Living Freedom
สิ่งที่ได้ดู สิ่งที่ได้เห็น และการได้รู้ความจริง ไม่ใช่แค่เชื่อเพราะใครบอกมา
รู้จักโครงการ Living Freedom จากช่องทางไหน
รู้จักโครงการนี้จาก Facebook ครับ ตอนนั้นผมกำลังหางานแต่งเพลง บังเอิญที่เจอโพสต์ของโครงการ เลยตัดสินใจลองแต่งเพลงและส่งเข้าร่วมครับ
ได้อะไรจากการเข้าร่วมโครงการนี้บ้าง
สิ่งที่ผมได้รับจากโครงการคงเป็นเรื่องของประสบการณ์ที่ดีครับ ได้คอมเม้นท์จากคณะกรรมการและทำงานกับโปรดิวเซอร์ระดับแนวหน้าของไทย นอกจากนี้คงเป็นเรื่องได้เพื่อนๆ ในวงการดนตรีเยอะขึ้นครับ ทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค สำหรับผมถือว่าตื่นเต้นมากๆ เลยครับที่ได้ฟังเพลงของเพื่อนๆ ประเทศอื่น ได้ทำงานร่วมกันผ่าน Zoom แลกเปลี่ยนแนวคิด แนวทางในการแต่งเพลงร่วมกันครับ สุดยอดมาก ๆ ครับ
ถ้าเอาชื่อภูไปเสิร์ชจะเป็นข้อมูลว่าภูเล่นกีต้าร์คลาสสิกมาก่อน การเปลี่ยนแนวจากการเล่นกีต้าร์คลาสสิกมาแต่งเพลงป๊อปยากไหม มีอะไรที่เหมือนและต่างกันบ้าง
ความจริงแล้วผมเล่นดนตรีป๊อปควบคู่มากับกีต้าร์คลาสสิกตั้งแต่สมัยวัยรุ่นแล้วน่ะครับ รวมวงกับเพื่อนและเรียน/แข่งกีต้าร์คลาสสิกไปด้วย เพิ่งมาหยุดเรื่องวงตอนที่เข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยครับ แต่ตอนเรียนในมหาวิทยาลัยก็ยังมีแต่งเพลงส่งประกวดกับเพื่อนๆ บ้างครับ ทำสนุกๆ กัน พอได้มีโอกาสทำเพลงป๊อปอีกครั้งเลยไม่รู้สึกยากอะไรมากครับ ส่วนในเรื่องความเหมือนของทั้งสองแนว คงเป็นเรื่องจุดเริ่มต้นในการแต่งเพลงครับ จะเริ่มจากไอเดียเล็ก ๆ น้อยๆ แล้วนำมาต่อยอดหรือพัฒนาเป็นเพลงครับ ดนตรีคลาสสิกจะมีสิ่งที่เรียกว่า motive จากนั้นจะนำสิ่งนี้มาขยาย พัฒนาจนเป็นเพลงที่เราได้ฟังกันครับ
มีเรื่องอะไรที่ภูเคยได้ยินบ่อยๆ ว่า “เขาบอก” แล้วตั้งคำถามว่าจริงไหม ใครบอก
เอาเข้าจริงๆ แล้ว มันมีหลายเรื่องเลยครับ ส่วนใหญ่จะเป็นการแนะนำจากคนรู้จักว่าให้ทำแบบนี้สิ ดีนะ “เขาบอกมา” อะไรประมาณนี้ครับ พอเราไม่ทำตามหรือไปหาข้อมูลว่าจริงไหม ก็ไม่พอใจเราหาว่าไม่เชื่อกันอีก
ภูรับมือกับเรื่องนี้หรือจัดการกับฟีดแบคนี้ยังไง
ผมจะใช้วิธีรับฟังเรื่องราวหรือคำแนะนำจากเขาคนนั้นครับ ทีนี้ถ้าผมยังไม่เชื่อ ก็จะบอกเขาไปว่า “จะลองทำดูนะครับ” โดยที่จะไม่แสดงสีหน้าหรือท่าทางที่ไม่เชื่อนะครับ จากนั้นผมค่อยมาหาข้อมูลอีกทีว่าเรื่องที่เขาบอกหรือแนะนำนั้นเป็นยังไง มีประโยชน์กับเรามากแค่ไหนครับ ส่วนใหญ่ผมจะไม่พูดว่าไม่เชื่อหรอก หรือ ไม่ฟัง ยังไงจะรับฟังไว้ก่อนครับ ถือว่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันครับ
จากเนื้อเพลงที่ภูแต่ง ทำไมภูถึงคิดว่าการตั้งคำถามเป็นเรื่องสำคัญ
มันเกิดจากการที่เราทำตามหรือเชื่ออะไรสักอย่างเพียงเพราะ “เขาบอก” กันมา จนหลายๆ เรื่อง หลายๆ แนวคิดก็ผิดเพี้ยนไป จนเป็นปัญหา ผมเห็นเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก บ้านผมอยู่นอกตัวเมือง คนในหมู่บ้านมักจะมีเรื่องความเชื่อหรือแนวคิดที่แปลกๆ ทำให้ผมสงสัยมาเสมอ และเมื่อเราได้หาข้อมูลหรือตรวจสอบให้ดี เรื่องที่หลายๆ คนเชื่อมันก็เป็นความเชื่อที่อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด ผมจึงมองว่าถ้าเราสงสัยหรือตั้งคำถามกับเรื่องที่ “เขาบอก” สักนิด เราอาจจะได้พบเจอคำตอบที่เราต้องการค้นหาอยู่ก็เป็นได้ครับ
มีประโยคหนึ่งในเพลง “เขาบอก” ที่ภูชวนคนให้ออกไปมองโลก การออกไปมองโลกที่กว้างใหญ่ของภูครั้งแรกคือตอนไหน
ถ้าเป็นเรื่องของแนวคิดหรือการใช้ชีวิตแล้วล่ะก็ โลกที่กว้างใหญ่ของผมมีหลายช่วงเวลามากเลยครับ ด้วยประสบการณ์การได้ทำงาน ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมต่างๆ ทำให้ผมได้เปิดโลกกว้างแห่งความคิดของตัวเองบ่อยครั้ง ได้เปิดใจยอมรับในหลายๆ เรื่อง เช่น ก่อนหน้านี้ผมมุ่งมั่นแต่จะเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยให้ได้ ความมุ่งมั่นที่มากเกินไปนี้ทำให้ผมมองหลายๆ เรื่องแคบลงมาก ๆ เราจะเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง จนกระทั่งได้เปิดโลกของตัวเอง ทำให้ผมรู้เลยว่าบางครั้งเราทำทุกอย่างให้เป็นไปอย่างธรรมชาติ เป็นตัวของตัวเองนั้น มันมีความสุขมากกว่า และการมองเห็นโลกใบนี้จะกว้างขึ้น เปิดใจยอมรับมากขึ้น ทำอะไรก็มีความสุขมากขึ้น ตอนนี้ผมฟังเพลง เล่นดนตรีแล้วมีความสุขมากกว่าตอนผมเรียนอีกครับ ฮ่าๆ
ประตูความคิดไหนที่ภูอยากให้คนเปิดออกไปมากที่สุด
คงเป็นเรื่องการยอมรับในความแตกต่างของโลกใบนี้น่ะครับ ทุกๆ อย่างเลย เพราะคนเรานั้นไม่เหมือนกัน เราไม่ควรตัดสินคนอื่นด้วยครอบความคิดของเราเอง หรือไปบังคับให้คนอื่นเชื่อตามเราได้ทั้งหมด สุดท้ายแล้ว เราทุกคนต้องเปิดใจยอมรับความแตกต่างและเรียนรู้ซึ่งกันและกันครับ
เสรีภาพมีความสำคัญยังไงกับภูบ้าง
เสรีภาพสำหรับผมคือความอิสระในทุก ๆ เรื่อง อิสระที่จะคิด อิสระที่จะทำ ถ้ามันมาจากใจเรา ขอเพียแค่อยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่เบียดเบียนหรือสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นก็เพียงพอแล้วครับ เมื่อเรามีเสรีภาพ(อิสระ) เราจะเปิดใจมากขึ้น มีความสุขมากขึ้น และยอมรับผู้อื่นมากขึ้นครับ
อยากบอกอะไรกับคนฟังเพลงนี้
ผมคงไม่ต้องพูดอะไรมากแล้วล่ะครับ เพราะเดี๋ยวผมจะเป็นหนึ่งคนใน “เขาบอก” เอาเป็นว่าไม่ว่าเราจะทำอะไร ขอเพียงแค่ค้นหาคำตอบของสิ่งนั้น แล้วถามใจตัวเองดูว่าเราเชื่อและอยากทำในสิ่งนั้นๆ ไหมนะครับ
จากนักดนตรีคลาสสิกเห็นว่าตอนนี้ภูมาเปิดร้านกาแฟแล้ว ได้เล่นกีต้าร์ไปด้วยทำกาแฟไปด้วยไหม
จริงๆ แล้วการทำร้านกาแฟเป็นอะไรที่ผมอยากทำมานานน่ะครับ ถือว่าได้ลงมือทำจริงๆ สักที พอเจอโควิดระลอกใหม่หลังจากเริ่มขายพอดี ทำให้งานดนตรีต้องหยุดหมด ผมเลยได้ลุยขายกาแฟอย่างจริงจังและมันสามารถเลี้ยงชีพได้ ผมเลยตัดสินใจทำต่อยาวๆ เลยครับ
ได้อะไรจากการขายกาแฟบ้าง
สิ่งที่ได้จากการขายกาแฟคงจะเป็นเรื่อง “การสื่อสาร” ครับ จริงๆ ก็คล้าย ๆ กับดนตรีเลยครับ เราต้องสื่อสารเสียงดนตรีให้ผู้ฟังเข้าใจ การสื่อสารในการขายกาแฟ เนื่องจากผมทำร้านกาแฟสไตล์ Slowbar ไม่ใช้เครื่องชงกาแฟ (Espresso Machine) จะทำมือทั้งหมดเลยครับ ตั้งแต่บดเมล็ด ต้มน้ำ จนถึงขั้นตอนชงกาแฟด้วยวิธีดริป Aeropress และ Mokapot ทุกวิธีจะใช้เวลานานกว่าเครื่องชงไฟฟ้าค่อนข้างมาก ทำให้ลูกค้าต้องรอนิดหน่อยครับ ตรงจุดนี้ผมต้องสื่อสารขั้นตอนการชงกาแฟของเราให้ลูกค้าเข้าใจ รวมถึงสอบถามการทานกาแฟของเขาว่าชอบทานแบบไหน เมนูไหน วิธีของเราแบบไหนจะตอบโจทย์เขาบ้าง คล้ายๆ กับลูกค้าติดต่อให้ไปเล่นดนตรี เราก็ต้องสอบถามและอธิบายสไตล์ของเราและประยุกต์ให้เข้ากับงานเขาเช่นกันครับ
ถ้าให้เปรียบเพลงเขาบอกเป็นรสชาติของกาแฟ รสชาติจะเป็นประมาณไหน
เรียกว่าเป็นรสชาดที่ complex และน่าค้นหาครับ ฮ่าๆๆ ต้องมาลองชิม (ลองฟัง) แล้วเราจะรู้คำตอบนั้นด้วยตัวเองครับ
ติดตามฟังบทเพลงแห่งเสรีภาพ บทเพลงที่สะท้อนชีวิตและประสบการณ์ทางดนตรีของภู และผู้เข้าร่วมประกวดคนอื่น ๆ ได้ที่ Youtube Channel : Friedrich Naumann TH และ Fungjai: https://www.fungjai.com/artists/friedrich-naumann-foundation้