Election
ฉากทัศน์ประเทศไทยปี 2575 ความหวังของสังคมไทย ที่ไม่อยากเห็นประชาชนเป็นแค่ ‘องค์ประกอบ’หลังเลือกตั้ง
ตัวเอก หรือตัวประกอบ ? ในวันที่ประชาธิปไตยยังไม่มีอะไรชัดเจนหลังเลือกตั้ง
จะทำอย่างไรให้ประชาชนไม่เป็นเพียงตัวประกอบของระบอบประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้ง? จะทำอย่างไรให้เราได้นโยบายสาธารณะเพื่อทุกคน ไม่ใช่นโยบายที่กำหนดมาจากผู้มีอำนาจ ? ก้าวต่อไปของการสร้างนโยบายเพื่อประชาชน โดยประชาชนคืออะไร ? ภาคประชาสังคมจากหลากหลายภาคส่วนได้ร่วมหาคำตอบนี้ไปด้วยกัน
“การยกระดับคุณภาพประชาธิปไตย ที่มาจากประชาชน สื่อต้องร่วมกำหนดทิศทาง ร่วมสร้างตาข่ายนิรภัยสังคมประชาธิปไตย และควรจะเป็นลูกศรที่กำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอนาคตไปด้วยกัน เพื่อทำให้พรรคการเมืองรับฟังและปรับวิธีคิดสร้างนโยบายที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญช่วงการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย”
ตาข่ายนิรภัยทางการเมือง (Political Safety Net) เครื่องมือที่จะรองรับการเปลี่ยนผ่านหลังเลือกตั้งให้ยั่งยืนไปด้วยกัน
หนึ่งในความกังวลที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยอย่างชัดเจนคือ บทบาทของประชาชนจะเป็นอย่างไร จะมีอะไรอีกมั้ยที่เราทำได้หลังจากลงคะแนนเสียงในคูหาเลือกตั้ง กิจกรรมเปิดพื้นที่ระดมสมองได้ชวนให้ทุกคนร่วมแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจ อาทิเช่นการกระจายอำนาจให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอนาคตของท้องถิ่นตัวเอง พื้นที่สาธารณะที่ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นได้อย่างปลอดภัย การสนับสนุนจากภาครัฐให้เกิดการรวมกลุ่มในชุมชน ไปจนถึงการแก้รัฐธรรมนูญที่เปิดกว้างให้ประชาชนได้ทดลองการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตยมากขึ้นมากขึ้น
“สิ่งที่เราต้องพยายามรักษาคือพยายามอย่าเสียพื้นที่กลางที่ใช้ในการสื่อสาร ผลักดันแก้ปัญหาต่าง ๆ หากรักษาพื้นที่ได้จะสามารถผลักดันสู่อนาคตได้ รวมถึงต้องรักษาเครือข่ายการร่วมมือกันไว้ นั่นคือโอกาสในการขยายพื้นที่ ”
ก้าวต่อไปของการสร้างนโยบายเพื่อประชาชน โดยประชาชน
ภาคประชาสังคมต่างเห็นความสำคัญของการมีพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน ทั้งบนโลกออนไลน์ และเชิงกายภาพ อีกทั้งยังต้องมีการเก็บข้อมูลความคิดเห็นของประชาชนอย่างครบถ้วนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบาง คนชายขอบ และกลุ่มผู้มีอัตลักษณ์ทับซ้อนที่มักถูกมองข้ามไป การรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายและแตกต่างกัน การจะสร้างตาข่ายนิรภัยทางการเมือง (Political Safety Net) ที่จะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง สื่อจะต้องเป็นทั้งผู้เฝ้ามองปรากฎการณ์ (observer) และผู้กำหนดทิศทางการสื่อสาร (setting agenda)ไปพร้อมๆกัน เพื่อปกป้องเสรีภาพทางการแสดงออก และช่วยส่งเสียงความคิดของประชาชนอย่างเสมอภาค และเท่าเทียม
“เรามาถึงจุดที่มีความเปลี่ยนแปลงทั้งมิติการเมืองและสังคม แต่ที่สำคัญคือเทคโนโลยีและภูมิทัศน์สื่อก็เปลี่ยนไปเช่นกัน คนมักจะไม่คุ้นชินกับการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะมาในเชิงบวกหรือเชิงลบก็ตาม แต่หากเราเข้าใจ พร้อมจะเผชิญหน้า ก็จะสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ในทุกสถานการณ์”
ถึงแม้ว่าทิศทางการเมืองหลังการเลือกตั้งจะไม่แน่นอน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือการตื่นตัวของภาคประชาสังคมต่อการกำหนดนโยบาย และการกำหนดชะตาชีวิตของท้องถิ่นของพวกเขาเอง นี่คือก้าวที่หน้าจับตามองของสังคมไทย นี่คือก้าวต่อไปของสิทธิเสรีภาพทางการแสดงออก และการสร้างพื้นที่ปลอดภัย สร้างตาข่ายนิรภัยทางการเมืองให้กับประชาชนทุกคนในสังคมประชาธิปไตย
บทความนี้เขียนโดย พริม มณีโชติ, ผู้ช่วยโครงการและเจ้าหน้าที่สื่อสารประจำประเทศไทย