DE

IAF
แบ่งปันประสบการณ์จากการอบรมที่เยอรมัน A Replication of IAF Seminar

“อยู่ร่วมกับความต่าง เปิดกว้างทางความคิด” Foundation of Open Societies: Individual Self-Determination and Tolerance
IAF Replication

อยู่ร่วมกับความต่าง เปิดกว้างทางความคิด หรือการอยู่ร่วมกันในสังคมเปิดกว้างเสรี เป็นภารกิจหลักของมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ทั่วโลกคุณวรวรรณ จิรัตนาภิวัฒน์ แห่งมูลนิธิสรรค์สังคม (Development and Innovation on Society and Humanity-DISH) และคุณรจนา อินคง นักวิชาการสิทธิมนุษยชน ชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมุษยชน เป็นผู้ผ่านการอบรม หัวข้อ พื้นฐานของสังคมเปิดกว้างเสรี ความอดทนอดกลั้นและการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง (Foundation of Open Societies: Individual Self-Determination and Tolerance)  ที่ศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติ (International Academy for Leadership – IAF) เมือง Gummersbach ประเทศเยอรมนี หลังจากการอบรมได้มีความคิดที่จะเผยแพร่และส่งต่อ “พื้นฐานของสังคมเปิดกว้างเสรี” ผ่านการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “อยู่ร่วมกับความต่าง เปิดกว้างทางความคิด” ให้กับผู้สนใจในประเทศไทย ทางมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย จึงร่วมจัดหลักสูตรการอบรมระยะสั้น 1 วัน เพื่อเผยแพร่หัวข้อดังกล่าว ในวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา

At this point you will find an external content that complements the content. You can display it with one click.

 “สังคมเปิดคืออะไร?” เริ่มจากการฉายวิดีโอ ผ่านคำถามเรียบง่าย นำไปสู่การชวนคุยถึงคำสำคัญ เช่น สิทธิในสิ่งแวดล้อม ธรรมภิบาล ประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิมนุษยชน ศาสนา เชื้อชาติ และการเชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์ของทั้งวิทยากรและผู้เข้าร่วม

Open Societies

บันทึกการพูดคุยประเด็นอยู่ร่วมกับความต่าง เปิดกว้างทางความคิด

สังคมเปิดในมิติต่างๆ

ในการอบรมมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสังคมเปิดใน 4 มิติ คือ มิติการเมือง มิติวัฒนธรรม มิติเศรษฐกิจ และมิติสังคม ซึ่งการสร้างสังคมเปิดในแต่ละมิติล้วนสอดคล้อง เชื่อมโยงกับมิติอื่น ๆ ในด้านการเมือง สังคมเปิดกว้างเสรีจะสนับสนุนหลักนิติธรรม และประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ซึ่งหนุนเสริมเสรีภาพในการแสดงออก ธรรมาภิบาล อันส่งผลต่อการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ การมีกฎหมายที่เป็นธรรม บังคับใช้อย่างเท่าเทียมมีส่วนในการส่งเสริมตลาดเสรีและกระจายความเท่าเทียมไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ตามกลไกตลาด ส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคมและสังคมเคารพสิทธิมนุษยชนที่จะยอมรับในความหลากหลาย

Open Societies

บันทึกคุณค่าของสังคมเปิด และบทเรียนจากเยอรมนี

ถอดบทเรียนจากเยอรมนี

ประเทศเยอรมนีถูกใช้เป็นกรณีศึกษาในการส่งเสริมสังคมเปิดผ่านการวิเคราะห์จาก 5 มุมมอง ได้แก่ มุมมองการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี คือ การใช้เทคโนโลยีในการอำนวยความสะดวก ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านสิ่งแวดล้อม คือ มีการส่งเสริมเด็กและเยาวชนเห็นคุณค่าและความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ด้านการบริหารประเทศ คือ มีกลไกในการตรวจสอบการทำงาน ความรับผิดชอบและมีธรรมาภิบาล รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของปัจเจกในทางการเมือง ด้านการศึกษา ประเทศเยอรมนีเน้นการจัดกระบวนการเรียนรู้ ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง รวมถึงสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีมุมมองทางด้านคุณค่าที่ได้รับการปลูกฝัง ทั้งการยอมรับความเห็นต่าง การเคารพสิทธิมนุษยชน รวมถึงการเคารพการตัดสินใจของปัจเจก เหล่านี้เป็นชิ้นส่วนที่ประกอบเข้าเป็นสู่สังคมเปิดในเยอรมนี

Open Societies

บรรยากาศระหว่างการแบ่งกลุ่ม พูดคุยและสร้างสรรค์สังคมเปิด

ข้อท้าทายของสังคมเปิด

ในสังคมเปิดที่ให้ความสำคัญกับความเห็นต่าง การเคารพ และอยู่ร่วมกัน อย่างไรก็ดีสังคมยังคงต้องเผชิญข้อท้าทาย อย่างการแพร่กระจายของข่าวลวงข่าวปลอม การก่อการร้าย คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง (ประทุษวาจา/เฮทสปีช) หรือการกลั่นแกล้งออนไลน์ เป็นส่วนหนึ่งของประเด็นพูดคุยเกี่ยวกับสังคมเปิด

ร่วมกันสร้างสังคมเปิด

หลังจากฉายภาพสังคมเปิดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการอบรม คุณวรวรรณ และคุณรจนา ได้ให้ผู้เข้าร่วมอบรมแบ่งกลุ่มเพื่อพูดคุยถึงแนวทางการสร้างสังคมเปิดในหลากมุมมอง

          การศึกษา ต้องการเห็นภาพความเท่าเทียมในโอกาสทางการศึกษาสำหรับบุคคลบางกลุ่ม นอกจากนี้การปรับทัศนคติและมุมมองต่อการศึกษายังเป็นส่วนที่ผู้เข้าร่วมอยากเห็น นอกจากจะผลักดันให้รัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา อาจมีการจัดตั้งกลุ่มโดยภาคประชาสังคมในการให้ความรู้และส่งเสริมการศึกษาควบคู่กันไป

          การเมือง ผู้เข้าร่วมสะท้อนถึงความรับผิดชอบและการตรวจสอบได้ของหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงการคำนึงถึงประโยชน์ส่วนร่วม และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยได้เสนอแนวทางในการก้าวสู่สังคมเปิดกว้างทางการเมือง ว่าต้องเกิดจากการเคารพซึ่งกันและกัน และเริ่มต้นจากการปลูกฝังเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของพลเมือง

          เศรษฐกิจ ภาพความเป็นผู้ประกอบการเป็นภาพที่ผู้เข้าร่วมอยากเห็นมากที่สุด โดยต้องได้รับการสนับสนุนทั้งด้านนโยบาย โอกาส และการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาดเสรี นอกจากนี้ความรับผิดชอบต่อสังคมยังเป็นภาพที่อยากเห็นในสังคมเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ ภาพเหล่านี้ต้องอาศัยการสนับสนุนจากนโยบายจากภาครัฐ ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

          สังคม/สิ่งแวดล้อม การยอมรับความหลากหลายในสังคมเป็นภาพที่ได้รับการลงคะแนนมากที่สุด ภาพการยอมรับ การไม่เลือกปฏิบัติ รวมไปถึงการเข้าถึงสิทธิและบริการต่างๆ อย่างมีคุณภาพ เป็นสิ่งที่ผู้เข้าร่วมอยากเห็นในสังคมเปิด สิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ภาพฝันสังคมเปิด คือการเปิดใจรับฟังความต่าง สร้างความเข้าใจถึงความแตกต่าง และการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม

          วัฒนธรรม/ศาสนา ผู้เข้าร่วมต้องการเห็นความแตกต่างหลากหลาย การยอมรับความแตกต่าง และเคารพในความเห็นของผู้อื่น เพื่อสร้างสังคมเปิดกว้างและสันติภาพ โดยแนวทางที่นำเสนอคือการเปิดใจยอมรับ ไม่ปิดกั้น ยอมรับนับถือในความแตกต่าง และในความเห็นของผู้อื่น

มิติเหล่านี้เป็นฟันเฟืองสู่การสร้างสังคมเปิด แต่ละส่วนล้วนประกอบเข้าด้วยกันและส่งผลต่อกันและกัน การเปิดใจรับฟัง การอดทนอดกลั้น ยอมรับและเคารพในความแตกต่าหลากหลาย เป็นพื้นฐานของสังคมเปิด