One Fri-day ตอนที่ 8 ปาฏิหารย์ 1 นาที เล่าเรื่องผ่านวิดีโอสั้น
One Fri-day ตอนที่ 8 ชวนคุยและชวนทำวิดีโอสั้น ย่อยประเด็นเป็นเรื่องราว กับเมย์ วรรณวิสาข์ อินทรครรชิต และ ขวัญ ขวัญแก้ว เกตุผล ผู้ประกอบการวิดีโอเพื่อสังคม Doc 36 หลังจากได้แลกเปลี่ยนทักษะในการสื่อสารประเด็นผ่านรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facilitation เกม-สื่อการเรียนรู้ การจดบันทึกด้วยภาพ หรือการแต่งเพลที่ผ่านมา เหล่านี้เป็นเครื่องมือที่มูลนิธิใช้ในการสื่อสารประเด็นสังคม และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างคน สังคม กับประเด็นที่อยากสื่อสารออกไป และวิดีโอ-วิดีโอสั้นก็เป็นอีกหนึ่งสื่อที่มูลนิธิฯ ใช้
“วิดีโอ เป็นเครื่องมือในการสื่อสารเรื่องราวและสาระของมูลนิธิฯ ย้อนไปได้ตั้งแต่ปี 2012 ที่เมย์เข้ามาในทีม และได้เริ่มโครงการ Dream Thailand ที่เราเริ่มมองหาสื่อที่ทรงพลัง และดึงความสนใจของผู้เข้าร่วมจำนวนมากให้ได้ เราได้เห็นการสื่อสารผ่านวิดีโอมาเหมือนกัน แต่เมย์ มีวิธีคิด กระบวนการคิดที่ไปผูกโยงให้เข้าถึงอารมณ์ของผู้คน เมื่อเราทำวิดีโอโครงการภาพอนาคตประเทศไทย เราได้เห็นว่าวิดีโอสามารถเข้าไปถึงจิตใจ และอารมณ์ลึกๆ ของคนได้จริงๆ การใช้วิดีโอสารคดีในโครงการภาพอนาคตประเทศไทย ทำให้เห็นว่าการสื่อสารผ่านวิดีโอทำให้การสื่อสารประเด็นทางสังคมเข้าไปถึงจิตใจ อารมณ์ และมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ทั่วโลกเห็นว่าการใช้วิดีโอที่เข้าถึงอารมณ์ของคนจะทำให้คนมีส่วนร่วมและตรึงใจของคนไว้ได้ นำไปสู่การพูดคุยต่อไปได้ เป็นที่มาของตำแหน่งทีมสื่อสารองค์กร (Communication Officer) ของมูลนิธิฟรีดริช เนามัน เลยก็ว่าได้” พี่แมรี่เล่า
Doc 36 ทำไมต้องเป็นวิดีโอเพื่อสังคม?
“ขวัญเริ่มการทำงานด้วยการทำวิดีโอสารคดีสื่อสารประเด็นสังคม และได้เห็นการนำวิดีโอเหล่านั้นไปขับเคลื่อนต่อและค่อยๆ ขยายกลุ่มออกไปเรื่อยๆ ทำให้เราได้เห็นงานที่เราทำ ทำงานของมันต่อไป” ขวัญเล่า
“ในกระบวนการทำวิดีโอสารคดีเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว ทำให้เราได้เข้าใจมุมมองของคนอื่นๆ หรือมุมมองของสังคม ขณะเดียวกันก็ทำให้พวกเขาเหล่านั้นเข้าใจตัวเองด้วย และเข้าใจมุมมองของคนอื่นด้วย” เมย์เล่าถึงความประสบการณ์จากการทำวิดีโอโครงการ Dream Thailand
One-Minute Miracle
ถอดรหัสวิดีโอที่ชอบ สู่การสร้างวิดีโอที่ใช่ - วิดีโอที่เราชอบจะมีลักษณะบางอย่างที่เชื้อเชิญให้คนสนใจ เช่น ประเด็นที่สื่อสาร ภาพที่ใช้ในการสื่อสารสวยงาม การเล่าเรื่องที่ชัดเจน เป็นต้น
Golden Circle ทำไม? ยังไง? แล้วได้อะไร? - คำถามหลักที่ใช้ในการวางกรอบความคิดในการคิดและผลิตงาน นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือที่พาเจาะลึกลงไปอย่าง Storytelling Canvas ที่ช่วยให้เราเห็นภาพ และเป้าหมายในการทำวิดีโอของเราชัดเจนยิ่งขึ้น
กระบวนการคิดงาน - ย่อยเรื่องยากให้ง่าย สื่อสารประเด็นลึกให้ถึงคน - ก่อนการถ่ายทำต้องมีการเตรียมข้อมูล เตรียมประเด็นที่จะนำเสนอให้ได้หลากหลายมุมมองมากที่สุด จากนั้นมองหาแนวทางในการเล่าเรื่องออกมา ตามด้วยการทำ script/story board เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับทีม
เทคนิคและทิปส์
ออกแบบวิดีโอ ผ่านมุมกล้องที่หลากหลาย – การถ่ายทำวิดีโอด้วยมุมกล้องต่างๆ ส่งความรู้สึกที่ต่างกันให้กับผู้ชมวิดีโอ การเลือกมุม เลือกชอต ส่งผลกับสิ่งที่เราจะสื่อสารออกไป
สตอรี่บอร์ด ให้ภาพช่วยอีกครั้ง – สตอรี่บอร์ดช่วยให้ทั้งทีมผลิตและเจ้าของโจทย์มองเห็นภาพการถ่ายทำ มุมที่จะใช้ และแนวทางการเล่าเรืองไปในทิศทางเดียวกันและปรับปรุง เสนอแนะแนวทางได้ง่าย
อาจใช้มือถือ และลงแอพพลิเคชั่นในการถ่ายทำและตัดต่อในมือถือได้ นอกจากนี้อาจใช้อุปกรณ์เสริม อย่าง ไมโครโฟน เลนส์เสริม ก็เพียงพอในการทำวิดีโอสั้นง่ายๆ ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ต้องคิดเมื่อวางแผน เช่น เตรียมตัวสัมภาษณ์ การเลือกช่องทางการนำเสนอ เพื่อกำหนดขนาดของเฟรมภาพ (กว้าง-ยาว) เป็นต้น
One Minute VDO – Care
[Singing Stories – Care ทุกหัวใจจะถูกดูแล]
หลังจากเปิดเพลง Care – ทุกหัวใจจะถูกดูแล เมย์และขวัญให้คนที่มาร่วมได้ลองเล่าภาพที่เห็นแล้วค่อยๆ ขยายภาพออกไปเพื่อเล่าเรื่องและถ่ายทำวิดีโอ ผ่าน 3 ขั้นตอน คือ 1) ภาพแว๊บแรกหลังจากฟังเพลงจบ 2) ประโยคที่เกี่ยวกับเพลงนี้ 1 ประโยค และ 3) เห็นภาพอะไรบ้างจากประโยคความคิดเมื่อครู่ เล่าสัก 5 ภาพ
ติดตามกิจกรรมของเราได้ทางเพจ FNF Thailand หรือ YouTube Channel FriedrichNaumann TH