เรียนรู้การจัดการความขัดแย้ง กับเกม PeaceSoCracy
เกม PeaceSoCracy มาจากคำว่า Peaceful Society in Democracy เป็นนวัตกรรมการเรียนรู้เกิดจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิฟรีดริช เนามัน สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า โดยมีวัตถุประสงค์สร้างการมีส่วนร่วมและกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เกิดจากแนวคิดของหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข (4ส.) ของสถาบันพระปกเกล้าที่สะท้อนให้เห็นภาพของการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมที่มีความแตกต่างและหลากหลาย และเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นเราจะมีวิธีคิดและวิธีการจัดการกับความขัดแย้งเพื่อให้เกิดการเสริมสร้างสังคมสันติสุขได้อย่างไร จึงเริ่มมีการพูดคุยกันตั้งแต่ปี 2559 และพัฒนาได้รูปแบบเกมในปี 2560 นำมาผลิตรุ่นทดลองในปี 2561 เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้เล่นจริงก่อนที่จะผลิตออกมาเป็นเกมที่สมบูรณ์แบบ
เกม PeaceSoCracy เป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ได้รับการออกแบบเพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ผ่านการสวมบทบาทสมมติซึ่งมีทั้ง ข้าราชการ นักการเมือง นักวิชาการ นักกฎหมาย นักธุรกิจ เจ้าหน้าที่ความมั่นคง นักกิจกรรมสังคม ผู้นำศาสนา และคู่ขัดแย้ง ผ่านวิธีการเล่น 4 ช่วง ได้แก่ช่วงแรกเป็นการสืบค้นเรื่องราวเพื่อค้นหาความต้องการของคู่ขัดแย้ง ช่วงที่สองเป็นการนำเสนอทางออกของผู้เล่นที่สวมบทบาทสมมุติตามที่ผู้เล่นได้รับหากไม่มีตัวละครเข้ากับเรื่องราวผู้เล่นสามารถเลือกการ์ด “คนนิรนาม” โดยคิดตัวละครที่เหมาะสมพร้อมบทบาทและหน้าที่ขึ้นมาใหม่ได้ ช่วงที่สามจะเป็นช่วงที่ค้นพบทางแก้ไขปัญหา และนำไปสู่การนับคะแนนในช่วงสุดท้าย
ในช่วงแรกผู้เล่นจะต้องเลือกปรากฏการณ์ หรือสถานการณ์ความขัดแย้ง ซึ่งมีทั้งหมด 15เรื่อง โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับบุคคล / ครอบครัว จำนวน 5 เรื่อง ระดับชุมชน / ประเทศ จำนวน 5 เรื่องระดับระหว่างประเทศ จำนวน 5 เรื่อง ซึ่งผู้ออกแบบได้นำปรากการณืที่เกิดขึ้นจริงมาจำลองลงในเกม เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ปัญหาร่วมกันผ่านบทบาทสมมุติในช่วงที่สอง แต่ละคนมีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกันต้องมาทำการสืบค้นความต้องการของคู่ขัดแย้งร่วมกันผ่านการ์ดสืบค้น มีทั้งหมด 12 แบบ รวม 32 ใบ เมื่อถึงตาของตนเอง ผู้เล่นเลือกใช้การ์ดสืบค้น 1 ใบจากที่เปิดไว้ หรือจะเลือกใบบนสุดจากกองกลางที่คว่ำไว้ก็ได้ และทำตามที่การ์ดนั้น ๆ ระบุไว้เพื่อทำการสืบค้นความต้องการของคู่ขัดแย้งอันนำไปสู่ช่วงการนำเสนอทางออก ผู้เล่นทุกคนร่วมเสนอทางออกจากความขัดแย้งคนละ 1 แนวทางโดยผู้ที่นำเสนอสองคนแรกจะได้คะแนนหัวใจเพิ่ม ถ้าผู้เล่นนำเสนอแนวทางที่สอดคล้องกับลักษณะการ์ดตัวละครของตนก็จะได้คะแนนหัวใจเพิ่มอีก 1 คะแนน
เกมนี้สะท้อนให้เห็นว่าความขัดแย้งเกิดขึ้นได้เสมอและมีให้เห็นได้ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นในระดับบุคคล ครอบครัว สถาบัน องค์กร หน่วยงาน ชุมชน หรือแม้แต่ในระดับประเทศ และประเด็นของความขัดแย้งก็มีความหลากหลาย เมื่อความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่เราต้องพบเจอ เราจะจัดการกับความขัดแย้งนั้นอย่างไรเพื่อให้ได้ทางออกที่ยอมรับได้และเป็นไปตามความต้องการลึก ๆ ของคู่ขัดแย้งนั้น และความขัดแย้งก็เป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย กระบวนการพูดคุยของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อค้นหาความต้องการที่แท้จริง จะสามารถนำไปสู่การเสนอทางออกของความขัดแย้งได้ ผู้สนใจนำเกม PeaceSoCracy ไปใช้เพื่อเสริมสร้างสังคมสันติสุข หรือจัดการความขัดแย้งในพื้นที่ ผ่านการสวมบทบาทสมมติ สามารถติดต่อได้ที่ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน โทร. 02-0952740-3 หรือ อีเมล Thailand@fnst.org
จาก คอลัมน์ เป็นเรื่องเป็นราว หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 23 กันยายน 2562