DE

สถานการณ์ข่าวลวงกับทางออกเชิงสร้างสรรค์

เวทีสานเสวนาด้านสื่อ (Media Forum) ครั้งที่ 9
Media Forum 9

ข่าวลวง ข่าวปลอม เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสำคัญ และยังคงเป็นประเด็นพูดคุยและหารือระหว่างหลายภาคส่วน เพื่อร่วมกันหาทางออกเชิงสร้างสรรค์

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และองค์กรภาคี ได้จัดเวทีสานเสวนาด้านสื่อ (Media Forum) ครั้งที่ 9 “ถอดบทเรียนปัญหาข่าวลวงในประเทศไทย กับทางออกเชิงสร้างสรรค์” (Fighting Fake news: Lesson-learned and constructive resolution) เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 เพื่อฉายภาพสถานการณ์ข่าวลวง ข่าวปลอมในสังคมไทย จากหลากหลายมุมมอง รวมไปถึงการพูดคุยและเสนอแนวทางจัดการสถานการณ์ และหาทางออกร่วมกันจากประสบการณ์และมุมมองของนักปฏิบัติ และนักวิชาการ

Media Forum 9

คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวเปิดการเสวนาถึงสถานการณ์การแพร่กระจายของข่าวลวง ข่าวปลอมที่เกิดขึ้นทั่วโลก และมีการหารือระหว่างผู้แทนสื่อในประเทศต่างๆ ถึงการรับมือกับสถานการณ์ โดยข้อสรุปจากหลายเวทีเห็นว่าสื่อหลักต้องมีบทบาทมากขึ้นในการตรวจสอบข้อเท็จจริง นอกจากความรวดเร็วในการนำเสนอข่าวแล้ว การตรวจสอบข้อมูลก็เป็นอีกความท้าทายที่จะทำให้สื่อหลักและสื่ออาชีพยังคงความน่าเชื่อถือไว้ได้

คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เสริมต่อถึงการผลิตซ้ำข่าวลวงและการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา และถึงแม้จะมีการตรวจสอบข่าวลวง ข่าวปลอมต่างๆ แล้ว ข่าวเหล่านั้นก็อาจถูกผลิตซ้ำ และเผยแพร่ใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อไป นอกจากนี้คุณสุภิญญาได้ยกข้อมูลจาก เดอะ การ์เดียน เพื่อประกอบสถานการณ์ข่าวลวงในประเทศไทย โดยพบว่าคนไทย 52% เชื่อข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับโปแลนด์ ซาอุดิอาราเบีย และอินเดีย ขณะที่สัดส่วนคนที่เชื่อข้อมูลจากโซเชียลมีเดียในสหราชอาณาจักร และเยอรมนีมีเพียง 12% และ 20% ตามลำดับ อย่างไรก็ตามข้อเสนอและทางออกเชิงสร้างสรรค์ในการรับมือกับสถานการณ์นี้คือการสร้างคงามตื่นตัว และกองบรรณาธิการข่าวและสื่ออาชีพต้องเป็นผู้ตรวจสอบข่าวลวง ขณะเดียวกันภาคประชาสังคมสามารถรวมกลุ่มและสนับสนุนการตรวจสอบโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

Media Forum 9

ดร. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ได้ยกตัวอย่างแนวทางการจัดการจากต่างประเทศ เช่น การออกกฎหมายควบคุมในสิงคโปร์ การพัฒนาแอพพลิเคชั่นในรูปแบบแชทบอท เพื่อตรวจสอบข้อมูลในไต้หวัน รวมถึงความร่วมมือระหว่างวิชาชีพอื่นๆ และภาคเอกชนในการตรวจสอบข้อมูล รวมถึงได้พัฒนาการตรวจสอบขึ้นมาในรูปแบบเกม เพื่อช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล โดยประชาชนจากสายอาชีพนั้นๆ

ผศ. ดร. วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ชวนกลับมาตั้งคำถามถึงสาเหตุของข่าวลวง ข่าวปลอม เนื่องจากแนวทางการจัดการก็จะแตกต่างออกไปตามแต่ละสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการกำกับตัวเอง หรือการรวมกลุ่มเพื่อกำกับกันเองระหว่างวิชาชีพ หรือต้องกำกับและจัดการโดยภาครัฐ ซึ่งหากเป็นไปโดยภาครัฐ คำถามต่อมาคือผลกระทบในคำถามเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อนั่นเอง

Media Forum 9

บรรยากาศระหว่างการสานเสวนา

ในมุมมองของสื่อ คุณอภิรักษ์ โรจน์อำพร บรรณาธิการบริหาร ไทยรัฐออนไลน์ ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นความท้าทายเรื่องความรวดเร็วในการนำเสนอ อย่างไรก็ดีทางทีมงานต้องตรวจสอบและพิจารณาแหล่งที่มาอย่างรอบคอบก่อนนำเสนอ นอกจากนี้การนำเสนอข่าวอย่างเป็นกลาง และพิจารณาถึงความผลกระทบและความน่าเชื่อถือของสำนักฯ ก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง

ด้านคุณจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เล่าถึงการหารือและประชุมยุทธศาสตร์ที่ผ่านมา รวมถึงสมาคมฯ ให้ความสำคัญกับการจัดการแก้ปัญหาข่าวปลอม นอกจากนี้ยังมีแผนในการรวบรวมนักข่าวประจำกระทรวง หรือหน่วยงานต่างๆ มาเป็นด่านแรกในการตรวจสอบข่าวลวง ข่าวปลอม

คุณสถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เล่าว่าในช่วงแรกของปี มูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมากที่สุด ซึ่งพบในพื้นที่ออนไลน์ และเกิดจากการสปอนเซอร์ นอกจากนี้ยังได้แบ่งรูปแบบของข่าวปลอมออกเป็น 5 รูปแบบ ได้แก่ การนำเสนอแบบตลก เสียดสีความจริง การนำเสนอแบบจับแพะชนแกะ โยงข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกันให้เป็นชิ้นเดียวกัน การนำเสนอที่จงใจให้เข้าใจผิด การนำเสนอแบบผิดฝาผิดตัว รูป พาดหัว เนื้อข่าวไม่ตรงกัน การนำเสนอแบบตัดต่อ แปะโลโก้ ที่แม้แต่โลโก้สำนักข่าวก็โดนไปด้วย ซึ่งมีบางครั้งนำไปสู่รูปแบบที่ 6 คือ เป็นทุกอย่างที่กล่าวมา ทั้งนี้แนวทางในการรับมือ คือ นอกจากมีหน่วยงานตรวจสอบข้อมูลให้บริการประชาชนและผู้บริโภคแล้ว ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังฉับไวควบคู่กันไป และเปิดพื้นที่ให้ผู้บริโภคตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส

ข้อเสนอจากเวทีดังกล่าว ทั้งจากนักวิชาการ และนักปฏิบัติ เห็นว่าการจัดการกับปัญหาข่าวลวง ข่าวปลอม ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ในการตรวจสอบข้อมูล รวมถึงการกับกับดูแลตัวเองของผู้เสนอข่าว นอกจากนี้ยังได้แลกเปลี่ยนแนวทางการจัดการจากนานาชาติ และเห็นว่านอกจากกลไกในการตรวจสอบแล้ว การสร้างองค์ความรู้และการตระหนักรู้ให้กับผู้รับสื่อไม่ตกเป็นเหยื่อ หรือเป็นเครื่องมือในการส่งต่อข่าวปลอม ข่าวลวง ก็เป็นอีกแนวทางที่ต้องดำเนินการคู่ขนานกันไป