Trade
ข้อตกลงการค้าเสรี สหภาพยุโรป - ไทย : เงื่อนไขในเรื่องของการแข่งขัน, ผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน และ ผลกระทบในเรื่องของข้อกำหนดในด้านสิ่งแวดล้อม
ในวันที่ 15 มีนาคม 2023 สหภาพยุโรป และ ประเทศไทยได้กลับมาเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) อีกครั้ง
การเจรจาครั้งนี้เป็นความพยามครั้งที่สองในการบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย การเจรจาครั้งแรกได้เกิดขึ้นในปี 2013 หนึ่งปีหลังจากนั้นกองทัพไทยได้ทำการบดขยี้ประชาธิปไตยโดยการก่อการรัฐประหาร จึงเป็นสาเหตุให้สหภาพยุโรปถอนตัวออกจากการเจรจา หลังจากที่ประเทศไทยได้มีการจัดการเลือกตั้งในปี2019และ2020 สหภาพยุโรปได้ตัดสินใจกลับมาที่โต๊ะเจรจาอีกครั้ง ในแง่ของความสัมพันธ์ ประเทศไทยเป็นคู่ค้าของสหภาพยุโรปที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 4 ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2020 การค้าขายสินค้ามีมูลค่าสูงถึง 42 พันล้านยูโรต่อปี ในขณะที่การค้าขายบริการมีมูลค่า 8 พันล้านยูโรต่อปี
“ข้าพเจ้ามีความรู้สึกยินดีต่อการเปิดการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศไทย ซึ่งมีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคอาเซียนอีกครั้งข้อตกลงการค้าเสรีที่ทันสมัยและมีพลวัตจะทำให้สองฝ่ายได้รับผลประโยชน์ มันจะเพิ่มมูลค่าทางการค้า ขับเคลื่อนการพัฒนาของนวัตกรรม เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทาน” นายวัลดิส โดมโบรฟสกิส, กรรมาธิการยุโรปด้านการค้า กล่าว ทางฝ่ายประเทศไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์, ก็มีความคาดหวังในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีในครั้งนี้เช่นกัน “ทั้งสองฝ่ายจะได้รับผลประโยชน์จากการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นสิ่งดึงดูดให้นักลงทุนจากทั่วโลกมาลงทุนที่ประเทศไทย” กระทรวงพาณิชย์กล่าว ประเทศไทยมีความหวังที่จะนำเข้าเครื่องจักรและเคมีภัณฑ์ในราคาที่ย่อมเยาจากสหภาพยุโรปและขจัดภาษีส่งออกในการส่งออกสินค้า เช่น รถยนตร์ ชิ้นส่วนรถยนตร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า อาหาร และยาง ไปยังสหภาพยุโรป ในแง่ของความสัมพันธ์ สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 4 ของไทย และเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 3
บทบาทหลักของสิทธิมนุษยชนในการกำหนดนโยบายการแข่งขัน
สหภาพยุโรปและประเทศไทยได้เซ็นกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านในปี 2022 ทั้งสองฝ่ายหวังจะบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีภายในปี 2025 นี้คือการมองโลกในแง่บวกเป็นอย่างมาก ถ้ามองไปที่ประเทศเพื่อนบ้าน การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปกับอินโดนีเซียเริ่มต้นในปี 2016 และก็ยังคงลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน ในเอเซียตะวันออกฉียงใต้ สหภาพยุโรปได้เซ็นข้อตกลงการค้าเสรีแค่กับสิงคโปร์ และ เวียดนาม เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าการบรรลุข้อตกลงดังกล่าวกินเวลานานหลายปีเป็นอย่างมาก แต่ว่าข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างเวียดนาม กับ สหภาพยุโรปสามารถเป็นเสมือนพิมพ์เขียวให้กับการเจรจาระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป สหภาพยุโรปได้วางแผนที่จะเริ่มต้นเจรจากับไทยในเรื่องของการเข้าสู่ตลาดของสินค้า บริการ การลงทุน และการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา รวมไปถึงสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ การขจัดอุปสรรคการค้าทางดิจิทัล และการค้าพลังงานและวัตถุดิบ “ความยั่งยืนจะเป็นหัวใจสำคัญของข้อตกลงนี้ ด้วยกฏระเบียบที่เคร่งครัดในเรื่องของการค้า และ การพัฒนาอย่างยั่งยืน สองสิ่งนี้จะเป็นตัวสนับสนุนให้เกิดการปกป้องสิทธิของแรงงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม และ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ” สหภาพุโรปกล่าวในคำแถลง
การกลับมาเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรปจะนำพามาซึ่งโอกาสในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และ การค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในขณะที่การเจรจาเข้าสู่กระบวนการที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และ การแข่งขันก็เริ่มที่จะมีผลต่ออย่างมากต่อการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย ดร. พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ จาก VA Partners, บริษัทที่ให้คำปรึกษาวิจัยและจัดทำบทวิเคราะห์ด้านธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และกฎหมายในกรุงเทพ, ได้เขียนไว้ในรายงานการวิจัย เนื่องด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิฟรีดริช เนามัน เพื่อเสรีภาพ VA Partners ได้ทำการตรวจสอบใจความสำคัญของข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศและสหภาพยุโรปที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต และร่างคำแนะนำสำหรับนักเจรจาเพื่อที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ หนึ่งในจุดโฟกัสของรายงานการวิจัยที่ละเอียดนี้คือ "การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี สหภาพยุโรป-ไทย: เงื่อนไขการแข่งขัน ผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน และผลกระทบของข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม" ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการแข่งขัน นอกจากนี้งานวิจัยนี้ยังตรวจสอบผลกระทบของการแข่งขันที่มีต่อสิทธิมนุษยชนใน 151 ประเทศอีกด้วยเช่นกัน
การแข่งขันและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ: ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน
ข้อกำหนดด้านการแข่งขันในข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากประเทศต่างๆ ยอมรับการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนโยบายการค้าและการแข่งขัน" VA Partners ประเมิน ข้อตกลงการค้าเสรีที่เกิดขึ้นในอดีตมุ่งเน้นไปที่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าเท่านั้น ในขณะที่ข้อตกลงการค้าเสรีในปัจจุบันไม่ได้มุ่งเน้นแค่ประเด็นทางการค้าเป็นอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญในเรื่องประเด็นทางสังคม สิ่งแวดล้อม แรงงาน การปกป้องข้อมูล และการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย ผลกระทบของข้อกำหนดในเรื่องของการแข่งขันนั้นแตกต่างกันในแต่ล่ะประเทศและอุตสาหกรรม แต่มันจะให้ประโยชน์กับประเทศที่ด้อยพัฒนาได้โดยการส่งเสริมการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเอื้ออำนวยให้มีกลไกสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างการแข่งขันและการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นซับซ้อน หากไม่เข้าใจในความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจมีผลกระทบตามมา เช่น ผลกระทบด้านลบต่อค่านิยมสังคม โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเสี่ยงมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้นกับประเทศที่มีเศรษฐกิจไม่ก้าวหน้า เพราะฉะนั้นการเข้าในเรื่องของการแข่งขันจึงจำเป็นอย่างยิ่ง โดยที่มีหลักสิทธิมนุษยชนทำหน้าที่บทบาทหลักในการกำหนดนโยบายการแข่งขัน
หลีกเลี่ยงให้ข้อกำหนดทางด้านสิ่งแวดล้อมไม่นำไปสู่การกีดกันทางการค้า
งานวิจัยของ VA Partners ยังศึกษาในเรื่องผลกระทบของบทบัญญัติด้านสิ่งแวดล้อมในข้อตกลงทางการค้าและผลกระทบต่อข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป-ไทยในอนาคต งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าในบทที่พูดถึงเรื่องการแข่งขัน ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป-ไทย ควรที่จะเน้นย้ำในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและการมีความรับผิดชอบอย่างรอบด้าน ในขณะเดียวกันในบทที่พูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ควรเน้นย้ำว่าข้อกำหนดในเรื่องของสิ่งแวดล้อมจะต้องไม่เป็นสิ่งที่จะไปกีดกันทางการค้า ในขณะที่ประเทศไทยและสหภาพยุโรปเดินหน้าต่อในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพิจารณาว่าบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันมีอิทธิพลต่อสิทธิมนุษยชนอย่างไร ทั้งในเชิงสาระสำคัญและเชิงขั้นตอน เมื่อมีความเข้าใจในความเชื่อมโยงเหล่านี้ ผู้เจรจาสามารถใช้ประโยชน์จากบทการแข่งขันในข้อตกลงการค้าเสรี เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในเรื่องอื่นๆ รวมถึงการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
*มอริตซ์ ไคลเน่-โบรคฮอฟฟ์ เป็นหัวหน้าประจำสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกของมูลนิธิฟรีดริช-เนามันน์เพื่อเสรีภาพ ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ