DE

สิทธิเขา สิทธิเรา ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

สัมมนาทางกฎหมายว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน
human rights education

“สิทธิมนุษยชน” สิ่งที่ติดตัวเราทุกคนมาตั้งแต่เกิด มีความเป็น “สากล” ที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ต้องมีเหมือนกัน แม้แต่ในบริบทความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ก็ไม่ได้เป็นกำแพงปิดกั้นสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน รู้สิทธิที่ตนมี ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น นำมาสู่ สัมมนาทางกฎหมายว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน “สิทธิเขา สิทธิเรา ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้” โดยสาขานิติศาสตร์ คณะอิสลามศึกษาและนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2563

เวทีเสวนาในช่วงเข้า วิทยากร 3 ท่านจากหลากประสบการณ์ ดร. พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ดร. ฆอซาลี เบ็ญหมัด คณบดีคณะอิสลามศึกษาและนิติศาสตร์ และนายแพทย์อนันต์ไชย ไทยประทาน รองประธานสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นคำถามสิทธิมนุษยชน เปรียบเทียบกับหลักของศาสนาอิสลาม และสิทธิมนุษยชนในบริบทสามจังหวัดชายแดนใต้

สิทธิมนุษยชน สิทธิโดยธรรมชาติ

“สิทธิไม่ใช่สิ่งที่ใครจะให้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือใคร แต่สิทธิของความเป็นมนุษย์เราทุกคนมีติดตัวเหมือนกันมาตั้งแต่เกิด” ดร. พิมพ์รภัชกล่าว

“แล้วเรามีสิทธิอะไรบ้างที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด และไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็มีเหมือนกัน?” เป็นคำถามชวนคุยต่อมา

สิทธิในการนับถือศาสนา สิทธิในการมีชีวิตอยู่ สิทธิในการเดินทาง สิทธิในการศึกษา สิทธิในการแสดงออก สิทธินการดำเนินชีวิตและกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิความเป็นส่วนตัว เป็นคำตอบจากผู้ฟังกว่า 100 ชีวิต

สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่เราทุกคนมีติดตัวมาตั้งแต่เกิด เป็นสิทธิที่เรามีโดยธรรมชาติ (Natural Law) และไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หรือถือสัญชาติใดย่อมต้องมีสิทธิเหล่านี้เหมือนกัน นั่นคือสิทธิมนุษยชนมีความเป็นสากล

ดร. ฆอซาลี นักวิชาการอิสลามศึกษาเล่าว่า ทฤษฎีสิทธิมนุษยชนในมุมมองศาสนาอิสลามมีความสอดคล้องกัน เพราะกฎหมายอิสลามสอดคล้องกับธรรมชาติ เรามีความรับผิดชอบต่อสิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือธรรมชาติ ตามหลักคำสอนแล้ว การทำลายชีวิตคนคนหนึ่งก็เหมือนกับการทำลายชีวิตคนทั้งโลก

human rights education

คุณซากีรี บินเจ๊ะฮะ (ผู้ดำเนินรายการ) ดร. พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ดร. ฆอซาลี เบ็ญหมัด และ นพ. อนันต์ไชย ไทยประทาน ผู้ร่วมเสวนาสิทธิเขา สิทธิเราในสังคมโลกและในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

เส้นทางการพัฒนาสิทธิมนุษยชน

จากกระบอกไซรัส ที่ให้สิทธิในการนับถือศาสนาและปลดปล่อยทาส สู่สิทธิพลเมืองในยุคดิจิทัล สิทธิมนุษยชนมีพลวัตและหมุดหมายสำคัญ เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนับเป็นเอกสารสำคัญและเป็นระบบเตือนภัยให้กับโลก การขับเคลื่อนสิทธิพลเมือง อาทิ สิทธิในการเลือกตั้งของสตรี ลัทธิเหยียดสีผิว สิทธิในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และสิทธิมนุษยชนจะพัฒนาต่อไป

ดร. พิมพ์รภัช ชวนคุยถึงพัฒนาการสิทธิมนุษยชน จากความเป็นพลเมือง ความต้องการมีส่วนร่วม ความต้องการแสดงออก และการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง สู่สิทธิในยุคดิจิทัล ที่มีคำถามเกี่ยวกับสิทธิในความเป็นส่วนตัวกับความสะดวกสบาย สิทธิของเราในยุคดิจิทัลก็คือสิทธิพลเมือง

ขณะเดียวกัน นพ. อนันตไชย ชี้แม้จะมีบางการกระทำที่อ้างถึงสิทธิมนุษยชนจะบิดเบี้ยวไป แต่การพัฒนาสิทธิมนุษยชนก็มีหลายประเด็นที่ดี เช่น การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องความเป็นมนุษยธรรมมากกว่า

สิทธิมนุษยชนเรื่องทัศนคติ

สิทธิมนุษยชนเป็นคุณค่าสากล อย่างไรก็ตามสิทธิมนุษยชนกลับถูกมองไปในทางลบในบางครั้ง เป็นที่มาของคำถามเรื่องแนวทางการสร้างวัฒนธรรมและสังคมเคารพสิทธิมนุษยชน

“สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของสามัญสำนึก การมีคุณธรรม รู้ผิด รู้ถูก ในคำสอนได้พูดถึงความยุติธรรม ว่าพระเจ้าให้ความยุติธรรมกับทุกคน แม้ว่าเขาจะไม่ใช่มุสลิม หรือหากเป็นมุสลิมที่ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ ไม่มีความยุติธรรม ก็ไม่ได้รับอภิสิทธิจากความเป็นมุสลิม” ดร. ฆอซาลีเล่า

“สิทธิเป็นเรื่องของการรู้ กับไม่รู้มากกว่า สิทธิที่เรามี คนอื่นก็มีเหมือนกับเรา แต่เมื่อพูดถึงสิทธิมนุษยชนกลับถูกมองเป็นเรื่องลบ เพราะการแสดงออกถึงสิทธิไปกระทบกับคนอื่น ทั้งที่จริงแล้วการแสดงออกถึงสิทธิและเสรีภาพที่เรามีนั้นมีขอบเขต และต้องมีความรับผิดชอบ” ดร. พิมพ์รภัชเสริม

ท้ายสุดแล้วสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทัศนคติ มุมมอง ความรู้-ความไม่รู้ และสามัญสำนึก อย่างไรก็ตามสามัญสำนึกก็ขึ้นกับประสบการณ์ รวมถึงโครงสร้างสังคมและกฎหมาย มีส่วนในการสร้างประสบการณ์และสามัญสำนึกของแต่ละคน

human rights education

การ์ดสถานการณ์และการ์ดแก้ปัญหาในเกมการ์ดพลังสิทธิ เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้กับผู้เล่น

เปิดประสบการณ์ เสริมมุมมองสิทธิมนุษยชน

มุมมองสิทธิมนุษยชนและสามัญสำนึกของแต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่เขาพบเจอ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ใน 65 ประเทศทั่วโลก มีพันธกิจในการส่งเสริมสังคมเปิด ประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน หลักนิติรัฐ และเสรีภาพทางเศรษฐกิจ โดยงานที่ทำในแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันในบริบท แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การสร้างสังคมเปิด

ในปี 2562 มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ได้รวบรวมการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เป็นรายงานสิทธิมนุษยชนประจำปี และแบ่งการทำงานออกเป็นหมวดหมู่ ได้แก่ เสรีภาพสื่อและการรู้เท่าทันสื่อ สิทธิมนุษยชนในโลกออนไลน์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิในเพศสภาพและเสรีภาพในการกำหนดชะตาชีวิต สิทธิในสิทธิมนุษยชนศึกษา และธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

ในประเทศไทย มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ทำงานเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษาร่วมกับภาคี เช่น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในการพัฒนาเกมการ์ดพลังสิทธิ และร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ในการผลิตคู่มือกิจกรรมสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งหวังให้เครื่องมือเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประสบการณ์ร่วมและเสริมมุมมองสิทธิมนุษยชนให้กับเยาวชน นักการศึกษา กระบวนกร และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชน

สิทธิเขา สิทธิเรา ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

สิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นที่มีความสำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ด้วยบริบทความขัดแย้งทำให้มีการจำกัดสิทธิ หรือแนวปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนนัก นพ. อันตไชย ในฐานะภาคประชาสังคม เห็นว่ามนุษยธรรมกับสิทธิมนุษยชนแยกจากกันไม่ได้ หัวใจสำคัญคือการรับฟังและมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ดร. ฆอซาลี เทียบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้ ว่ากฎหมายไทยรับหลักการในเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนาและมีกลไกสนับสนุนการศึกษาแบบอิสลาม กฎหมายอิสลามมีข้อบังคับเฉพาะ และด้วยบริบททำให้การแสดงออกในประเด็นอ่อนไหวยังถูกจำกัด ดร. พิมพ์รภัช ย้ำว่าทุกคนมีสิทธิเหมือนกัน แต่ในบริบทความขัดแย้งที่พบเจอ การถูกจำกัดและละเมิดสิทธิเหล่านี้ ทำให้คนในพื้นที่ถูกมองว่ามีสิทธิน้อยกว่าคนอื่น

ในช่วงบ่าย เป็นการแนะนำกิจกรรมการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนผ่านเกมการ์ดพลังสิทธิ การชมศาลจำลอง และห้องสมุดคณะนิติสาสตร์ ก่อนปิดการสัมมนา