DE

ประเทศไทย
"เธอ" มีคุณค่าและส่งมอบความสำเร็จ

วันสตรีสากล

วันสตรีสากล

© FNF Thailand

วันสตรีสากล วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันที่มีไว้เพื่อให้เราทุกคนมองเห็นความสำคัญและให้คุณค่ากับสิทธิสตรี (Women Rights) การไม่ถูกเลือกปฏิบัติ (Discrimination) การไม่ถูกเหมารวมเพราะเป็นผู้หญิง (Gender-bias) การส่งเสริมให้ผู้หญิงมีความมั่นใจและก้าวต่อไปเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในแบบฉบับของตัวเอง

"เธอมีคุณค่าและส่งมอบความสำเร็จในทุกสิ่ง"

FNF สัมภาษณ์ ผู้หญิงผู้ทรงคุณค่าและประสบความสำเร็จ 4 ท่าน เกี่ยวกับมุมมองต่อคุณค่า สิทธิสตรีและความท้าท้ายที่ผู้หญิงต้องเผชิญ

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค ประเทศไทย

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค ประเทศไทย

© Cofact Thailand 

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค ประเทศไทย: "เป็นคนเจนเอ็กซ์ เคยทำงานสื่อ เอ็นจีโอ และ กรรมการ กสทช. ตอนนี้มาทำโคแฟค ส่งเสริมความเข้มแข็งพลเมืองยุคดิจิทัล

ชอบมีคนชมเราว่าเป็นผู้หญิงเก่ง แต่จริงๆอยากจะบอกว่าใครเป็นผู้หญิงคือเก่งทุกคนค่ะ โดยเฉพาะถ้าเราประสบปัญหาวิกฤตในชีวิต เราจะเก่งขึ้ตมาอัตโนมัติเลย  อย่างคำพูดว่า ผู้หญิงก็เปรียบเเสมือนถุงชา จะเข้มข้นขึ้นเมื่อโดนน้ำร้อน ดีใจที่ตัวเองผ่านน้ำร้อนมาหลายบททดสอบแล้วยังยิ้มได้อยู่ ขอให้ผู้หญิงทุกคนยิ้มอย่างมั่นใจ มีความสุขจากข้างใน ทำในสิ่งที่รักด้วยสติของเรา เต็มที่กับหน้าที่ทุกอย่างในชีวิต แล้วปล่อยวางได้กับสิ่งที่ตามมาค่ะ"

ชลนภา อนุกูล

ชลนภา อนุกูล

หน่วยปฏิบัติการวิจัยความมั่นคงของมนุษย์และความเท่าเทียมสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

© ชลนภา อนุกูล 

ชลนภา อนุกูล นักวิจัยศูนย์ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางความมั่นคงของมนุษย์และความเท่าเทียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: “จ๋าเป็นนักวิจัยด้านความเป็นธรรมทางสังคมศึกษา ทำงานวิจัยที่เปิดเผยให้เห็นโครงสร้างความเหลื่อมล้ำผ่านประเด็นกลุ่มประชากรชายขอบ อาทิ คนไร้บ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และส่งเสริมการสร้างบทสนทนาสาธารณะเพื่อเปิดพื้นที่ถกเถียงแลกเปลี่ยนขยายขอบเขตวิสัยทัศน์ว่าด้วยสังคมที่ดีและเป็นธรรมร่วมกัน คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จในแง่ที่ยังมีความสุข มีความทุกข์ค่อนข้างน้อย รู้สึกว่าตนเองเป็นประโยชน์กับโลกอยู่บ้าง ในแง่ของการทำงานที่มีความหมาย และได้เชื้อชวนคนอื่นให้เป็นเพื่อนกัน


 สังคมจะมีความเจริญก้าวหน้าและเป็นธรรมไม่ได้หากยังไม่มีความเป็นธรรมทางเพศ ดิฉันเติบโตมาในแวดล้อมของผู้หญิงเก่งมากมาย  และมักแสดงบทบาทเป็นผู้เชื่อมร้อยประสานการทำงานของผู้คนหลายฝ่าย ที่รักกันบ้างชังกันบ้าง แม้ในกลุ่มคนที่มีความปรารถนาจะสร้างสังคมที่ดีเหมือนกัน แต่ขนาดหัวใจอาจไม่ได้กว้างเหมือนกัน งานหลายงานเมื่อมองไปที่เบื้องหลัง ดิฉันเห็นผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ผู้ชายไม่กี่คนยืนอยู่ข้างหน้า มีแสงไฟสาดส่องอยู่บนเวที ดิฉันไม่คิดว่านี่คือการแบ่งงานกันทำ ผู้หญิงอย่างพวกเราอาจจะต้องร่วมมือกันมากขึ้น ส่งเสริมและยืนยันให้ผู้หญิงอีกหลายคนไปอยู่ข้างหน้าให้มากขึ้น ดิฉันไม่คิดว่าผู้หญิงต้องเป็นใหญ่เหนือผู้ชาย แต่ดิฉันเชื่อว่าความหลากหลายเป็นผลดีกับสังคมโดยรวม เด็กผู้หญิงก็จะเห็นต้นแบบผู้หญิงมากขึ้น มีความฝันและทางเลือกในชีวิตที่อยากจะเป็นมากขึ้น เด็กผู้ชายก็จะเห็นว่าความหลากหลายและการเคารพให้เกียรติคนที่เพศต่างจากตนเองเป็นความปรกติมากขึ้น สังคมที่ปราศจากความเป็นธรรมทางเพศถือเป็นสังคมล้าหลัง และภาพอนาคตที่ไม่มีการพูดถึงความเป็นธรรมทางเพศย่อมเป็นอนาคตปลอมที่สะกดจิตคนให้หลงเชื่อเท่านั้นเอง”

ดร.สุนทรียา เหมือนหะวงศ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค2

ดร.สุนทรียา เหมือนหะวงศ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค2

© ดร.สุนทรียา เหมือนหะวงศ์ 

ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2: “การทำงานกับนักวิชาการด้านสตรีนิยม ช่วยทำให้ดิฉันได้เรียนรู้ว่า ความยุติธรรมของผู้หญิงแตกต่างจากความยุติธรรมของผู้ชาย เพราะสายตาที่เรามองโลกผ่านวัฒนธรรมและความคิดมีความแตกต่างกัน และธรรมชาติของเราก็ไม่เหมือนกัน กระบวนการยุติธรรมในสังคมไม่ต้องให้สิทธิพิเศษแก่สตรีมากกว่าบุรุษ แต่ต้องตอบโจทย์อย่างเหมาะสม ซึ่งพอเข้าใจเรื่องสิทธิของผู้หญิง เราก็จะค่อยๆ เข้าใจเรื่องสิทธิของคนเพศทางเลือกได้ง่ายขึ้น

 

แล้วพอเรามีสายตาที่มีความละเอียดอ่อนเรื่องความแตกต่างระหว่างเพศ (Gender Lens) เราก็จะตื่นจากความมืดบอดในเรื่องความเหลื่อมล้ำแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเหยียดกันทางเชื้อชาติศาสนา การเอาเปรียบกันในทางเศรษฐกิจ หรือการรังเกียจกันด้วยความคิดต่างทางการเมือง ซึ่งเมื่อเราสามารถมองโลกในสิ่งที่เป็นจริงตามเนื้อผ้า (Objective Lens) เราก็จะพร้อมเกื้อกูลกันได้

 

ดิฉันเชื่อมั่นว่าผู้หญิงมีศักยภาพที่จะช่วยทำให้โลกมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น การมีส่วนร่วมของสตรีในทางการเมืองการปกครอง ความทุ่มเทของผู้นำสตรีในชุมชน หรือกระทั่งบทบาทของเด็กผู้หญิงในโรงเรียน จะช่วยกันนำพาสังคมไทยไปสู่ความเป็นสังคมอุคมคติที่แท้จริง เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังค่ะ

วศินี พบูประภาพ ผู้สื่อข่าวอิสระ

วศินี พบูประภาพ ผู้สื่อข่าวอิสระ

© วศินี พบูประภาพ 

วศินี พบูประภาพ ผู้สื่อข่าวอิสระ: “ตลอดการทำงานข่าวมาพบว่า ตั้งแต่คนหาเช้ากินค่ำ นักธุรกิจ นักการเมือง ประสบการณ์ของผู้หญิงเหมือนกันแบบไม่น่าเชื่อ

ผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ในสังคมมาได้ต้องฝ่าฟันมากมาย ไล่ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างการแบ่งเวลาทำงานบ้านเลี้ยงลูก เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงดูแลผู้สูงอายุในบ้าน ไปที่ทำงานก็ต้องใช้เวลาเพิ่มไปกับการวางตัวสั่งสมสร้างความน่าเชื่อถือ แถมยังต้องฝ่าฟันช่องว่างรายได้ หรือแม้กระทั่งการดำรงตนให้ปลอดภัยในที่ทำงาน ทั้งหมดเต็มไปด้วยเรื่องหยุมหยิมที่แสนกดดัน ผ่านเรื่องพวกนี้มาได้ ใครก็บอกไม่ได้ว่าเราไม่มีศักยภาพ

 

วันสตรีสากลนี้เฉลิมฉลองให้ผู้หญิงทุกคน ฉลองกับความอดทน ความกล้าหาญ ความไม่ยินยอมต่อข้อจำกัดมากมายที่แวดล้อม แต่ยังพยายามอย่างที่สุดในการสร้างชีวิตปกติสุขให้ตัวเองและคนรอบข้าง”

FNF ประเทศไทย ขอขอบคุณ คุณสุภิญญา กลางณรงค์ คุณชลนภา อนุกูล ดร.สุนทรียา เหมือนหะวงศ์ และคุณวศินี พบูประภาพ ที่มาบอกเล่าเกี่ยวกับคุณค่า ความท้าทาย และให้กำลังใจผู้หญิง

ผู้หญิง 4 ท่าน เป็นผู้หญิงที่ทรงคุณค่าและส่งมอบความสำเร็จให้กับผู้คนในสังคมด้วยความมั่นใจ โดยที่ไม่ได้มีไม้บรรทัดสำหรับการวัดคุณค่าและความสำเร็จแบบเดียวกัน แต่ทุกคนมีเส้นทางของตัวเอง เพราะฉะนั้น ‘เธอ’ ที่อ่านอยู่สามารถเป็นผู้หญิงที่มีคุณค่าและประสบความสำเร็จได้

 

ขอเชิญชวนให้ผู้หญิงทุกคนมั่นใจว่าผู้หญิงสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่เราต้องการ และเชื่อมั่นในผู้หญิงทุกคน

 

สุขสันต์วันสตรีสากล

 

กัญญาณัฐ พาทีทิน (มิโกะ) เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กรและผู้ช่วยโครงการมูลนิธิ ฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย