Dream Constitution
Youth Dialogue on Dream Constitution: รัฐธรรมนูญในฝันของเยาวชน

Youth Dialogue on Dream Constitution เติมจินตนาการ ต่อความฝันให้ประเทศไทย
© Thailand Institute of Justice (TIJ)การแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นประเด็นสำคัญของรัฐบาลไทยในปัจจุบัน และเป็นความเห็นร่วมของทั้งพรรคนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทยละพรรคฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคประชาชนที่ต้องการแก้ไขเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญที่ตกทอดมาจากสมัยรัฐประหาร
กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่และบทบาทของประชาชน รวมถึงเป็นกติกาสูงสุดในการอยู่ร่วมกันในประเทศ ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่เรื่องของนักการเมืองหรือคนในรัฐสภาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกคนในสังคมด้วย
ในห้วงที่กระบวนการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญกำลังดำเนินการในรัฐสภา FNF Thailand ร่วมกับ Wevis, The 101 PUB, Eureka Global, และ CROSSs ได้จัดกิจกรรม “Youth Dialogue on Dream Constitution เติมจินตนาการ ต่อความฝันให้ประเทศไทย” เมื่อวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 ที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญสำหรับสังคมไทย ได้มีพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับความฝันและความต้องการที่เชื่อมโยงกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดทิศทางของกติการ่วมกันของประเทศได้
Lego Serious Play กติกาในฝันผ่านของเล่น
กิจกรรมเริ่มด้วยการใช้ของเล่นเลโก้เป็นเครื่องมือในการวาดภาพวางแผนความฝันกติกาของสังคมผ่านการเล่น หรือกระบวนการ Lego Serious Play ในกิจกรรมนี้ผู้เข้าร่วมต้องใช้ชิ้นของเล่นเลโก้เป็นตัวแทนของสิ่งที่ตัวเองอยากเห็นในสังคม จากนั้นก็เป็นช่วงที่ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในบรรยากาศที่เอื้อให้ตั้งใจรับฟังซึ่งกันและกัน และลงท้ายด้วยการนำความต้องการของแต่ละคนมารวมเป็นกลุ่ม เรียกว่า “เมืองในฝัน” 4 กลุ่ม โดยคงไว้ซึ่งความต้องการและคุณค่าของคนทุกคนในกลุ่ม
ถึงแม้จะแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ประเด็นร่วมที่น่าสนใจของทุกคนคือ
- โอบรับความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภายใต้การรองรับทางกฎหมาย
- ความปลอดภัยของแรงงาน ทั้งทางความมั่นคงในอาชีพและความปลอดภัยในการทำงาน
- สิ่งแวดล้อมที่ดีในเมือง ที่ไปได้ด้วยกันกับการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม
- การเกษตร กู้คืนจุดแข็งในอดีตของไทย ไม่ว่าจะด้วยการสนับสนุนจากรัฐหรือการพัฒนาเทคโนโลยี
- การท่องเที่ยว ขับเน้นจุดแข็ง ดึงดูดคนต่างชาติเข้ามา พร้อมทั้งสนับสนุนความหลากหลายทางอาหาร วัฒนธรรม และผู้คน
- กระจายอำนาจ ยกระดับศักยภาพในต่างจังหวัด มีคนเก่งจากทั่วโลกไปยังท้องถิ่นต่างๆ ของไทยได้ ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ
- ความเท่าเทียมทางโอกาส รัฐสวัสดิการ และโครงสร้างพื้นฐานที่ทั่วถึง
“เยาวชนอย่างพวกเราเผชิญในสิ่งเดียวกัน พบเจอในสิ่งคล้าย ๆ กัน” วรินทร สมฟองนักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว “นี่คือเมืองในฝันที่เราอยากเห็นเป็นแบบนั้น”

เมืองในฝันทั้ง 4 ผ่านกระบวนการ Lego Serious Play
© Wevisจดหมายถึงผู้มีอำนาจ
ในช่วงบ่ายเป็นการวิเคราะห์เมืองในฝันของแต่ละกลุ่ม โดยให้ผู้เข้าร่วมเลือกประเด็นความฝันหรือความต้องการจากเมืองของตนเองาเพื่อวิเคราะห์ว่าต้องมีกระบวนการหรือกติกาอะไรเพื่อบรรลุความฝันนั้น เรียงความง่ายไปยากของกติกา และเลือกกติกาที่น่าจะเห็นผลมากที่สุดมาถกเถียงในเยาวชนต่างกลุ่มฟัง ประเด็นที่แต่ละกลุ่มเลือกมาได้แก่ การกระจายอำนาจ รัฐสวัสดิการ และเมืองสีเขียว ซึ่งทีมงานจะรวบรวมกติกาและประเด็นที่กลุ่มเยาวชนได้ร่วมถกเถียงในกิจกรรมนี้ไปบรรจุในฐานข้อมูลเพื่อเปิดให้คนกลุ่มอื่นได้ต่อยอดและถกเถียงต่อ
ในช่วงท้ายของกิจกรรม เยาวชนผู้เข้าร่วมได้เขียนโปสการ์ดเล่าถึงความต้องการหรือสิ่งที่อยากบอกต่อผู้มีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต ซึ่งทีมงานจะส่งโปสการ์ดดังกล่าวต่อ เมื่อมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้วในอนาคต
ตัวอย่างโปสการ์ดถึงผู้มีอำนาจ


อ่านเพิ่ม จดหมายขอบคุณจากผู้เข้าร่วม “โอกาสเด็กอีสาน”
*ทักษ์ดนัย เกตุแก้ว เป็นผู้ช่วยโปรแกรมและเจ้าหน้าที่ด้านการสื่อสารที่มูลนิธิฟรีดริช เนามัน เพื่อเสรีภาพ, กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย