DE

MOU Signing Ceremony
กิจกรรมความร่วมมือ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดิน และ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย

FNFThailandxOmbusman1

วันจันทร์ ที่ 31 มกราคม 2565 ณ ห้องประชุม 902 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

31 มกราคม 2565 นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ นายเฟรดเดอริค ชปอร์ หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย ณ ห้องประชุม 902 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อเป็นก้าวแรกของความร่วมมือระหว่างสององค์กร

FNFThailandxOmbusman2

จากนั้น นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน, รองศาสตราจารย์ อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน, นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายเฟรดเดอริค ชปอร์ หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย ร่วมเสวนาในหัวข้อ แนวทางความร่วมมือระหว่างสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน กับ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ดร. พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงอำนาจ หน้าที่ ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า ประกอบด้วย 1) แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และเสนอแนะหน่วยงานภาครัฐในการปรับปรุงกฎหมาย คำสั่ง ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน หรือไม่เป็นธรรมกับประชาชน 2) แก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน จากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือที่ปฏิบัติเกินหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนโดยตรง 3) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงหน่วยงานที่ไม่ปฏิบัติตามหมวด 5 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในการให้บริการสาธารณะที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยประชาชนไม่ต้องร้องขอ

รองศาสตราจารย์ อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ผู้ตรวจการ กล่าวถึง แนวคิดในการดำเนินงานในฐานะผู้ตรวจการแผ่นดิน ในการขับเคลื่อนโครงการ Self-initiative awards เพื่อสร้างแรงจูงใจและผลักดันหน่วยงานของรัฐในการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย และลดภาระเกินจำเป็นของประชาชน นอกจากนี้การร่วมมือกับองค์กรภาคียังมีความจำเป็นในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน

นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เล่าถึงแนวโน้ม ทิศทาง และเป้าหมายในการดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน ในการเป็นองค์กรที่ยืดหยุ่น ทำงานในเชิงรุก ส่งเสริมเครือข่ายและการมีส่วนร่วม ในการรวบรวมประเด็นต่างๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุม และส่งเสริมเครือข่ายเพื่อสังคมเป็นธรรม (social justice)

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต กล่าวเพิ่มเติมว่า อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นเพียงปลายทางในการแก้ไขปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนเข้ามา ด้วยเหตุนี้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาต้นทาง โดยสร้างชุมชน สังคม องค์กรของรัฐที่มีธรรมาภิบาล ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาปลายทาง ซึ่งได้เริ่มจุดประกายสังคมธรรมาภิบาลแล้ว ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และคาดหวังว่าความร่วมมือกับมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย จะทำให้เกิดโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วม และมีส่วนแก้ไขความไม่เป็นธรรมจากต้นทาง

 

FNFThailandxOmbusman

นายเฟรดเดอริค ชปอร์ กล่าวถึงพันธกิจ และบทบาทของมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ในการส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติรัฐ และเสรีภาพทางเศรษกิจ ผ่านการส่งเสริมการศึกษาภาคพลเมือง สนับสนุนให้เกิดพื้นที่เปิด เพื่อสังคมพหุวัฒนธรรม ผ่านรูปแบบการดำเนินงานที่หลากหลาย เช่น การให้ทุนสนับสนุนงานวิจัย การให้ทุนสนับสนุนการผลิตสื่อ-สิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่ การจัดอบรม สัมมนา เวทีสาธารณะ ในประเด็นที่มีความสำคัญกับแต่ละสังคม การพัฒนาเกมสื่อการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสำนักงานมูลนิธิฯ ในประเทศต่าง ๆ และองค์กรภาคีในแต่ละประเทศ รวมถึงคาดหวังว่าความร่วมมือกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จะช่วยเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมในสังคมไทยในวงกว้าง

FNFxOmbusman