FNF Alumni-Network
เรียนรู้การจัดการปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมในฐานะผู้ประกอบการอย่างมีความรับผิดชอบและสร้างสรรค์
ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะในโรงงานอุตสาหกรรมยังคงเป็นเรื่องที่น่ากังวล และก็ถูกให้ความสนใจอย่างมากด้วยเทรนด์ของผู้บริโภคที่ให้สำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การจัดการปัญหาขยะภายในโรงงานอย่างสร้างสรรค์จึงเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น FNF เชื่อว่าการเป็นผู้ประกอบการนั้นนอกจากจะสามารถมีอิสระในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยเช่นกัน
Responsible Entrepreneurship Workshop จัดขึ้นมาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้จากผู้ประกอบการในธุรกิจที่หลากหลายและผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะในด้าน Circular Economy
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทยได้จัดกิจกรรม Thailand-Myanmar Alumni Exchange 2024 ในประเด็น Responsible Entrepreneurship พาผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งจากไทยและพม่าเยี่ยมชมโรงงาน Moreloop และ Pin metal Art เพื่อศึกษากระบวนการจัดการขยะภายในโรงงานทั้งสองแห่งและการรังสรรค์เศษผ้าและเศษเหล็กที่ไร้มูลค่าให้กลายเป็นสินค้าที่มีราคา
Moreloop Factory ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมแฟชั่น
กระแส Fast Fashion กำลังเป็นนิยม การบริโภคที่เกินความจำเป็นส่งผลให้อุตสาหกรรมแฟชั่นหมุนเวียนอย่างรวดเร็วและผลิตเสื้อผ้าออกมาเป็นจำนวนมาก การบริโภคที่เกินความจำเป็นและการผลิตที่มากเกินความต้องการก่อให้เกิดการสร้างขยะต่อสิ่งแวดล้อมที่ยากต่อการจัดการ ปัญหาขยะภายในโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอจึงเพิ่มมากขึ้นในทุกวัน ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังท้าทายเหล่านี้ Moreloop เป็นโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งหนึ่งที่มีวิสัยทัศน์ในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้เป็นจริง นำเศษผ้าส่วนเกินมาที่เหลือจากกระบวนการผลิตเสื้อผ้ามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในช่วงเยี่ยมชมโรงงาน คุณอมรพล หุวะนันทน์ และ คุณธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ ผู้ก่อตั้งร่วมและ CEO ของ Moreloop ได้นำเสนอการนำเศษผ้าส่วนเกินมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ชุดยูนิฟอร์ม กระเป๋า และของที่ระลึก เพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอ นอกจากนั้น Moreloop ยังมีอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่น่าสนใจในการต่อสู้กับปัญหาขยะที่เป็นภัยคุกคามในโลกอุตสาหกรรม Fast Fashion นั่นก็คือ การรับซื้อเศษผ้าส่วนเกินจากโรงงานสิ่งทอต่างๆ และเป็นตัวกลางในการนำวัสดุเหล่านี้ไปขายในตลาดออนไลน์เพื่อให้นักออกแบบหรือผู้ประกอบการนำไปผลิตเป็นสินค้ารีไซเคิลต่อไป ซึ่งการผลิตสินค้าโดยการนำเศษผ้าเหล่านี้ไปแปรรูป Moreloop ได้ทำให้เห็นว่าเป็นการประหยัดต้นทุนไปได้ถึง 30-50% และเป็นวิธีการจัดการปัญหาขยะส่วนเกินในโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Pin Metal Art
เศษเหล็กที่หลงเหลือเป็นชิ้นส่วนของเสีย จะกลายมาเป็นสินค้าตกแต่งที่มีความสวยงามและมีราคาได้อย่างไร? เป็นคำถามที่ชวนสงสัยเมื่อเราลองมองไปที่เศษแท่งเหล็กสีดำเขรอะขระ ที่อาจจะทำให้เราจินตนาการถึงความสวยงามของมันไม่ออก แต่คุณปิ่น ศุรตา เกียรติภาคภูมิ ผู้ก่อตั้ง Pin Metal Art สามารถออกแบบและรังสรรค์ผลิตภัณฑ์จากเศษเหล็กที่เหลือจากอุตสาหกรรมให้มีคุณค่า สวยงาม และเป็นศิลปะ
ในการเยี่ยมชม Pin Metal Art คุณปิ่น ได้อธิบายให้กับคณะผู้เข้าร่วมโครงการฟังว่า เดิมที ครอบครัวของเธอทำโรงงานอุตสาหกรรมเหล็ก คุณพ่อเป็นคนริเริ่ม และเธอก็อยู่กับมันมาตั้งแต่เล็กจนโตถึงแม้ว่าเธอจะไม่เคยชอบการทำโรงงานเหล็กของที่บ้านเลย จนมาถึงจุดหนึ่ง ที่เธอเริ่มรู้สึกว่า เธอไม่ชอบการผลิตแบบ Mass production ที่ทำให้เกิดปัญหาขยะเหลือใช้เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้เธอมีความปราถนาที่จะพัฒนาโรงงานของเธอให้เป็นโรงงานที่ลดขยะและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการนำเศษเหล็กที่เหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมมาประดิษฐ์ให้เป็นสินค้าตกแต่งบ้านที่มีความน่าสนใจ
คุณปิ่น ได้ฟื้นคืนชีพเศษขยะให้กลับมามีชีวิต เพิ่มคุณค่าให้กับเศษเหล็กที่ยากจะจินตนาการถึงความสวยงามของมันผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ที่มีความประณีต จากเศษเหล็กไร้ค่าให้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ของตกแต่งบ้านที่มีราคาภายใต้แบรนด์ Pin Metal Art ที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยทางแบรนด์ได้รังสรรค์ของตกแต่งบ้าน อาทิ โคมไฟทำจากเศษเหล็ก เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ รวมทั้งประติมากรรมจากเศษเหล็กที่น่าตื่นตาตื่นใจ เช่น ต้นคริสต์มาสจากเศษเหล็ก จัดแสดงที่ Park Hyatt Bangkok
เราได้เรียนรู้อะไรจาก Moreloop และ Pin Metal Art ?
การเป็นผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมสามารถเกิดขึ้นได้จริงท่ามกลางสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามต่อการเกิดปัญหาขยะล้นโลก โดยผ่านกระบวนการที่สร้างสรรค์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ถึงแม้ว่าเศษขยะจะเป็นสิ่งที่ยากต่อการนำมาประดิษฐ์ใช้ใหม่ให้มีคุณภาพสูง แต่อย่างไรก็ตาม ความสร้างสรรค์และความมุ่งมั่นที่จะเห็นสังคมไร้ขยะทำให้เกิดผู้ประกอบการอย่าง Moreloop และ Pin Metal Art ที่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรังสรรค์เศษขยะเหลือใช้ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีราคาและมีคุณภาพ ซึ่งจากเยี่ยมชมโรงงานทั้งสองแห่งนี้แสดงให้เห็นว่า การเป็นผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจในโลกทุนนิยม
โรงแรมศิวาเทล โรงแรมใหญ่ตั้งตระหง่านใจกลางกรุง ที่ไม่น่าเชื่อว่าด้านบนตึกสูงเแห่งนี้จะมีสวนพืชและผักลอยฟ้า ฟาร์มหนอนแมลงวันเลี้ยงด้วยเศษอาหาร และตลาดขายสินค้าออร์แกนิกท้องถิ่น
ในปัจจุบัน หลายคนคงคาดไม่ถึงว่า ธุรกิจโรงแรมนั้นได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาลจนน่าตกใจ สร้างมลพิษมากกว่าสำนักงานและครัวเรือนหลายหลัง ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วน 1 % ทั่วโลก รวมทั้งการจัดการกับปัญหาขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ ท่ามกลางปัญหาที่ท้าทายเหล่านี้
การเป็นผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้ธุรกิจโรงแรมที่ผุดขึ้นมาแข่งขันกันราวกับดอกเห็ดจะเป็นไปได้หรือ ?
คุณ หนิง อลิสรา ศิวยาธร ผู้บริหารรุ่นที่ 3 แห่งโรงแรมศิวาเทล ได้นำเสนอถึงการผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนการเป็นโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Hotel) และเป้าหมายการลดปริมาณขยะเศษอาหารสู่ Zero Food Waste ภายในปี 2024
ศิวาเทลทำอะไรบ้างเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายให้เป็นจริง ?
ศิวาเทลให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบทางลบทุกมิติต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการรักษามาตรฐานความหรูหราของโรงแรม ในด้านการรักษาพลังงาน ศิวาเทลติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่มี VRF (variable refrigerant flow) และ R410 refrigerant ที่ช่วยประหยัดพลังงานได้มีประสิทธิภาพสูงกว่าระบบแบบทั่วไป นอกจากนั้นยังติดตั้งไฟ LED และเครื่องใช้ที่ได้มาตรฐานสูงสุดในท้องถิ่น รวมทั้งการติดกระจกแบบเต็มบานเพื่อรักษาอุณหภูมิของอาคารให้ประหยัดพลังงานและปล่อยมลพิษออกสู่ภายนอกให้น้อยที่สุด
ในด้านการจัดการขยะ เพื่อเป้าหมายการกลายเป็นโรงแรมที่ไร้ขยะเศษอาหาร ศิวาเทลได้จัดการกับปัญหาเศษอาหารเหลือทิ้งผ่านการนำเศษอาหารเหล่านั้นไปหมักเป็นปุ๋ยที่ใช้สำหรับบำรุงพืชและผักบนสวนลอยฟ้า หรือนำเอาไปเลี้ยงหนอนแมลงวันซึ่งจะนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ในฟาร์มออร์แกนิคที่จัดหาวัตถุดิบในการทำอาหารให้กับโรงแรม นอกจากนั้น ศิวาเทลยังมีนโยบายลดขยะ No-single used plastic ที่เปลี่ยนจากบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกใช้แล้วทิ้งมาเป็นแบบที่สามารถรีฟีลได้ ขวดน้ำพลาสติกก็ปรับเปลี่ยนให้เป็นขวดแก้วสำหรับนำกลับมาใช้ใหม่
นอกเหนือจากการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม คน ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน การทำงานร่วมกับชุมชนและการสร้าง Happy workplace เป็นอีกหนึ่งนโยบายของศิวาเทล ในการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนวัตถุดิบอาหารที่มีความปลอดภัยและสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น พัฒนาคุณภาพอาหารของโรงแรมควบคู่ไปกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกรและคนทำฟาร์ม พร้อมทั้งการกำหนดโมเดลหลักเพื่อสร้างวัฒนธรรมการทำงานให้เป็นเสมือนครอบครัว คนทำงานสนิทสนมกันราวกับญาติพี่น้อง เพราะเมื่อรากฐานจากข้างในแข็งแรงก็ย่อมสามารถขับเคลื่อนเป้าหมายให้ไปสู่ความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถอดบทเรียนอะไรได้จากศิวาเทล การเป็นผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้อะไรกลับคืนมา ?
การผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นจริงของศิวเทล เช่น การจัดการปัญหาขยะผ่านการนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักเพื่อบำรุงพืชบนสวนดาดฟ้า การขับเคลื่อน No-single used plastic และการจัดหาวัตถุดิบทำอาหารที่ร่วมกับเกษตรกรท้องถิ่น "ทั้งหมดนี้ทำให้ต้นทุนในการจัดหาวัตถุดิบลดน้อยลงไปมาก โรงแรมก็ได้กำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการคิดหากระบวนการและทดลองทำแต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คุ้มค่า โรงแรมได้กำไร คนทำงานและเกษตรกรท้องถิ่นมีชีวิตที่ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการรักษาโลกของเรา" คุณหนิง
Panel Discussion สูตรสำหรับการเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ
ในกิจกรรมการอภิปรายช่วงบ่าย ผู้บรรยายทั้ง 4 ท่านต่างได้แบ่งปันแนวคิดและกระบวนการในการนำธุรกิจของตนก้าวเข้าสู่การเป็นธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คุณ Lian Sian Nem (Sen Sen) ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าฝ่ายออกแบบของ ChuChu Recycle องค์กรเพื่อสังคมในเมียนมาร์ที่มุ่งเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์และใช้งานได้จริง โดยในการอภิปรายเธอได้บอกเล่าถึงกระบวนการออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์ขององค์กร การนำวัสดุเหลือใช้ อาทิ ยางรถยนต์ พลาสติกอ่อน มารีไซเคิลเป็นกระเป๋าสตางค์ ตระกร้า และของตกแต่ง เพื่อลดปัญหาขยะเกลื่อนเมืองที่เป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน
Okka Phyo Maung ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน จาก RecyGlo บริษัทจัดการขยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเขาได้บอกเล่าเกี่ยวกับการให้บริการรีไซเคิลขยะจากภาคธุรกิจหรือบุคคลอย่างปลอดภัยและเชื่อถือได้ เพื่อลดเศษขยะและผลักดันเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนให้เกิดขึ้นจริง ลำดับถัดไป คุณต่าย ภัทรา คุณวัฒน์ นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ ผู้ก่อตั้ง Bangkok Pack ได้ร่วมแบ่งปันการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์และนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อป้อกันการกลายเป็นขยะส่วนเกินในภายหลัง ตบท้ายด้วย คุณ อมรพล หุวะนันทน์ ผู้ร่วมก่อตั้งโรงงาน Moreloop ที่มาร่วมอภิปรายอีกวันเพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เห็นคอนเซปต์ของการจัดการปัญหาขยะในโรงงานสิ่งทอมากขึ้น เป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการ startup ได้นำไปประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจของตนต่อไป
การลดขยะผ่านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
หลังจากการลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการจัดการปัญหาขยะในโรงงาน โรงแรม และการฟังอภิปรายจากผู้ประกอบการทั้ง 4 คน จากไทยและเมียนมาร์ เราจะได้ยินคำว่า “เศรษฐกิจหมุนเวียน” กันบ่อย เศรษฐกิจหมุนเวียนกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของหลายองค์กรที่มีนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อม แล้วคำว่า เศรษฐกิจแบบหมุนเวียนคืออะไรกันแน่ ?
วันที่ 21 กรกฎาคม ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับฟังบรรยายในประเด็น การลดขยะผ่านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy) และ กระบวนการคิดแบบ (Life-cycle Thinking) ตลอดทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย โดยมีคุณภาคภูมิ โกเมศโสภา ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนอิสระ เป็นผู้บรรยาย
เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) คืออะไร ? ปกติแล้ว เมื่อเราใช้สิ่งของใดๆ จนมันพังหรือไม่สามารถใช้ต่อได้อีก ในขั้นสุดท้ายของชีวิตมัน สิ่งที่เราทำอาจจะเป็นการโยนพวกมันทิ้งลงทั้งขยะโดยที่ไม่ได้ใส่ใจกับมันอีก แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งของเหล่านั้นสามารถถูกนำไปเพิ่มคุณค่าให้ตัวมันได้แทนที่จะโยนมันทิ้งไปจนเสียคุณค่า ซึ่งหมายความว่า เราสามารถสร้างคุณค่าให้กับของที่เป็นขยะให้กลายเป็นสิ่งใหม่ที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ โดยผ่านกรรมวิธี Recycle, Remanufacture, Refurbish Redistribute, Reuse and Repair ซึ่งแนวคิดเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนเป็นเสมือนแนวทางสำหรับการไปสู่เป้าหมาย Zero – waste Economy ในอนาคต
Life-cycle Thinking เครื่องมือสำหรับการประเมินผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากกระบวนการผลิตไปจนถึงการกำจัดในขั้นสุดท้าย เครื่องมือนี้จะช่วยให้เห็นถึงกระบวนการของปัญหาตั้งแต่ต้นจนจบ และจะช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าปัญหาอยู่ตรงไหนและจะหาวิธีลดผลกระทบของปัญหาได้อย่างไร โดยในช่วงท้าย มีการจัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ Life-cycle Thinking มากขึ้น ผ่านการให้ทุกกลุ่มสมมติว่าเป็นเจ้าของธุรกิจผลิตภัณฑ์ไก่ทอด และช่วยกันเขียนกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นจนไปถึงขั้นตอนการกำจัดในขั้นสุดท้าย ประเมินปัญหาที่อาจเกิดขึ้นและหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน
Sirikan Bunsit is a Political Science student at Thammasat University and an intern at FNF Thailand.
Ganyanat Phathithin (Miko) is a Communication Officer and Project Assistant at FNF Thailand.