DE

Myanmar and Thailand
แผ่นดินไหวขนาด 7.7 เขย่าพม่าและไทย สังเวยแล้วหลายพันคน คาดยังมีผู้ติดใต้ซากอีกจำนวนมาก

Ein Erdbeben der Stärke 7,7 erschütterte Myanmar und Thailand, über 1.600 Menschen starben.

Ein Erdbeben der Stärke 7,7 erschütterte Myanmar und Thailand, über 1.600 Menschen starben.

© Hnin Wint Naing, Regionalbüro Südost- und Ostasien

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม เวลา 12:51 น. ตามเวลาท้องถิ่น เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.7 ที่พม่า โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 21 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย จีน และอินเดีย

ในพม่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,600 ราย และบาดเจ็บกว่า 3,400 ราย เจ้าหน้าที่เตือนว่าจำนวนผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากความพยายามในการค้นหาและกู้ภัยยังดำเนินอยู่ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ได้แก่ มัณฑะเลย์ สะกาย และเนปิดอว์ โดยมีอาฟเตอร์ช็อกต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนหลายพันคนต้องหนีไปอาศัยในพื้นที่โล่งกลางแจ้งด้วยความหวาดกลัว

แรงสั่นสะเทือนยังส่งผลรุนแรงถึงประเทศไทย อาคารก่อสร้างสูง 30 ชั้นทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ พังถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทางการประกาศให้กรุงเทพฯ เป็นเขตภัยพิบัติ จากรายงานของกรุงเทพมหานคร มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 18 ราย บาดเจ็บ 33 ราย และสูญหายอีก 78 ราย มีรายงานความเสียหายต่ออาคารมากกว่า 9,500 แห่ง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้แสดงความเสียใจระหว่างการเยี่ยมชมพื้นที่อาคารที่ถล่ม โดยกล่าวว่า "ผมเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์นี้" ขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงค้นหาผู้รอดชีวิตใต้ซากปรักหักพัง

Myanmar
© Mg Thi

ประกาศภาวะฉุกเฉินและการตอบสนองระหว่างประเทศ

รัฐบาลทหารพม่าได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน พร้อมเตือนประชาชนถึงความเสี่ยงจากอาฟเตอร์ช็อกที่ยังคงมีอยู่ และเป็นครั้งที่ไม่บ่อยนักที่รัฐบาลได้ร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ

รัสเซีย จีน และอินเดีย เป็นประเทศแรก ๆ ที่ส่งทีมค้นหาและกู้ภัยเข้าช่วยเหลือ ตามมาด้วยสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และไทย อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามกู้ภัยตั้งแต่วันศุกร์ แต่ความช่วยเหลือก็ยังไปไม่ถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดหลายแห่ง เนื่องจากถนนและโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารได้รับความเสียหาย

สนามบินมัณฑะเลย์และเนปิดอว์ได้รับความเสียหาย ขณะที่ถนนและสะพานหลายแห่งถูกทำลาย โดยเฉพาะในเขตสะกายที่ระบบโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตใช้การไม่ได้ในหลายพื้นที่ ทำให้ยากต่อการประสานงานให้ความช่วยเหลือ

เสียงร้องขอความช่วยเหลือจากผู้ประสบภัย

เขตสะกาย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและการต่อต้านรัฐบาลทหารอยู่แล้ว ยิ่งเผชิญวิกฤตหนัก มีชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวว่า:

“ขอความช่วยเหลือให้สะกายด้วย พวกเราไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ ไม่มีทีมค้นหาหรือกู้ภัยเข้ามาเลย กลิ่นศพที่เน่าจากอาคารที่ถล่มมันรุนแรงมาก ดูเหมือนไม่มีใครรอดชีวิตแล้ว”

ที่มัณฑะเลย์ มีความกังวลว่าชาวมุสลิมหลายร้อยคนอาจเสียชีวิต ขณะเกิดแผ่นดินไหวในช่วงละหมาดรอมฎอน มีมัสยิดกว่า 50 แห่งทั่วประเทศที่ได้รับความเสียหาย ตามรายงานของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG)

ในเนปิดอว์ แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งพังถล่ม ทำให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ยังมีอาคารราชการหลายแห่งเสียหาย สถานทูตจีนและสิงคโปร์ได้แชร์ภาพและข้อมูลการช่วยเหลือผ่านสื่อสังคมออนไลน์

ความหวาดกลัวที่เพิ่มขึ้นจากอาฟเตอร์ช็อกและการขาดแคลน

เมื่อวันอาทิตย์ เวลา 13:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เกิดอาฟเตอร์ช็อกขนาด 5.1 ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่กู้ภัยยิ่งหวาดกลัว องค์กรพลเรือนรายงานว่าพื้นที่สะกายและมัณฑะเลย์กำลังขาดแคลนอาหาร น้ำสะอาด เวชภัณฑ์ และที่พักอาศัย

สุสานในท้องถิ่นไม่สามารถรองรับจำนวนศพที่เพิ่มขึ้นได้ ทำให้สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมเลวร้ายลงอย่างมาก

ภัยพิบัติซ้ำเติมจากสงครามกลางเมือง

พม่ายังคงเผชิญกับสงครามกลางเมือง ซึ่งทำให้ความช่วยเหลือยิ่งเข้าถึงได้ยาก นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันที เพื่อเปิดทางให้สามารถส่งความช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในที่ประชุมฉุกเฉินพิเศษของอาเซียน

แม้ว่ารัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) จะตกลงหยุดยิงชั่วคราว แต่รัฐบาลทหารยังคงโจมตีทางอากาศในรัฐฉานเหนือ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 ราย สหประชาชาติประณามการโจมตีว่า “เป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมและไม่อาจยอมรับได้”

ความกังวลเรื่องการแจกจ่ายความช่วยเหลือ

นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนได้เตือนว่า การให้ความช่วยเหลือผ่านรัฐบาลทหารอาจทำให้พวกเขาได้รับความชอบธรรม ทั้งยังอ้างอิงถึงเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กิสในอดีต ที่ความช่วยเหลือไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้จริงเพราะการแทรกแซงของรัฐ

ประเทศตะวันตกกำลังพิจารณาวิธีการส่งความช่วยเหลือโดยตรงถึงประชาชนในพื้นที่ โดยสหภาพยุโรปให้คำมั่นบริจาคเงินช่วยเหลือฉุกเฉินจำนวน 2.5 ล้านยูโร และสหรัฐอเมริกาสนับสนุนสูงสุดถึง 2 ล้านดอลลาร์ ผ่านองค์กรด้านมนุษยธรรมที่ตั้งอยู่ในพม่า

แข่งกับเวลาเพื่อช่วยชีวิต

แม้จะมีความช่วยเหลือจากนานาชาติ แต่การเข้าถึงผู้รอดชีวิตยังคงเป็นความท้าทาย เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่พังทลายและสถานการณ์การเมืองที่ไม่มั่นคง ขณะที่วิกฤตยังคงดำเนินต่อไป ชาวพม่ายังคงต้องเผชิญกับภัยพิบัติ สงคราม และอนาคตที่ไม่แน่นอน

 

*Hnin Wint Naing is a regional communications officer of the Southeast and East Asia Office of the Friedrich Naumann Foundation for Freedom.
*Takdanai Ketkaew is a program assistant and communication officer of the Thailand Office of the Friedrich Naumann Foundation for Freedom.

Close menu