โลกหลังโควิด-19 ฉายภาพอนาคตประเทศไทย
วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัด สัมมนาเพื่อหาคำตอบหลังโควิด-19 ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2563 ภายใต้หัวข้อ ฉายภาพอนาคตประเทศไทย โดยมี ดร. พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิฟรีดริช เนามัน เป็นผู้นำการพูดคุยกับธนิสรา เรืองเดช CEO และผู้ก่อตั้ง PunchUp World และผู้จัดการโครงการ Elect.in.th และ ศานนท์ หวังสร้างบุญ Co-founder และ สมาชิกเครือข่าย SATARANA-สาธารณะ
กุ๊งกิ๊ง ธนิสรา มองว่าโลกหลังวิกฤตโควิด-19 จะเปลี่ยนไป คนจะระมัดระวังตัวและเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ในอนาคตมากขึ้น จากวิกฤตครั้งนี้ได้เห็นความพยายามปรับตัวและร่วมมือกันในการลงมือพัฒนาร่วมกันอย่างเข้มแข็ง จากความร่วมมือนี้กุ๊งกิ๊งคาดหวังจะได้เห็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชนในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการต่อไป ในส่วนผลกระทบจากโควิด-19 และแนวทางในการฟื้นฟูหลังจากนี้ กุ๊งกิ๊งเล่าว่าในการทำงานนั้นไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากงานเกี่ยวกับข้อมูลและดิจิทัลอยู่แล้ว ในทางเศรษฐกิจและธุรกิจได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็ต้องปรับตัวและมองสังคมรอบข้างด้วย เพราะ “สุดท้ายถ้าไปเรารอดคนเดียว แต่ไม่มีคนที่ไปรอดกับเรา สุดท้ายเราทำธุรกิจกับใคร ก็ไม่มีคนทำธุรกิจกับเราอยู่ดี” นอกจากนี้กุ๊งกิ๊งยังให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงสร้างข้อมูล ในฐานะที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ที่รัฐกับเอกชนสามารถพัฒนา และนำข้อมูลเปิดมาเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการได้ โดยยกตัวอย่างในต่างประเทศประกอบ
ศานนท์ เห็นว่าสภาวะปกติใหม่จะเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของคนไป ด้วยความเปลี่ยนแปลงที่เกิด ศานนท์และชุมชนเห็นโอกาสในวิกฤตที่เกิดขึ้น เห็นถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงภายในชุมชน และพาเรากลับมาตั้งคำถามถึงความยั่งยืนของการออกแบบเมืองและการท่องเที่ยว โจทย์นี้นำไปสู่การรวมตัวเป็นย่านใน Locall.BKK ในฐานะแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงชุมชน และเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้คนในย่านได้เข้าถึงโอกาสที่ก่อนหน้าเข้าไปไม่ถึง จากความร่วมมือขับเคลื่อนในชุมชน รัฐบาลอาจมีส่วนสนับสนุนในการกระจายอำนาจตัดสินใจให้กับท้องถิ่น โดยรัฐปรับบทบาทเป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” แทนการลงมือพัฒนาด้วยตัวเอง บทบาทที่สนับสนุนกันนี้อาจเป็นโมเดลการพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วมในอนาคต นอกจากนี้การกระจายอำนาจมีส่วนลดการผูกขาดในตลาด ทำให้เกิดการพัฒนาและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ