DE

เกม เล่น เรียนรู้ และออกแบบได้

game design workshop

ดร. มาร์ติน ซิลเลาท์ บรรยายสลับกับให้แบ่งกลุ่มทำกิจกรรม

พูดถึงเกมหรือการเล่น คุณคิดถึงอะไรกันบ้าง? จากวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ มาถึงเกมคอมพิวเตอร์ เกมออนไลน์ และบอร์ดเกม

“ในยุคดิจิทัล เรากลับต้องหาทางเจอหน้าค่าตากันจริงๆ ให้บ่อยขึ้น” อาจเป็นการอธิบายปรากฎการณ์ของการมีร้านบอร์ดเกมอยู่แทบทุกสี่แยกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

“การบรรยายในห้องด้วยภาษาวิชาการอาจไม่ตอบสนองกับผู้เรียน” เพราะวิธีการบรรยายโดยภาษาวิชาการไม่เชื่อมโยงกับประสบการณ์ของผู้เรียน ทำให้การเรียนรู้กลายเป็นการท่องจำไป ขณะที่การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม อย่างการใช้เกม เปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนได้ลองเล่น และสร้างประสบการณ์บนพื้นที่เปิดนั้น

จาก Sim Democracy ถึง The Poll

ร้อยเครือข่ายสู่การอบรมออกแบบเกมในประเทศไทย

จากโจทย์เรื่องการศึกษาภาคพลเมืองในการส่งเสริมประชาธิปไตย นำมาสู่ก้าวแรกในการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และแปลงความเป็นนามธรรมที่ล่องลอยมาสู่ชิ้นส่วนบนเกมกระดานจำลองเมืองประชาธิปไตย (Sim Democracy)[1] ที่เริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2553 โดยมูลนิธิฯ ร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง คลับครีเอทีฟ และสถาบัน Change Fusion พัฒนาร่วมกัน ตลอดเวลาร่วม 10 ปี เกม Sim Democracy เดินทางทั่วประเทศไทยและเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการทำ “เกม” ในต่างประเทศ อย่างเช่น เกม The Poll ที่จำลองการต่อสู้ของพรรคการเมืองในสนามการเลือกตั้ง[2] The Poll เริ่มพัฒนาในช่วงปลายปี 2561 โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญร่วมทดลองเล่นและให้ความเห็นเกี่ยวกับเกม เป็นหมุดหมายมาสู่การจัดอบรมออกแบบเกมในประเทศไทย

การร่วมทดลองเล่นและให้ความเห็นเกม The Poll เป็นจุดเชื่อมต่อให้ ดร. พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ได้พบกับ ดร. มาร์ติน ซิลเลาท์ ประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษาเกมดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยทาลิน ประเทศเอสโตเนีย บวกกับความนิยมบอร์ดเกม-การ์ดเกม และความตื่นตัวในการพัฒนาเกม ทำให้เกิดความตั้งใจจัดอบรมออกแบบและพัฒนาเกมและสื่อการเรียนรู้ให้กับอาจารย์ นักกิจกรรม และภาคีในประเทศไทย

 

game design workshop

นำเสนอแนวคิดเกมพร้อมฟังข้อคิดเห็นจากเพื่อนๆและวิทยากร

ออกแบบพื้นที่ กำหนดกติกา

“กิจกรรมที่เล่นในพื้นที่เสมือนจริง ที่ผู้เล่นพยายามเอาชนะเป้าหมาย โดยต้องทำตามกติกาที่วางไว้” เออร์เนส อดัมส์ นักออกแบบเกม

นี่เป็นนิยามของเกมที่ ดร. มาร์ติน ยกขึ้นมาในการวางกรอบคิดเรื่องเกมตั้งแต่ครั้งแรก

จากเกมที่ดูซับซ้อน ดร. มาร์ตินค่อยๆ คลี่ขั้นตอนการออกแบบเกม โดยเริ่มด้วยกิจกรรมตอบคำถามสลับกับการบรรยาย การฝึกปฏิบัติ ไปจนถึงการนำเสนอผลงาน พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะกับแต่ละทีม ทำให้แต่ละทีมได้เรียนรู้องค์ประกอบในการออกแบบเกม ตั้งแต่การวางโครงร่างเกม ออกแบบด่าน  ออกแบบการเล่น (เช่น เกมวิ่ง เกมสลับหรือย้ายของในเกม ฯลฯ) การเล่าเรื่องของเกม การเรียนรู้จากเกม รูปแบบการนำเสนอและบรรยากาศในเกมให้น่าสนใจ ไปจนถึงการรวมกลุ่มจากเกมนั้นๆ

กระบวนการในการพัฒนา ตั้งแต่การวางกรอบคิด ผลิต ปรับปรุง รวมไปถึงการถ่ายทอดไอเดียของเกมออกมา โดยคิดถึงกลุ่มเป้าหมาย ประเภทของเกม และรูปแบบการเล่นเกมนั้นๆ เหล่านี้เป็นหลักเบื้องต้นในการออกแบบเกม

จากวิธีการที่ช่วยกันรื้อช่วยกันสร้าง กลุ่มผู้เข้าร่วมออกแบบเกมในการอบรมครั้งแรก ที่จังหวัดเชียงใหม่ กลับออกไปพร้อมกับต้นแบบเกม ที่ตอบโจทย์ประเด็นที่หลากหลาย เช่น สิ่งแวดล้อม การรู้เท่าทันสื่อ กฎหมายเบื้องต้น เศรษฐกิจแบบตลาด เช่นเดียวกับการอบรมออกแบบเกมที่กรุงเทพฯ ร่วมกับสำนักกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ทำให้เกิดต้นแบบเกมในประเด็นที่เกี่ยวกับกฎหมายหลายประเด็น เช่น การค้ำประกัน สัญญา สืบสวน ไปจนถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

กลับไปสู่จุดเริ่มต้น เกมเหล่านี้จะมีส่วนให้ผู้เล่นได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน และจะสามารถสร้างความเข้าใจ ไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้เช่นกัน

ข้อมูลการอบรม

การอบรมเกมจัดขึ้น 2 ครั้ง

  1. อบรมออกแบบเกม จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 10-12 มกราคม 2563 ผู้เข้าร่วมจำนวน 40 คน ประกอบด้วยอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ ภาคประชาสังคมในเชียงใหม่ ภาคประชาสังคมและผู้สนใจจากกรุงเทพฯ และจังหวัดปัตตานี
  2. อบรมออกแบบเกม วันที่ 14-16 มกราคม 2563 ผู้เข้าร่วม 40 คน สำหรับเจ้าหน้าที่สำนักกิจการยุติธรรมและผู้ที่ทำงานในวงการยุติธรรม

 

[1] กองบรรณาธิการ “จากอากาศเป็นกระดาษบนกระดานประชาธิปไตย – ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล” Collective Changes เครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ (คศน.) เผยแพร่เมื่อ 24 กรกฏาคม 2562 เข้าถึงเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2563 URL  https://collective-changes.org/cc015/

[2] The Poll-The Great Indian Election Game URL https://thepoll.co/