เครือข่าย การเล่าเรื่อง และข้อความจากพวกเรา
ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง การบูรณาการความร่วมมือกับภาคีองค์กรต่างๆมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนงานให้ประสบความสำเร็จ คุณสเวน เกอรส์ (Sven Gerst) กระบวนกรและนักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ สถาบันฝึกอบรมผู้นำนานาชาติ (International Academy for Leadership – IAF) และเลขาธิการ International Federation of Liberal Youth (IFLRY) มาบอกเล่าหลักการการบริหารจัดการเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการชวนคุย ชวนคิด และชวนทำ พร้อมทั้งคุณค่าแห่งเสรีนิยม ศาสตร์แห่งการเล่าเรื่อง
ความเชื่อมโยง เครือข่าย การเล่าเรื่อง และเสรีนิยม
คุณคิดถึงอะไรเมื่อได้ยินคำว่า เครือข่าย (networking)? การพูดคุย การเชื่อมต่อกับคนอื่น เฟซบุ๊ค หรือนามบัตรเป็นตั้งๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราทำเพื่อสร้างเครือข่าย แต่จริงๆ แล้ว เราสร้างเครือข่ายไปเพื่ออะไรกัน?
การสร้างเครือข่าย (networking) มีพลังในตัวเอง เครือข่ายทำให้เกิด 1. เกมที่มีผลลัพธ์เป็นบวก (Positive sum games) หรือสถานการณ์ที่มีแต่ได้กับได้ (win-win situation) คือ การแลกเปลี่ยนอย่างสมัครใจจะทำให้เกิดผลลัพท์ที่มากกว่าเดิม อย่างไรก็ตามการที่จะทำให้เกิดเกมที่มีผลลัพธ์เป็นบวกต้องอาศัยบรรยากาศและการอำนวยความสะดวกให้เครือข่ายเติบโตต่อไปได้ 2. เครือข่ายช่วยลดขั้นตอนและค่าธุรกรรม (Reduce transaction cost) การมีเครือข่ายที่เชื่อถือได้ช่วยลดขั้นตอนและการค้นหาหรือจัดหมวดหมู่ การมีข้อมูลจำนวนมากที่ไม่ได้จัดหมวดหมู่ทำให้เสียทรัพยากรมากกว่าที่จะช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ 3. เพิ่มต้นทุนทางสังคม (Social Capital) เครือข่ายทำให้เราอยู่ในกลุ่มคนที่ใช่ เกิดนวัตกรรม และเพิ่มต้นทุนทางสังคมผ่านความร่วมมือกันนั่นเอง
การสร้างเครือข่ายโดยไม่วางแผนไม่ใช่การสร้างเครือข่าย - Unplanned networking is not networking
การสร้างและรักษาเครือข่ายให้ประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยการวางแผนอย่างมียุทธศาสตร์ การสร้างเครือข่ายเบื้องต้นเริ่มจากการรู้จักตัวเองว่ามีลักษณะแบบไหน บวกกับคำแนะนำในการเสริมลักษณะหรือชักชวนให้คนให้เชื่อถือในตัวเรา และเครื่องมือที่จะช่วยในการสร้างเครือข่าย จากคาถา BACON คือ Build lists – สร้างตารางรายขื่อผู้ติดต่อ, Activate contacts – ไม่ปล่อยผู้ติดต่อหายไปเฉยๆ, Connect people – เชื่อมโยงผู้คน, Organize members – จัดการสมาชิก, Nurture relationships – คงรักษาความสัมพันธ์
เดี๋ยวนะ แต่ทำไมกัน - Wait, But Why?
หลายๆ ครั้งที่เรามักจะบอกเล่าสิ่งที่เราทำ และวิธีการทำงานของเรา แล้วค่อยๆ คลี่คลายในตอนท้ายถึงเหตุผลที่เราทำอย่างนั้น เพื่อให้คนที่เราติดต่อรู้ว่าเราทำอะไร แต่หัวใจหลักของการเล่า ที่คนอยากฟัง คือ “ทำไม” เราถึงทำสิ่งที่เราทำอยู่ ทุกอย่างเริ่มจาก ไอเดีย และหลักการ “วงกลมทองคำ” ที่ทำให้คนฟังสนใจเรา
“ทำไม” (เราถึงทำสิ่งที่เราทำอยู่) ที่แข็งแรง เริ่มจากไอเดียที่ง่าย คาดไม่ถึง จับต้องได้จริง น่าเชื่อถือ ผสมกับอารมณ์ร่วมและถ่ายทอดผ่านเรื่องเราผ่านเรื่องราว ที่ฉายภาพ การเปลี่ยนแปลง ความเจ็บปวด รวมถึงแรงผลักดัน รวมถึงเส้นทางว่าเราทำสิ่งที่เราทำอยู่ “อย่างไร” ก่อนที่จะบอกต่อว่าเราทำ “อะไร” อยู่
เราสร้างเครือข่ายเพราะอยากให้สังคมที่เราอยู่ดีขึ้น แต่ดีขึ้นแบบไหน? อาจจะเล่าเป็นภาพได้ยากและคนไม่เห็นภาพเดียวกับเรา การเล่าเรื่องที่จับใจและฉายภาพ จะช่วยให้เราและเครื่อข่ายเห็นภาพสังคมที่เราอยากเห็นได้ดีขึ้น และแน่นอนว่าไม่เพียงแต่เครือข่าย ภาพนั้นจะขยายต่อไปยังส่วนอื่นของสังคม นำสู่วิธีการไปสู่ภาพนั้นต่อไป
8 คุณค่าหลักของแนวคิดเสรีนิยม
ความท้าทายหลักในการสื่อสารแนวคิดเสรีนิยม ที่เราค้นพบ คือ แนวคิดเสรีนิยมเป็นนามธรรม และถูกนำเสนอผ่านมุมมองและการตีความที่ไปในทางรุนแรงหรือก้าวร้าว หรืออาจรวมถึงการไม่เข้าใจหัวใจของแนวคิดเสรีนิยมอย่างแจ่มชัด สเวน เกอร์ส ได้ช่วยสรุป 8 คุณค่าหลัก ของแนวคิดเสรีนิยม ดังนี้ เสรีภาพ (liberty) ปัจเจกชนนิยม (individualism) การไม่วางใจต่ออำนาจ (skeptical of power) หลักนิติรัฐ (rule of law) ความรับผิดชอบ (responsibility) ความอดทนอดกลั้นและยอมรับความแตกต่าง (toleration/acceptance) สันติภาพ (peace) และ ระเบียบตามธรรมชาติ (spontaneous order) สเวนอธิบายต่อว่า เสรีภาพของปัจเจก หรือการมีอิสระในการเลือกและตัดสินใจตามเจตน์จำนงจะนำไปสู่การสร้างสรรค์และพัฒนาต่อไปตามธรรมชาติ โดยมีการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม เป็นกลไกในการจำกัดการใช้อำนาจ นอกจากนี้ปัจเจกยังต้องรับผิดชอบต่อการกระทำและตัดสินใจ มีความอดทนอดกลั้นและยอมรับความแตกต่าง และนำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมสันติสุข จึงเห็นได้ว่าเสรีนิยมเชื่อมั่นในทุกคนในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ดี
การอบรม เครือข่าย การเล่าเรื่อง และห้องเรียนเสรีนิยม จัดขึ้น 2 ครั้ง คือ ระหว่างวันที่ 17 – 20 มกราคม พ.ศ. 2563 ให้กับกลุ่มศิษย์เก่ามูลนิธิฯ และระหว่างวันที่ 22 – 24 มกราคม พ.ศ. 2563 ให้กับภาคีเครือข่ายจากหลายภาคส่วนได้มาร่วมแลกเปลี่ยน สร้างแรงบันดาลใจ และเปิดพื้นที่การขับเคลื่อนงานเพื่อสังคมน่าอยู่ต่อไป