DE

เล่น เรียน แล้วเปลี่ยนมุมมองไปกับเกมการ์ดพลังสิทธิ

ABAC RCWS

“เรามีสิทธิอะไรบ้าง” คือ คำถามเริ่มต้นในการอบรมเรื่อง สิทธิมนุษยนชน ให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ บางนา จำนวน 70 คน ที่มาเขาร่วมวิชาพื้นฐานแบบคละคณะ คละชั้นปี คำตอบส่วนใหญ่ คือ สิทธิในการเลือก การตัดสินใจ ในการดำเนินชีวิต

ABAC RCWS

คำตอบของ "เรามีสิทธิอะไรบ้าง" ผ่านออนไลน์แพลตฟอร์ม menti.com

จากคำถาม สู่การค้นหา ถ้าสิทธิเหล่านั้นมีอยู่ มันมีที่มาจากไหน ทำไมถึงเราจึงให้ความสำคัญกับคุณค่านั้น จากการแบ่งกลุ่ม 7 กลุ่ม เพื่อสืบค้นหาที่มาของคุณค่าด้านสิทธิมนุษยชน โดยเริ่มจาก พระเจ้าไซรัสมหาราช (ยอมรับเสรีภาพในการนับถือศาสนา) จอห์น ล็อค (ทุกคนมีสิ่งหนึ่งติดตัวมาตั้งแต่เกิดเหมือนกัน สิ่งนี้คือสิทธิโดยธรรมชาติ Natural rights คนเรามีสิทธิติดตัวมาตั้งแต่เกิด มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะอ้างความเป็นเจ้าของในทรัพย์สิน ทุกคนเป็นเจ้าของแรงงานของตน) “แมกนา คาร์ตา” กฎบัตรประกันสิทธิพลเมือง จำกัดอำนาจผู้ปกครอ คำประกาศอิสรภาพแห่งสหรัฐ (เราถือว่าความจริงต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งอยู่ในตัวเอง นั่นคือ มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน และพระผู้สร้างได้มอบสิทธิบางประการที่จะเพิกถอนมิได้ไว้ให้แก่มนุษย์ ในบรรดาสิทธิเหล่านั้นได้แก่ ชีวิต เสรีภาพและการเสาะแสวงหาความสุข) ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ฝรั่งเศส (กำหนดให้สิทธิของปัจเจกชนและสิทธิมวลชลเป็นสิทธิสากล ประกาศฉบับนี้ได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีสิทธิธรรมชาติ ซึ่งหมายความว่า สิทธิดังกล่าวมีอยู่ไม่ว่าเมื่อใดและที่ใด เนื่องจากเป็นสิทธิทธิที่ตั้งอยู่บนพื้้นฐานธรรมชาติของมนุษย์) สงครามโลกครั้งที่ 2 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

จากการค้นหาความหมายสากล สู่ความเข้าใจในสถานการณ์การละเมิดสิทธิ นักศึกษาได้ร่วมเล่น เกมการ์ดพลังสิทธิ เพื่อเรียนรู้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนและแนวทางแก้ไข ทางทีมงานนำเกมการ์ดพลังสิทธิมาใช้ในการอบรม เนื่องจากเกมนี้ จะฝึกให้ผู้เล่นได้อภิปราย เสนอแนวคิด เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากผู้เล่นคนอื่นๆ เพราะเมื่อผู้เล่นเปิดการ์ดพลังสิทธิ จะต้องอธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกการ์ดใบดังกล่าวมาแก้สถานการณ์การละเมิดสิทธินั้นๆ เพื่อให้ผู้เล่นที่เหลือร่วมกันตัดสินใจว่า สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้จริงหรือไม่ หากแก้ไขได้ ก็ถือว่าจบตาของผู้เล่นคนนั้น แล้วก็วนไปยังผู้เล่นคนอื่นๆ ตามเข็มนาฬิกา ถือเป็นการฝึกให้ได้พูด ได้แสดงความคิดเห็น และรับฟังความคิดคนอื่นด้วย ซึ่งจากเสียงสะท้อนในช่วงท้ายของการอบรม นักศึกษาหลายคน พูดเหมือนกันว่า “เกมนี้ช่วยฝึกทักษะเกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์ การได้เรียนรู้ผ่านสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่ค่อยเคยเห็น และได้เรียนรู้แนวทาง วิธีการในการแก้ไขปัญหา และที่สำคัญได้ฟังความคิดของคนอื่นๆ ที่เห็นต่างจากเรา“

ABAC RCWS

ภาพจากการถอดบทเรียน หลังจากได้เล่นเกมการ์ดพลังสิทธิ และเปลี่ยนมุมมอง

การ์ดพลังสิทธิ หรือ Rights Card game มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เล่นได้เรียนรูและคิดแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ผ่านแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชีวิตจริง เกมการ์ดพลังสิทธิมีภาพบนการ์ดเป็นสถานการณ์จำลองเกี่ยวกับการละเมิดสิทธินุษยชนรูปแบบต่างๆ เรียกว่า “การ์ดสถานการณ์” และมีการ์ดอีกชุดหนึ่ง เรียกว่า “การ์ดพลังสิทธิ” ซึ่งภาพบนการ์ดเป็นแนวทางแก้ไขสถานการณ์ละเมิดสิทธิ “การ์ดสถานการณ์” จะเป็นการ์ดสีแดง จำนวน 40 ใบ ส่วน “การ์ดพลังสิทธิ “ เป็นการ์ดสีเขียวจำนวน 66 ใบ นอกจากนั้นยังมี “การ์ดภาระกิจ” สีน้ำเงินอีก 16 ใบ และ “การ์ดพิเศษ” สีเหลืองอีก 10 ใบ

วิธีเล่นหลักๆ คือ มีจำนวนผู้เล่นตั้งแต่ 4 – 5 คนขึ้นไป จะเล่นเดี่ยวหรือเล่นเป็นทีมก็ได้ เมื่อเริ่มเล่น จะแบ่งการ์ดเป็น 2 กลุ่ม คือ การ์ดสถาการณ์ หรือ การ์ดสีแดง เป็นกองกลางวางไว้ตรงกลาง และ การ์ดพลังสิทธิ สีเขียว แจกให้ผู้เล่นทุกทีมๆละ 4 ใบ ยกเว้นทีมสุดท้ายแจก 5 ใบ จากนั้นเปิดการ์ดสถานการณ์ 5 ใบ วางไว้กลางวง แล้วให้ผู้เล่นช่วยกันอ่านการ์ดทีละใบให้ทุกคนได้ยิน จากนั้นผู้เล่นคนแรก/ทีมแรก ที่มีการ์ดเปิดพลังสิทธิ สีเขียว ทีมที่จะเริ่มเล่น หยิบการ์ดสีเขียว 1 ใบ จากทีมสุดท้ายที่มี การ์ดสีเขียว 5 ใบ จากนั้นลงการ์ดสีเขียวเพื่อแก้ไขสถานการณ์สิทธิ โดยจะแก้สถานการณ์ไหนก็ได้ในจำนวนการ์ดสถานการ์ณที่เปิดไว้กลางวง ผู้เล่นคนใดเอาชนะสถานการณ์ได้มากที่สุด หมายถึง การรวมคะแนนของกลุ่มการ์ดพลังสิทธิได้มากกว่าหรือเท่ากับคะแนน หรือ เลขพลัง ของการ์ดสถานการณ์ จะสามารถเก้บการ์ดสถานการณ์เพื่อนับรวมเป็นคะแนนของตนได้ เมื่อสถานการณ์ถูกแก้ไขได้ทั้งหมด ผู้เล่นที่สะสมคะแนนได้มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ

ABAC RCWS

บรรยากาศการเล่นเกมการ์ดพลังสิทธิ

เนื้อหาหรือสถานการณ์จำลองบนการ์ดสถานการณ์ และการ์ดพลังสิทธิ นำมาจากสาระสำคัญบางส่วนในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นข้อตกลงขององค์การสหประชาชาติ ที่ได้กำหนดขึ้นเพื่อให้ประเทศสมาชิกได้ใช้เป็นแนวทางในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองในประเทศของตน สิทธิพื้นฐานที่ได้รับการรับรอง แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ สิทธิมนุษยชนพื้นฐาน สิทธิพลเมืองสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และหน้าที่ความรับผิดชอบของทุกคนต่อระเบียบสังคมและการรับรองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐานระหว่างประเทศ