้วย
เราต้องถนอมน้ำใจกันและกัน ต้องมองว่าพ่อแม่หลายๆคนไม่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยเดียวกันกับพวกเรา พ่อแม่โตมาในทัศนคติอีกแบบหนึ่ง ต้องใช้เวลาในการยอมรับปรับเปลี่ยนมุมมองเช่นกัน
เราเองก็ต้องพยายามสื่อสารให้เด็กที่มาปรึกษามองในมุมนี้ด้วย
“ตอนที่ลูกชายของแม่มาเล่าให้ฟัง สังคมยังไม่ได้ยอมรับเต็มที่ ความรู้สึกแรกของแม่คือดีใจที่ลูกมาบอกตรงๆ แต่ความคิดต่อมาคือเป็นห่วง กลัวเขาลำบาก กลัวสังคมรอบข้างไม่โอบรับเขา เราเห็นข่าวการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศมาตลอด ตั้งแต่ในรั้วสถานศึกษา ไปจนถึงที่ทำงาน มันคือความเป็นห่วงในฐานะคนเป็นแม่ แต่เราก็พร้อมที่จะสู้ไปกับเขาเสมอ”
“พ่อแม่บางคนโทษตัวเองว่าเป็นเพราะเขา เพราะเลี้ยงลูกไม่ดีพอ บางคนเป็นโรคซึมเศร้าเพราะผิดหวังในตัวเอง ใจสลาย ยิ่งถ้ามีเรื่องวัฒนธรรม ศาสนาเข้ามาเกี่ยว คนที่มักโดนกล่าวโทษก่อนมักจะเป็นแม่เสมอ”
ถึงเวลาแล้ว ที่รัฐจะต้อง ‘COME OUT’ ไปด้วยกัน
ในวันที่ลูกของเราต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ตัวเอง มันเป็นเรื่องสุขภาพ ไม่ใช่ความสวยงาม ถ้าเขาแอบไปทำเองมันอันตราย เสี่ยงมาก หรือแม้แต่บางครอบครัวที่บอกว่ายอมรับ มันเป็นการยอมรับโดยปริยาย ไม่ได้พูดคุย เรียนรู้ หรือพูดถึง ไม่ได้ไต่ถามความรู้สึกกันถึงความกังวลใจของลูก
“อยากให้แต่ละครอบครัวมีการสื่อสารกัน ทุกๆความสัมพันธ์การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ”
ยิ่งไปกว่านั้นคือรัฐ ต้องให้การยอมรับ สนับสนุน come out ไปด้วยกัน รัฐต้องรองรับพรบ.สมรสเท่าเทียม เพราะนี่คือหลักประกันให้สังคมเท่ากันจริงๆ คือการรับรองสิทธิว่าเขาเป็นคนธรรมดาเหมือนทุกคน เราไม่ได้ขออะไรเป็นพิเศษไปมากกว่าใครเลย
เรื่องการรับบุตรบุญธรรม คำนำหน้านาม การคุ้มครองการล่วงละเมิดทางเพศสำหรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิในการเข้าถึงฮอร์โมนส์ แม้แต่กระทั่งการตรวจเลือดเราก็ยังคงไม่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐเลยสักบาทเดียว
วันแม่ ในอุดมคติ ของคนเป็นแม่
อันที่จริงมันเป็นเทศกาลที่ทำให้เราเห็นความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำชัดมาก คุณอังสุมาลิน กล่าวกับทีมงาน ตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำของพ่อแม่ที่เป็นผู้พิการ ยากจน หรือกระทั่งหย่าร้าง ตาย มันเป็นพิธีกรรมที่ทำร้ายจิตใจใครหลายคนมาก ๆ ควรยกเลิกไปดีกว่า เราสอนเด็กได้เรื่องความกตัญญูโดยไม่ต้องใช้พิธีกรรมมานั่งบังคับให้แสดงความรักกันแบบนั้น
ถึงครอบครัวที่สังคมไม่มีเงื่อนไขในความรัก
ความหลากหลายทางเพศ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเราทุกคน ไม่ว่าคุณจะมีคนในครอบครัวเป็น LGBTQ หรือไม่ก็ตาม อยากฝากให้สอนลูกๆไม่ว่าเขาจะเป็นเพศอะไร แสดงออกถึงอัตลักษณ์แบบไหนให้ปฏิบัติตัวกับทุกคนอย่างให้เกียรติ ยอมรับ อย่างเท่าเทียมกัน นั่นคือสังคมที่เราอยากเห็นและอยากให้ลูกๆของพวกเราเติบโตในสังคมแบบนั้นไปด้วยกัน