DE

บทเพลงคือตัวตนของคุณ

Living Freedom webinar

Resse Lansangan กลายเป็นที่รู้จักและถูกกล่าวถึงจากหลายสื่อ หลังจากองค์กร NASA นำเเพลง A Song About Space ที่เธอแต่งไปใช้ในแคมเปญล่าสุด ท่อนหนึ่งจากเพลง A Song About Space เขียนว่า แหวกว่ายอยู่ในกาแลกซี่ของเธอเอง (Swimming inside her own galaxy) บทเพลงและมิวสิกวิดีโอของนักร้องเพลงอินดี้ ป๊อป-โฟล์ค ชาวฟิลิปปินส์ วัย 28 ปี พอจะบอกเราได้ว่าเธอเป็นคนเบิกบานและไม่กลัวที่จะใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการ

แต่เธอก็เล่าประสบการณ์ที่ศิลปินต้องเจอกับความคาดหวังจากสังคม ในฐานะผู้หญิง “เราอยู่ภายใต้ความเชื่อว่าการเป็นผู้หญิงต้องดูดีและเพอร์เฟคตลอดเวลา” เธอเล่า และความรู้สึกนี้เองผลักดันให้เธอเขียนเพลง Tenderfoot

I was told to love my body

ทุกคนต่างบอกฉันว่าให้ฉันรักร่างกายของฉัน

‘Cause it’s the only one that I’ll ever get

เพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่เราต่างมี

No, it’s not what people see

ไม่หรอก มันไม่ใช่อย่างที่ทุกคนมองเห็น

It is in the mind inside of me that weighs me down

แต่มันอยู่ในจิตใจ และทำให้ฉันตัวเล็กลง เล็กลง

So each day I’ll try to do it better

ดังนั้น ฉันจะพยายามต่อไปให้มันดีขึ้นไปในแต่ละวัน

“มันทำให้เราโอบรับความเป็นตัวเรา และชื่นชมความเป็นปัจเจก” เธอกล่าว “ฉันรักที่จะเขียนเรื่องราวที่เป็นฉันจริงๆ ฉันอยากมีความกล้าที่จะเล่าเรื่องราวของฉันออกไปให้คนอื่นๆ ได้ฟัง” Reese กล่าวเสริม

Reese Lansangan
© reeseypeasy / Reese Lansagan IG

คว้าโอกาส เพื่อส่งต่อโอกาส

Reese เข้าร่วมค่ายเวิร์คชอปแต่งเพลงเมื่อปี 2013 เธอเขียนว่า ก่อนหน้านี้ฉันเป็นเพียงเด็กหญิงที่เขียนเพลงต่างๆ ในห้องนอน การมาอยู่ในค่ายแต่งเพลงทำให้ฉันรู้จักเครื่องมือและทำให้ฉันเห็นว่าการทำเพลงมันเป็นอาชีพได้ ฉันได้ทำสิ่งที่ฉันรักจริงๆ ถ้าหากตอนนั้นฉันกลัวจนไม่กล้าลองทำอะไร ฉันคิดว่าฉันคงไม่ได้มาอยู่ตรงนี้...

เจ็ดปีต่อมา Reese กลับมาเป็น mentor ในค่ายแต่งเพลง ร่วมกับเหล่า mentor ที่เคยดูแลเธอ

“บทเพลงจะอยู่กับเราตลอดเวลา มันช่วยให้อธิบายเรื่องยากให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น” Reese บอก “แม้ว่าเราจะเขียนเรื่องส่วนตัวมากๆ แต่หากเรากล้าที่จะเขียนและเล่ามันให้คนอื่นฟัง มันอาจกลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกได้ อย่าสงสัยกับความสามารถของคุณ เขียนมันอย่างที่คุณอยากเขียนเลย” เป็นคำแนะนำจาก Reese

Eurovision แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การประกวดแต่งเพลง Living Freedom เป็นการประกวดแต่งเพลงระดับภูมิภาค เปรียบเหมือนการประกวดแต่งเพลง Eurovision แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมูลนิธิฟรีดริช เนามัน  (FNF) ทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเมียนมา จัดการประกวดแต่งเพลง Living Freedom ร่วมกัน “เรามักจะพูดถึงเสรีภาพผ่านมุมมองและน้ำเสียงแบบวิชาการ แต่เราอยากเข้าถึงผู้คนที่หลากหลายและอยากรู้ว่าเสรีภาพ-อิสรภาพมีความหมายกับพวกเขาอย่างไร จึงเกิดเป็น Living Freedom” Frederic Spohr หัวหน้าสำนักงานประเทศไทยและเมียนมา เล่า

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2020 มีกิจกรรม Music, Lyrics and Freedom เว็บบินาร์ ที่รวบรวมศิลปิน กรรมการ เมนเทอร์ 7 คน ในภูมิภาค มาบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบทบาทของเพลงและดนตรีในการแสดงออกถึงเสรีภาพที่สื่อถึงกันได้ทั่วโลก

Myint Moe Aung นักแต่งเพลงจากเมียนมา เล่าถึงการต่อสู้เพื่อเอกราชจากเจ้าอาณานิคมและจากอำนาจเผด็จการ เขาบอกว่าบทเพลงนั้นมีบทบาทมาโดยตลอดในการเคลื่อนไหวของชาวเมียนมา จากการถูกกดทับและถูกจำกัดการแสดงความคิดเห็นทำให้ป่ากลายเป็นที่เดียวที่พวกเขาจะเขียนเพลงได้ ในเหตุการณ์ 8888 เมื่อปี 1988 สายใยที่เชื่อมร้อยเหล่าผู้ชุมนุมต่อต้านเผด็จการทหาร คือ บทเพลง Kabar Mayay Bu (เราจะไม่พึงพอใจจนกว่าโลกจะสิ้นสลาย)

ก่อนเกิดเหตุการณ์ 8888 มีการปฏิวัติพลังประชาชน (People Power Revolution) ในประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปี 1986 “บทเพลงกลายเป็นที่มาของแรงบันดาลใจและความกล้าหาญ บทเพลงทำให้ผู้คนเห็นแสงสว่างในการต่อต้านและต่อสู้เพื่อโค่นล้มเผด็จการ” Noel Cabangon กล่าว เพลง Bayan Ko (ประเทศของฉัน) กลายเป็นเพลงปลุกใจสำหรับชาวฟิลลิปปินส์ และแม้ว่าตอนนี้ฟิลิปปินส์จะพบกับภัยคุกคามประชาธิปไตยแต่บทเพลง Bayan Ko ยังคงย้ำเตือนพวกเขาไม่ให้อ่อนข้อ และไม่ให้ประวัติศาสตร์ต้องซ้ำรอย

เพลงที่ใช่ เนื้อที่ชอบ

Amylea นักดนตรีจากมาเลเซีย บอกว่าเพลง Eternal Flame เป็นเพลงโปรดของเธอ “แม่ชอบร้องเพลงนี้ให้ฉันฟัง และมันก็เป็นความทรงจำที่แสนวิเศษ แม้ว่าตอนนั้นฉันไม่รู้ความหมายของเพลงนั้นเลยแม้แต่นิดเดียว” Amylea เผย “บทเพลงนั้นสะท้อนความรู้สึกอย่างแท้จริงและจริงใจ เพลงเป็นมนต์วิเศษ จับใจ และเข้าถึงจิตวิญญาณ” เธอเล่า

คุณเหวิน เรืองกิจ โปรดิวเซอร์เพลงชาวไทย เชิญชวนและแนะนำว่าอย่าแค่แต่งเพลงตามกระแส “กุญแจที่จะนำเพลงประสบความสำคัญคือเขียนเรื่องราวของคุณ และถ่ายทอดมันออกมาเป็นบทเพลง บทเพลงโน้มน้าวให้คนคล้อยตามและเชื่อเรื่องที่เราเล่า” เขากล่าว

Rena Gaudiamo นักร้องชาวอินโดนีเซีย ชวนผู้สนใจให้ติดตามประเด็นสังคมที่อยากถ่ายทอด “ศึกษา อ่าน ตั้งคำถาม และทำมันให้สุดหัวใจ” เธอให้กำลังใจ

Jungee Marcelo นักแต่งเพลงชาวฟิลิปปินส์บอกทิปส์ปิดท้าย “ผมแนะนำให้คุณให้ความสำคัญทั้งรูปแบบและเนื้อหา จะเรียนทฤษฎี หรือจะเรียนเล่นดนตรีก็ได้” เขาแนะนำ “ทำเดโม่ของคุณให้ดีที่สุด กรรมการจะชอบเพลงที่พวกเขาสามารถฟังเสียงและรับรู้เนื้อหาได้อย่างเต็มที่ และระวังเสียงแทรกที่จะส่งผลต่อการอัดเดโมของคุณ” เขากล่าว

การประกวดแต่งเพลง Living Freedom พาศิลปินที่ชนะการแสดงในระดับประเทศไปแสดงสดร่วมกันที่กรุงมะนิลา (ประเทศฟิลิปปินส์) ศิลปินที่ชนะรางวัลภูมิภาคจะได้ไปเยือนประเทศเยอรมนี