อบรมทักษะกระบวนกร สถาบันพระปกเกล้า
“Facilitator” หรือที่อาจจะคุ้นเคยในไทยหลากหลายสำนวน เช่น กระบวนกร วิทยากรกระบวนการ ผู้อำนวยการประชุม เขาเหล่านี้มีบทบาทในการสนับสนุนการประชุมและรับฟังความคิดเห็น ผ่านการออกแบบ ดำเนินการ และ ชักนำกระบวนการเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และแลกเปลี่ยน ให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย โดยไม่ตัดสินและชี้นำเนื้อหาในการประชุมหรือระดมความคิดเห็นต่างๆ
สถาบันพระปกเกล้า เป็นสถาบันด้านการพัฒนาประชาธิปไตย ที่สนับสนุนงานวิชาการ รวมถึงฝึกอบรมเสริมศักยภาพให้กับผู้นำในระดับต่างๆ ทั้งนี้ทักษะและเทคนิคการจัดกระบวนการนับเป็นส่วนสำคัญในภารกิจดังกล่าว ด้วยเหตุนี้สถาบันพระปกเกล้าจึงได้จัดอบรมหลักสูตรวิทยากรกระบวนการขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และพนักงานในสังกัดให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น
จากโจทย์ข้างต้น นำมาสู่การฝึกอบรมหลักสูตรวิทยากรกระบวนการ และฝึกปฏิบัติในวันที่ 25 – 26 กรกฎาคม 2562 โดย ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย ได้เริ่มเล่าถึงพันธกิจของมูลนิธิฯ กับการมีส่วนร่วมในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งนับเป็นพื้นฐานและแนวคิดของการจัดกระบวนการประชุม รับฟัง และระดมความคิดเห็นอย่างมีส่วนร่วมผ่านเทคนิค เครื่องมือต่างๆ
จากความกังวลในการจัดการองค์ประชุม การรับมือกับผู้เข้าร่วมที่หลากหลาย ไปจนถึงความไม่มั่นใจในการพูดต่อหน้าที่ประชุมเพื่อนำกระบวนการ ค่อยๆ พัฒนาเป็นความมั่นใจที่เพิ่มขึ้น หลังจากผู้ร่วมอบรมได้เรียนรู้และทดลองปฏิบัติผ่านการผสานองค์ความรู้เข้ากับเทคนิคต่างๆ เช่น บทบาทหน้าที่ของกระบวนกร การออกแบบและใช้กระบวนการ การฝึกฟังอย่างตั้งใจ (Deep listening) และการสรุปความทวนความ การฝึกพูดในที่สาธารณะ จนกระทั่งเทคนิคกระบวนการต่างๆ เช่น เสวนาสภากาแฟ (World Café) เทคนิคคาราวาน (Caravan) เทคนิคเส้นเวลา เทคนิคเบสไลน์ เทคนิคสปีดเดท กระบวนการอ่างเลี้ยงปลา รวมไปถึงการออกแบบเพื่อฝึกปฏิบัติจริง และได้รับฟังและแลกเปลี่ยนจากเพื่อนผู้ร่วมอบรม และผู้เชี่ยวชาญ
นอกจากนี้ผู้อบรมยังได้เรียนรู้เกมที่สามารถปรับใช้ในการจัดกระบวนการ เช่น หาการ์ดที่หายไป และเกมเจท ไฟท์เตอร์ ที่พัฒนาทักษะการสื่อสารและการวางแผน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเปิดใจและพร้อมที่จะพูดคุยหารือร่วมกันต่อไป
ในช่วงท้ายของการอบรม ผู้อบรมได้แบ่งกลุ่มเพื่อออกแบบและทดลองใช้กระบวนการสำหรับการอบรมและรับฟังความคิดเห็น และร่วมแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ และผู้เชี่ยวชาญ เช่น การใช้บัตรคำ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมสำหรับนักศึกษา การทำเส้นเวลา สำหรับบุคคลทั่วไป และการแบ่งกลุ่มพูดคุย ในการระดมความคิดเห็นในชุมชน ไม่เพียงแต่การออกแบบ แต่ผู้อบรมยังสามารถถ่ายทอดและใช้กระบวนการเหล่านั้นได้อย่างลื่นไหลเป็นธรรมชาติ กระบวนการเหล่านี้นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวที่จะเพิ่มความมั่นใจ และส่งเสริมพื้นฐานการมีส่วนร่วมในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างยั่งยืน