DE

เสวนานักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 6 รับมือด้านมืดยุคดิจิทัลด้วยจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์

Digital, Disinformation, Misinformation

ภาคประชาสังคม ย้ำจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์คือหัวใจของการเท่าทันสื่อและรับมือด้านมืดโลกออนไลน์ รับฟังคนเห็นต่างโดยไม่ด่วนตัดสิน สื่อมีบทบาททำความจริงให้ปรากฎลดความขัดแย้งในสังคม

Digital, Disinformation, Misinformation

วันนี้ (15 พฤศจิกายน 2562)   มูลนิธิฟรีดริช เนามัน   องค์กร Centre for Humanitarian Dialogue (hd)  สถาบัน Change Fusion ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเสวนา Digital Thinker Forum#6 เรื่อง “รับมือด้านมืดยุคดิจิทัลด้วยจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์”

 

                ดร.ไพโรจน์  เสาน่วม   ผู้อำนวยการส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส  กล่าวเปิดงานว่า  โลกยุคดิจิทัลส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อผู้คน เวทีเสวนาครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ระดมความคิดของนักคิดจากหลากหลายศาสนาว่าจะจัดการกับปัญหาและผลกระทบเรื่องนี้ได้อย่างไรและได้มองลึกเข้าไปด้านในของตัวเอง

 

                เฟรเดอริค ชปอร์  หัวหน้าสำนักงานประเทศไทยและเมียนมา ฟรีดริช เนามัน  เล่ากรณีศึกษาด้านมืดของโลกออนไลน์และบทบาทของสื่อกระแสหลักที่จะมีส่วนช่วยคลี่คลายความจริง ตัวอย่างจากงานฉลองและกิจกรรมประจำปีในช่วงคริสต์มาสในเมือง Nuremberg ของเยอรมนี จะมีการคัดเลือกตัวแทนเด็ก ๆ ที่เรียกว่า Christ Child  เมื่อภาพเด็กสาวอายุ 17 ปีที่ได้รับเลือกเผยแพร่ออนไลน์ ปรากฏว่าเธอถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกอินเตอร์เน็ตรวมทั้งนักการ เมืองฝ่ายขวาจากพรรค AFD ที่ตัดสินจากภาพที่เห็นคือ ผมหยิก ผิวคล้ำ บางส่วนเข้าใจผิดคิดว่าเธอเป็นมุสลิมหรือมีเชื้อสายอินเดียน จนเกิดกระแสความเกลียดชังไปทั่ว แต่เมื่อสื่อมวลชนแห่งหนึ่งได้ค้นข้อมูลประวัติของเด็กสาวคนนี้แล้วเปิดเผยว่า เธอเป็นคนเยอรมัน เป็นคาธอลิก ที่รับใช้ศาสนาอย่างแข็งขัน ทำให้เปลี่ยนกระแสความเกลียดชังเป็นการชื่นชมเด็กสาวในอินเตอร์เน็ตแทน นักการเมืองที่เคยตำหนิก็ออกมาโพสต์ขอโทษในภายหลัง

“เราเรียนรู้จากกรณีนี้ว่า นักข่าวนั้นต้องทำหน้าที่สืบค้นข้อมูลข้อเท็จจริงรายงานให้สาธารณะรับรู้ และสื่อกระแสหลักก็มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดการให้ข้อมูลผ่านพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อความหลากหลาย ในขณะที่พลเมืองต้องฝึกที่จะรับข่าวสารหลายทาง เพื่อให้เข้าใจและเฝ้าระวังปัญหา  กรณีนี้หากโพสต์ที่วิจารณ์ถูกลบไปตั้งแต่แรก ก็จะไม่เกิดบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนข้อมูลจนกระทั่งมีคนเปิดเผยข้อเท็จจริง อินเตอร์เน็ตมักจะถูกกล่าวโทษบ่อยครั้ง แต่ที่จริงแล้ว ต้นเหตุของความคิดที่เหมาะสมนั้นมาจากคน ดังนั้นสิ่งที่ต้องชวนคิดคือ อะไรควรลบหรือไม่ควรลบ  เพราะคนโพสต์ก็มีสิทธิที่จะโพสต์  การลบความเห็นต่างออกจากอินเตอร์เน็ตจึงอาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป”

Digital, Disinformation, Misinformation

เฟรเดอริค ชปอร์ หัวหน้าสำนักงานประเทศไทยและเมียนมา มูลนิธิฟรีดริช เนามัน เล่ากรณีศึกษาของโลกออนไลน์และบทบาทสื่อกระแสหลักในการช่วยคลี่คลายความจริง

ในการเสวนาเรื่อง “มุมมองทางศาสนากับพลวัติยุคดิจิทัล”  ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นจาก 3 ศาสนาเห็นสอดคล้องกันว่า หลักการของทุกศาสนาล้วนให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์และเชื่อว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ได้แน่นอน 

พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท  ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กล่าวว่า พุทธศาสนา มีหลักคำสอนที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อเท่าทันและรับมือกับยุคดิจิทัลได้หลายประการ ได้แก่ การมีสติและไตร่ตรองโดยใช้ปัญญาอย่างรอบด้านอีกทั้งยังมีหลักกาลามสูตร ที่สอนให้คนต้องไม่ด่วนเชื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยไม่ตรวจสอบ

“หนึ่งในกาลามสูตรก็บอกไว้ว่า อย่าเชื่อแม้จะเป็นคำสอนของครูอาจารย์ คือให้คิดใคร่ครวญให้รอบคอบเสียก่อน   หลักทางศาสนาต่าง ๆ นั้นช่วยได้ เริ่มจากปัจเจกคือตัวเราแต่ละบุคคลทำอะไรได้ก่อนก็ทำตามกำลัง ช่วยกันเปิดเผยด้านสว่างให้สังคมรับรู้ แต่ด้านโครงสร้างก็ต้องร่วมมือกันใช้สื่อดิจิทัลซึ่งตอนนี้ยังใช้งานไม่เต็มศักยภาพ เอาเทคโนโลยีเป็นสะพานช่วยเชื่อมคนที่ตั้งใจดีไปช่วยเหลือคนเดือดร้อน”

 

ซิสเตอร์ยุพดี จารุวิภาค  อธิการิณี โรงเรียนเซนต์เมรี่ จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า  ทุกยุคสมัยล้วนแล้วแต่มีสิ่งดีและไม่ดีปะปนกัน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากอินเตอร์เน็ตแต่เกิดจากตัวของมนุษย์ตัวเรานั่นเอง  สำคัญที่สุดอยู่ที่แต่ละบุคคลที่จะกำหนดและเลือกรับด้านดีงามมาเป็นประโยชน์แก่ตนเองและเมตตาเกื้อกูลผู้อื่น

“ ตอนนี้คนกำลังหลงลืมเรื่องจิตวิญญาณเพราะเน้นแต่การพัฒนาเทคโนโลยีและผลตอบแทนทางธุรกิจ  มนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เพราะมีหัวใจ รัก ให้อภัย เข้าใจได้  มีความทรงจำ มีจิตวิญญาณ  กฎทองของพระผู้เป็นเจ้าคือความรัก  ทรงสอนให้จงรักมนุษย์คนอื่นเหมือนรักตัวเอง  หากเรายึดหลักของศาสนาอย่างเคร่งครัดไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็จะทำให้เรารับมือกับด้านมืดของโลกออนไลน์ได้”

 

ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี  หัวหน้าสาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ  เห็นว่า ศาสนาคือรากฐานของชีวิตและสังคม ทำอย่างไรให้ศาสนาได้รับใช้และตอบรับความยั่งยืนของมนุษย์ อิสลามเชื่อว่าตั้งแต่แรกเกิดคนเราก็มีความเป็นมนุษย์ที่ความบริสุทธิ์อยู่เดิมแล้ว แต่โลกยุคดิจิทัลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนเกิดปัญหาโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณธรรมในใจ (ethical infrastructure)

“เราเห็นด้านมืดของโลกดิจิทัลมากมายแต่ผมยังเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ ยังมีความหวังในการสร้างสันติภาพ มุสลิมทุกคน ชีวิตจะยึดโยงกับหลักการของศาสนาและพระผู้เป็นเจ้า หากความเกลียดสร้างได้  ความรักก็สร้างได้เช่นเดียวกัน  ผมเชื่อว่าศาสนามีพลังในการสร้างสันติภาพ หากเรามองคนอื่นด้วยการให้เกียรติและเห็นความเป็นมนุษย์ระหว่างกัน  อิสลามสอนให้เราชัดเจนและรู้จักตัวเองว่าเกิดมาเพื่ออะไร  สำหรับผมคือการเคารพและภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า ผ่านการให้เกียรติ รับใช้ผู้อื่น ทุกคนได้รับเกียรติเพราะเหมือนภาพตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้าบนโลกมนุษย์ ”

ดร.สุชาติ ยังตั้งข้อสังเกตต่อกรณีศึกษาที่คุณเฟรเดอริกยกตัวอย่างว่า  หากเด็กที่ได้รับเลือกเป็น Christ Child คนดังกล่าว ไม่ใช่คนเยอรมนีหรือไม่ได้เป็นผู้นับถือคริสต์ศาสนาแล้วเธอจะได้รับการตอบรับอย่างไร

Digital, Disinformation, Misinformation

เวทีเสวนาช่วงแรก "มุมมองศาสนากับพลวัติยุคดิจิทัล" (จากซ้าย) พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี ซิสเตอร์ยุพดี จารุวิภาค และคุณสุภิญญา กลางณรงค์

หลังจากนั้น มีเวทีเสวนาต่อเนื่องในหัวข้อ “รับมือด้านมืดออนไลน์อย่างไรด้วยจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์”  ประชา หุตานุวัตร  ประธานนิเวศสิกขาเอเชียและผู้อำนวยการแผนงานผู้นำพุทธกระบวนทัศน์ของ   เสมสิขาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันเราอยู่ในบริบทและโครงสร้างสังคมที่กำลังทำลายความเป็นมนุษย์ ลดทอนความรักและเสริมสร้างความเกลียดชังเพราะเน้นความเจริญทางวัตถุ  การแย่งชิงเป็นที่หนึ่ง ส่งเสริมให้คนโลภมากขึ้นเรื่อย ๆ  ระบบแข่งขันทำให้มีคนแพ้และชนะ  คนแพ้รู้สึกตัวเองแย่และไร้คุณค่า ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องมองที่ต้นเหตุด้วย  เพราะด้านมืดโลกออนไลน์ไม่ได้มีแค่ข่าวสารปลอมหรือข่าวบิดเบือน โลกดิจิทัลกำลังเป็นยาเสพติดชนิดใหม่ ศาสนาเป็นปัจจัยรองของสังคมสมัยใหม่ และถูกเบียดออกไปเรื่อย ๆ  เมื่อคนอยู่ในสังคมที่ไม่มีศาสนาธรรม คนก็ต้องการหนีจากโลกที่ตัวเองเผชิญอยู่ เมื่อไม่ต้องการกระทั่งสื่อสารกับตัวเอง  โลกออนไลน์จึงเป็นทางออก  เหยื่อออนไลน์ก็คือคนที่แพ้ในการสื่อสารกับตัวเอง   

“เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง เกิดสิ่งใหม่ก็ต้องมีระบบและเครื่องมือเพื่อทำให้เราอยู่กับสิ่งใหม่นั้นได้   ทางออกที่เน้นความเป็นมนุษย์ต้องเป็นคนละแบบกับการสร้างเทคโนโลยี ซึ่งความรู้ด้านนี้ชั่งตวงวัดไม่ได้   แต่โยงกับการขัดเกลา ฝึกฝนจิตใจตัวเอง นอกจากใช้สติแล้วยังต้องมีความสังวรณ์  สำรวมและรู้จักเลือกอย่างมี  “วิจารณญาณ”ด้วย โดยไม่ปัดหรือตัดความเห็นต่างทิ้งไป  โลกอินเตอร์เน็ตนั้นสามารถใช้เป็นพลังเชิงบวกได้ สิ่งที่ต้องทำคือการสร้างชุดความคิดและหาต้นแบบใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่โลกที่สันติอย่างแท้จริง”

 

ดร.สรยุทธ  รัตนพจนารถ  ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา  กล่าวว่าตัวอย่างของเวทีในวันนี้เป็นเรื่องดีที่ได้สร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนของคนต่างศาสนา  แต่ต้องไม่ลืมว่าบนโลกอินเตอร์เน็ต มีคนจำนวนมหาศาลที่ไม่ได้นับถือหรือเชื่อศาสนาใด คนกลุ่มนี้ก็ไม่ควรละเลยและต้องเลือกวิธีการสื่อสารทำความเข้าใจโดยใช้เครื่องมือหรือสื่อที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย หากต้องการคุยเรื่องความเป็นมนุษย์ก็ต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมายและเลือกใช้การสื่อสารเนื้อหาเดียวกัน

“พื้นฐานมนุษย์  ต้องการคนรับฟังและมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ  จะเข้าถึงหัวใจของความเป็นมนุษย์ก็ต้องทำให้เขาได้มีประสบการณ์ตรงด้วยตัวเอง ได้ฝึกฝนทักษะที่สำคัญและจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล  ฝึกการฟัง  การรับรู้เรื่องราวของคนอื่น  คนที่รู้สึกว่าตัวเองมีความทุกข์ แต่เมื่อได้ไปทำงานให้คนอื่น ได้เสียสละ ได้แบ่งปัน  ได้เชื่อมโยงความสัมพันธ์กับคนอื่นกับโลกข้างนอก ก็พบว่ามีความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไป มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น เท่ากับได้เชื่อมโยงจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ระหว่างกัน”

 

ดร.ฟารีดา เจะเอาะ  อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  เห็นว่า โลกออนไลน์และเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ทำให้คนพูดกันน้อยลง  อินเตอร์เน็ตจึงกลายเป็นจำเลย แต่โจทย์คือ ทำอย่างไรให้แรงปะทะจากโลกดิจิทัลเป็นความท้าทาย 

“การตรวจสอบข้อมูลมีความจำเป็นมาก เราไม่ต้องรีบร้อนและเร็วทุกเรื่องก็ได้   โลกยุคใหม่ในดิจิทัลทำให้คนรุ่นใหม่มีพื้นที่สื่อสารกันได้มากขึ้น กว้างขวางขึ้น  แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ  ออนไลน์เป็นพื้นที่สร้างตัวตนใหม่ของคน ตามที่อยากเป็น แต่เมื่อออกมาแล้วกลับหลงลืมว่าตัวตนจริงคืออะไร คือใคร  อีกเรื่องคือการขาดพื้นที่ทำให้คนต่างวัย ต่างความคิดได้มาหาทางออกร่วมกัน  สิ่งนี้ต้องการการพูดคุยเพิ่มขึ้น สื่อไม่ได้เพียงนำเสนอหรือสะท้อนความจริง  แต่ความจริงก็มหลายชุด หลายมิติ  ซึ่งต้องทำความเข้าใจความแตกต่างเหล่านี้ด้วย  ต้องแสวงหาความรู้มาก่อนและเปิดใจกับสิ่งนั้น”

               

วศิน ปั้นทอง  อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าเมื่อพูดเรื่องยุคสมัย ก็มีความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายหลายประการ ทั้งความเร็วและขนาดปริมาณของข่าวสารในโลกไซเบอร์ จำนวนมหาศาลทำให้เราเลือกสกัดสาระออกมาใช้ได้ยาก   โลกไซเบอร์เอื้อให้เราใช้ความรุนแรงทางอารมณ์มากขึ้น  พบตัวอย่างว่า เนื้อหาที่ได้รับยอดไลค์เยอะมักจะอยู่ในขั้วสุดโต่งของอารมณ์ทั้งด้านลบและบวก  หากมองบริบทการเมืองคือทำให้การเมืองแยกเป็นเสี่ยงๆบนฐานของอารมณ์ ทำให้เปราะบางและอันตรายมาก และยังมีประเด็นด้านความมั่นคง  หลายครั้งเรื่องออนไลน์และเรื่องที่อ่อนไหวถูกโยงไปเป็นประเด็นความมั่นคง  ทำให้เป็นปัญหา กลายเป็นการละเมิด ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในที่สุด 

วศิน เสนอการออกแบบสะพานเชื่อมคนในสังคมเข้าด้วยกัน ด้วยวิธีดังนี้

1.ออกแบบความคิด  อดทน อดกลั้น ต่อความเห็นต่างจากผู้อื่น  โดยไม่ลืมว่าอีกฝ่ายก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา  

ซึ่งต้องฝึกฝนจากประสบการณ์จริง และฝึกให้เขามองเห็นคุณค่าของสิ่งที่พวกเขาทำ

2. ออกแบบสถาบันที่จะมีส่วนช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากด้านมืดของโลกออนไลน์ ตัวอย่างจากต่างประเทศเช่นในออสเตรเลีย  มีหน่วยงานเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในโลกไซเบอร์ หรือในสหราชาอาณาจักร มี help line  ป้องกันคนถูกรังแกทางโลกออนไลน์ เป็นต้น

 “ นอกจากการเรียนการสอนในโรงเรียนแล้ว ยังต้องเพิ่มการเรียนรู้ร่วมกัน  และทำให้เกิด Humanize digitalization เอาเทคโนโลยีมาอยู่ในชีวิตมนุษย์ มาสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ  ไม่ใช่เอามนุษย์ไปอยู่บนโลกอินเตอร์เน็ตหรือเทคโนโลยี  และต้องทำให้ internet of things  กลายเป็น   internet of life  เอาเทคโนโลยีมาทำให้คนเห็นคุณค่ามนุษย์มากขึ้น  ทำให้คนมีการรู้จักคิดวิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลให้ออก ทำให้คนมีทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง ไม่เพียงได้ยิน แต่ต้องอดทนฟังความเห็นต่างด้วย  ทำให้คนมีทักษะการมองสิ่งต่าง ๆ อย่างรอบด้านและเปิดใจ”

Digital, Disinformation, Misinformation

เวทีเสวนาช่วงที่ 2 "รับมือด้านมืดออนไลน์อย่างไรด้วยจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์" (จากซ้าย) คุณประชา หุตานุวัตร ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ดร.ฟารีดา เจะเอาะ อาจารย์วศิน ปั้นทอง และดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล

รับชมลิงค์การถ่ายทอดย้อนหลังที่

พิธีเปิด และปาถกฐาพิเศษ โดย นายแพทย์ไพโรจน์ เสาน่วม และคุณเฟรเดอริค ชปอร์

https://www.facebook.com/digitalthinkersforum/videos/586495362113509/?epa=SEARCH_BOX

 

เสวนานักคิดดิจิทัล ช่วงที่ 1 มุมมองทางศาสนากับพลวัตยุคดิจิทัล

https://www.facebook.com/digitalthinkersforum/videos/423528501881262/?epa=SEARCH_BOX

 

เสวนานักคิดดิจิทัล ช่วงที่ 2 รับมือด้านมืดยุคดิจิทัลด้วยจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์

https://www.facebook.com/digitalthinkersforum/videos/2656029267810371/?epa=SEARCH_BOX