“สื่อสร้างสรรค์ เท่าทันสื่อ”
การรู้เท่าทันสื่อ หรือ Media and Information Literacy เป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญที่ถูกพูดถึง ในฐานะที่จะส่งเสริมให้ผู้ใช้สื่อสามารถวิเคราะห์ ตีความเนื้อหา ประเมินคุณค่า และเข้าใจผลกระทบของสื่อได้
กรมประชาสัมพันธ์ ยูเนสโก มูลนิธิฟรีดริช เนามัน และภาคีเครือข่ายจัดสัมมนาเยาวชน “สื่อสร้างสรรค์ เท่าทันสื่อ” ระหว่างวันที่ 26-28 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อให้เยาวชน นักศึกษาด้านสื่อสารมวลชน รวมถึงบุคลากรในหน่วยงานได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับวิทยากรทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมถึงเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปผลิตสื่อออนไลน์ เพื่อเผยแพร่ สร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อให้กับผู้อื่นต่อไป
ร่วมมือส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ
พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เล่าถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อและไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวง และความร่วมมือกับนานาชาติในการสร้างเครื่องมือในลักษณะคู่มือต้นแบบ เพื่อใช้ในการฝึกอบรม และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้ตามมาตรฐานสากล
รู้เท่าทัน เสรีภาพ ความรับผิดชอบ
คุณมิซาโกะ อิโต ที่ปรึกษาภูมิภาคด้านการสื่อสารและสารสนเทศ ยูเนสโก ได้เล่าถึงการฝึกอบรมเกี่ยวกับข่าวลวง หรือข้อมูลบิดเบือนให้กับเยาวชนจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน การอบรมดังกล่าวทำให้พบว่าแม้แต่นักศึกษาเองก็ยังเคยส่งต่อข้อมูลผิดพลาด บิดเบือน เพราะไม่ทราบถึงวิธีการตรวจสอบสื่อ แต่ส่งต่อตามสัญชาตญาณ โดยไม่ได้คิดถึงการตรวจสอบข้อมูลเลย นั่นเป็นที่มาที่ยูเนสโกส่งเสริมให้ผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียได้คิดก่อนแชร์ (Think Before Share) เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนเห็นความสำคัญในการตรวจสอบข้อมูลก่อนส่งต่อ มีความรู้ ความเข้าใจ และรู้เท่าทันสื่ออย่างยั่งยืน
รู้เท่าทันสื่อจากหลากมุมมอง
เวทีเสวนา Cyber Wellness: ชีวีมีสุข คนยุคไซเบอร์ ชวนผู้แทนจากหลากมุมมอง มาพูดคุยถึงการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในยุคดิจิทัล พร้อมแนวทางในการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล และความรับผิดชอบต่อสังคม
รู้เท่าทันและตรวจสอบสื่อจากมุมมองนานาชาติ ผ่านกรณีศึกษา ไวรัส COVID-19
เฟรดเดอริค ชปอร์ หัวหน้าสำนักงานประเทศไทย มูลนิธิฟรีดริช เนามัน เพื่อเสรีภาพ เล่าถึงการส่งต่อข่าวลวงและข้อมูลบิดเบือนและสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 “ไวรัส COVID-19 แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ข้อมูลบิดเบือนก็เช่นกัน มีกรณีที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์เผยแพร่วิดีโอที่อ้างว่ามาจากเมืองอู่ฮั่น ต่อมาวิดีโอนั้นถูกส่งต่อไปอย่างแพร่หลาย จนนำไปสู่การตรวจสอบข้อมูลและที่มาของวิดีโอ และพบว่าวิดีโอดังกล่าวถูกบิดเบือน ทำให้ทวิตเตอร์ระงับบัญชีผู้ใช้ที่เผยแพร่วิดีโอเป็นคนแรก การระงับการใช้งานดังกล่าวทำให้ผู้คนในสังคมออนไลน์จำนวนมากโจมตีการระงับหรือบล๊อคบัญชีผู้ใช้ และกลับคิดว่ารัฐบาลพยายามปกปิดความจริงอยู่ จะเห็นว่าการปิดกั้นไม่ให้นำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนหรือข่าวลวง สามารถสร้างบรรยากาศแห่งความไม่ไว้วางใจได้
ดังนั้นการเซนเซอร์ หรือระงับเผยแพร่นั้นไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการส่งต่อข่าวลวง แต่ผู้ที่กำกับดูแลจะต้องอธิบายถึงสาเหตุที่ระงับการเผยแพร่ข้อมูลด้วย ขณะเดียวกันพลเมืองต้องมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ คือ ต้องมีความคิดวิพากษ์กับข้อมูลและสื่อที่ได้รับ แม้ว่าข้อมูลที่เห็นจะมาจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือก็ตาม”
คุณเฟรดเดอริค ได้แลกเปลี่ยนถึงความสำคัญของทักษะของนักสื่อสารอาชีพว่า “ในหลายปีก่อน ผู้คนต่างคิดว่าโลกไม่จำเป็นต้องมีอาชีพนักข่าวอีกต่อไป เพราะทุกคนเป็นสื่อได้เอง อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่ทำให้เห็นความสำคัญของนักข่าวอาชีพ ที่สามารถรายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา สืบค้นและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำเสนอความจริงต่อสังคม กลับมามีบทบาทอีกครั้ง”
รู้เท่าทัน ด้วยประสบการณ์ ผ่านมุมมองผู้ดูแล
ดร. สุนทรีย์ ส่งเสริม สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เล่าถึงบทบาทของกระทรวงดิจิทัลฯ ในการผลักดันการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศไทย นั่นรวมถึงการส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัลให้กับประชาชน เยาวชน ผู้สูงวัยและผู้ด้อยโอกาส ผ่านกรอบในการพัฒนาองค์ความรู้ คือ 1. การเข้าใจดิจิทัล 2. การใช้งานดิจิทัล 3. ทักษะในการใช้งานสื่อดิจิทัล และ 4. การใช้เครื่องมือและการปรับเปลี่ยนสู่โลกดิจิทัล ควบคู่ไปกับการส่งเสริมประสบการณ์รู้เท่าทันสื่อให้กับประชาชน ซึ่งนับเป็นทักษะที่สำคัญในการตั้งคำถาม ตรวจสอบมีวิจารณญาณในการจำแนกข้อมูลข่าวสาร และรู้เท่าทันสื่อต่อไป
ในโลกยุคไซเบอร์ นักสื่อสารอาชีพไม่ได้มีบทบาทลดลง เพียงแต่พวกเขาเปลี่ยนพื้นที่บริการ ขณะเดียวกันก็ยังคงต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานการสื่อสารไว้ ความน่าเชื่อถือและคุณภาพของข้อมูลข่าวสารจึงเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมเชื่อมั่น ติดตาม และรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาได้
จากผู้เสพสู่ผู้สร้าง จริยธรรมของผู้ผลิตเนื้อหา
ปรีนุช ประมูลกิจ หรือคุณปีโป้ เจ้าของเพจ Pipo D.I.Y. เล่าในฐานะผู้ผลิตสื่อ ว่าผู้ผลิตต้องมีความรับผิดชอบตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต คือ ผลิตสื่อที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่ส่งต่อข้อความที่เป็นเท็จ ไม่พาดพิงถึงบุคคลอื่น รวมถึงความน่าเชื่อถือ หลักการนี้นำไปสู่การตอบสนองต่อกรณีที่เป็นกระแสสังคม ที่ยังมีความผันผวนและมีข้อมูลใหม่อยู่เสมอ ผู้ผลิตควรระมัดระวังการเผยแพร่ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมันในสังคมด้วย
ในรายละเอียดของการผลิตสื่อ ผู้ผลิตเองต้องวิเคราะห์ข้อมูลอย่างชัดเจน ประเมินความน่าเชื่อถือและผลกระทบที่อาจเกิดกับสังคม โดยต้องศึกษาหาข้อมูลให้หลากหลาย ประกอบกับประสบการณ์ส่วนตัว เพื่อให้สื่อถูกนำเสนออย่างรอบด้าน
โลกเสมือนและการกำกับดูแล
จิรวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว ผู้จัดการฝ่ายนโยบายและความสัมพันธ์ภาครัฐ บริษัท กูเกิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด เล่าถึงข่าวลวงและข้อมูลบิดเบือนผ่านภาพเรือไททานิค แม้ข่าวลวงจะเป็นเรื่องเก่าในโลกใหม่ แต่ด้วยขนาดข้อมูลที่มีอยู่มหาศาลทำให้ต้องออกแบบกลไกการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ เปรียบเทียบข่าวลวงกับเรือไททานิค ครั้งแรกเมื่อเรือชน ผู้โดยสารแทบจะไม่รู้อะไรมากไปกว่าเรือชน แต่จากนั้นไม่นาน มีคนบอกว่าเรือจะล่ม เราจะเรียกว่าสิ่งนั้นเป็นข่าวลวงได้หรือไม่? ก็อาจจะเร็วไปที่จะยืนยัน จนกระทั่งเมื่อตรวจสอบและมีข้อมูลมากขึ้นทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนไป แต่คำถามสำคัญคือเราจะรับมืออย่างไรและจัดการกับความตระหนกได้ยังไง?
“ทุก 1 นาทีที่เราคุยกัน มีวิดีโอความยาวกว่า 400 ชั่วโมงถูกอัพโหลดลงบนยูทูป”
กูเกิ้ล เป็นแพลตฟอร์ม เป็นพื้นที่สร้างโอกาสและเสริมศักยภาพให้คนธรรมดาเป็นคนสำคัญ อย่างไรก็ตามกูเกิ้ล ให้พื้นที่และนำข้อมูลมาบริหารจัดการให้ผู้ใช้เข้าถึงได้ แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของเนื้อหาหรือคอนเทนต์ โจทย์ของแพลตฟอร์มคือการทำให้คนเข้าถึงข้อมูลและใช้ประโยชน์ต่อได้ โดยกำหนดกติกาการใช้พื้นที่ (Community Guidelines) ป้องกันและดูแลไม่ให้เกิดข้อความที่สร้างความเกลียดชัง ความแตกแยก หรือการใช้ความรุนแรง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่บวกกับความเร็วของอินเตอร์เน็ตที่พัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้การแก้ปัญหาและรับมือต้องไปไกลกว่ากลไกส่วนตัว
อย่างไรก็ตาม กูเกิ้ลมีข้อจำกัดในการตรวจสอบข้อมูลเช่นกัน กูเกิ้ลจึงพัฒนากลไกพิเศษ (Feature) เพื่อให้ผู้ใช้ได้ช่วยกันตรวจสอบข้อมูล เพราะเราเชื่อว่าเราไม่ใช่ผู้ผูกขาดความจริง ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การทำงานร่วมกับผู้รู้จากสาขาต่างๆ อย่างนักข่าว นักสื่อสารมวลชน ในการเสริมทักษะ และเสนอข้อเท็จจริง ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้ ผู้ชม ขณะเดียวกันหากมีการถอดเนื้อหาที่ละเมิดกติกาของแพลตฟอร์มออก ต้องชี้แจงถึงสาเหตุที่ถอดคอนเทนต์ด้วย เพื่อเป็นการสร้างการเรียนรู้ให้กับสังคม
ในมิติอื่นๆ กูเกิ้ลทำแพลตฟอร์มกูเกิลนิวส์เพื่อส่งเสริมนักข่าวที่ตั้งใจและมีจริยธรรมให้ทำหน้าที่ต่อไปและประสบความสำเร็จ ควบคู่กับการให้ความรู้ผู้ใช้สื่อ ผ่านการจัดประเภทข้อมูลว่ามีข้อมูลลักษณะใดบ้าง
รู้จักข้อมูล รู้เท่าทันสื่อและดิจิทัล
ข่าวลวงและข้อมูลบิดเบือนมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น ข้อมูลถูกส่งต่ออย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เราจึงจำเป็นต้องพัฒนาและเสริมทักษะในการรู้เท่าทันสื่อและดิจิทัล ซึ่งควรต้องเข้าในลักษณะของข้อมูลทั้งในแนวดิ่ง (เชิงคุณภาพ) และแนวกว้าง (เชิงปริมาณ) ตรวจสอบทั้งสองแนวควบคู่กันไป ขณะที่นักสื่อสารอาชีพต้องคำนึงถึงความน่าเชื่อถือ ป้องกันความผิดพลาดจากการนำเสนอข้อมูล และต้องมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นที่นำเสนอ ประกอบกับทักษะและเทคนิคการนำเสนอให้น่าติดตาม เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเช่นกัน
ฉลาดรู้ดิจิทัลสู่ชีวีมีสุขในยุคไซเบอร์
ความฉลาดรู้ทางดิจิทัล (Digital Literacy/Digital Quotient) ครอบคลุมมากกว่าการตรวจสอบข่าวลวงหรือข้อมูลบิดเบือน แต่รวมไปถึงความเข้าใจสิทธิส่วนตัว สามารถแยกแยะข้อมูลได้ เข้าใจถึงผลกระทบจาก Digital Footprints ทักษะเหล่านี้ทำให้ผู้ใช้สื่อเข้าใจสภาวะของโลกออนไลน์ และมีความรับผิดชอบบนโลกออนไลน์[1] ขณะเดียวกันสามารถวิเคราะห์และแยกแยะสื่อได้และส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันในสังคม เพื่อสร้างชีวีมีสุขในยุคไซเบอร์ร่วมกัน
[1] Digital Intelligence Quotient (DQ) หรือ ทักษะความฉลาดทางดิจิทัล ประกอบด้วย 8 ทักษะ ได้แก่ 1. เข้าใจสิทธิส่วนตัว – รู้จักความเป็นส่วนตัวว่าเป็นสิทธิมนุษยชน และเป็นสิทธิอย่างหนึ่งของเด็กในการปกป้องข้อมูลส่วนตัว 2. คิดเป็น แยกแยะได้ว่าข้อมูลข่าวสารไหนถูกต้องหรือผิด มีประโยชน์หรือให้โทษ เชื่อถือได้หรือน่าสงสัย 3. รู้จัก Digital Footprints – ข้อความ รูปภาพ หรือสิ่งใดก็ตามที่เคยถูกโพสต์ลงไปแล้ว แม้ว่าผู้ใช้จะลบไปก็จะยังอยู่ในระบบ และอาจส่งผลในอนาคต 4. ใจเขาใจเรา – เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น ไม่ด่วนตัดสินกัน 5. ท่องเน็ตอย่างปลอดภัย – รู้วิธีป้องกันข้อมูลตัวเอง สังเกตและจัดการกับ spam, scam และ phishing 6. รู้ว่าเมื่อถูกแกล้งหรือใส่ร้ายออนไลน์จะต้องทำอย่างไร 7. ยับยั้งชั่งใจ – ควบคุมเวลาตัวเองเมื่ออยู่หน้าจอ 8. ตัวจริงออนไลน์ – ไม่ปลอมแปลงอัตลักษณ์คนอื่น หรือทำว่าเป็นคนอื่น สุดท้ายคือเป็นตัวของตัวเองนั้นดีที่สุด อ่านเพิ่มเติมที่ What is DQ. AIS. URL: http://www.ais.co.th/networkforthais/DQ.html (เข้าถึงเมื่อ 10 มีนาคม 2563)