DE

เสวนานักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 5 จากความเหลื่อมล้ำสู่ความเป็นธรรมยุคดิจิทัล

Digital, Disinformation, Misinformation

วิทยากร ผู้จัด และผู้เข้าร่วมสานเสวนานัดคิดดิจิทัล ครั้งที่ 5

เสวนา Digital Thinkers Forum#5   ชี้โลกยุคดิจิทัลกำลังทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นหากจัดการไม่ดีเพียงพอ ต้องทำให้เทคโนโลยีรับใช้มนุษย์ จี้ภาครัฐต้องไม่ทิ้งคนชายขอบไว้ข้างหลัง

หน่วยงานวิชาการ เอกชนและประชาสังคมได้แก่ สสส.,ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ,Ashoka Thailand, ChangeFusion, Center for Humanitarian Dialogue (CHD) และ Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF)  ร่วมจัดเวที สานเสวนา นักคิดดิจิทัล Digital Thinkers Forum#5 “จากความเหลื่อมล้ำสู่ความเป็นธรรมยุคดิจิทัล เรากำลังทิ้งใครไว้ข้างหลัง เมื่อ11 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ความรู้ด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ (TCDC) 

เวทีเริ่มด้วย .ดร.กาญจนา กาญจนสุต  จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กล่าวถึง การเข้าถึง (access)  ความเหลื่อมล้ำ (universal access)   กับความเป็นธรรม  (equity) ในโลกดิจิทัล  โดยเล่าย้อนถึงพัฒนาการของการเกิดอินเตอร์เน็ต  เมื่อปีค.ศ. 1958 ที่มีการพัฒนาจาก modem เปลี่ยนสัญญาณอนาล็อคเป็นดิจิทัลนับได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของโลกดิจิทัล ปี 1968 เกิดอินเตอร์เน็ต ซึ่งได้ขยายสู่การให้บริการเชิงพานิชย์ จนเกิดกระแสเปลี่ยนแปลงโลกเมื่อ กลายมาเป็นยุคดิจิทัล  นับว่าใช้เวลากว่า 60 ปี  การขยายตัวของอินเตอร์เน็ตไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำหลายมิติตามมาด้วย

“อินเตอร์เน็ตเข้ามาในไทยเมื่อสัก 30 ปีที่แล้ว พัฒนามาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นบริการและการค้าเชิงพานิชย์ แต่ยังมีปัญหา digital divide หลายเรื่อง ทั้งในแง่โครงข่ายสัญญาณที่ไม่ครอบคลุมจากข้อจำกัดเช่นพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร คนกลุ่มหนึ่งไม่มีกำลังซื้อ หรือคนยังมองไม่เห็นและไม่เห็นคุณค่า อีกทั้งบางครั้งยังมีอุปสรรคจำเพาะของแต่ละบุคคลที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้ อาทิ ความพิการและภาษา 

ในระดับสากลนั้นมีความพยายามผลักดันให้ผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารทำให้คนพิการเข้าถึงและใช้อินเตอร์เน็ตได้ แต่ปัญหาภาษาท้องถิ่นที่ไม่ใช่อังกฤษ เจ้าของ platform ใหญ่ต่าง ๆ และนักพัฒนาระบบก็ยังยังไม่ให้ความสำคัญเพียงพอ ที่ห้องปฏิบัติการ Interlab ของ AIT ได้พัฒนา platform และ App เพื่อการแชร์ทรัพยากรในชุมชนเป็นภาษาไทย เพื่อสร้างเทคโนโลยีเป็นของคนไทยเอง ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ก็ไม่ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ”

ศ.ดร.กาญจนากล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ปัญหาการเข้าถึง และ ความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม  เราอาจจะมองอินเตอร์เน็ต เป็นสองระดับ คือ applicationและโครงสร้างพื้นฐาน  ประชาคมอินเทอร์เน็ตสากลต้องการความเท่าเทียมกันโดยมีการผลักดัน Net Neutrality แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ของโลกเขาสามารถลากสายสร้างโครงข่ายของตนเองได้ ในที่สุดรายเล็กๆก็เกิดยากหรืออยู่ยาก  โลกกลับไปสู่ภาพคล้ายสมัยโทรคมนาคมเก่าๆ  ประเทศอย่างเราอยู่ในสภาพเสียเปรียบเพราะการแข่งขันและผลตอบแทนทางธุรกิจทำให้ไม่เกิดการร่วมมือกันพัฒนา กำลังต่อรองระดับสากลของเราจึงด้อย  เราควรโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน สนับสนุนการสร้าง application แพล็ตฟอร์ม เพื่อให้คนไทยเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตและดิจิทัลต่าง ๆ อย่างเท่าเทียม

นักวิชาการที่มีสมญาถูกเรียกขานว่าเป็น “มารดาแห่งอินเตอร์เน็ต”ของไทย กล่าวทิ้งท้ายให้ชวนคิดว่า จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น  แล้วหากเรายังจะมุ่งสู่สังคม Digital  เราจะกำหนดให้ Digital เป็นทางเลือกเดียวไหม จะมีที่ยืนให้ผู้ปฏิเสธเทคโนโลยีไหม ในการเติบโตของโลกดิจิทัลก็ทำให้สิทธิมนุษยชนพื้นฐานโดนลิดรอนซึ่งเราจะยอมรับได้หรือไม่  และเทคโนโลยีเป็นผู้กำหนดสังคมมนุษย์  หรือสังคมมนุษย์ควรเลือกเทคโนโลยีมาทำหน้าที่รับใช้?

Digital, Disinformation, Misinformation

บรรยากาศก่อนนำสู่เวทีเสวนา จากความเหลื่อมล้ำสู่ความเป็นธรรมยุคดิจิทัล เรากำลังทิ้งใครไว้ข้างหลัง

จากนั้นเป็นเวทีการเสวนาในหัวข้อ  จากความเหลื่อมล้ำสู่ความเป็นธรรมยุคดิจิทัล  เรากำลังทิ้งใครไว้ข้างหลัง มีวิทยากรหลากหลายหน่วยงานร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  วรพจน์  วงศ์กิจรุ่งเรือง  นักวิจัยอิสระด้านสื่อและโทรคมนาคม กล่าวถึง Digital divide ว่าครอบคลุมหลายประเด็น ตั้งแต่ปัญหาการเข้าถึงโครงข่ายอินเตอร์เน็ตและบริการที่เกี่ยวข้อง   ช่องว่างความแตกต่างระหว่างคนมี/ไม่มี ทักษะในการใช้ประโยชน์เพื่อการเรียนรู้  อุปสรรคระหว่างผู้ออกแบบกับผู้ใช้งานในระบบดิจิทัลและช่องว่างด้านอื่นๆ เช่น วัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ  เมื่อสรุปผลการรวบรวมข้อมูลติดตามนโยบายภาครัฐเกี่ยวกับดิจิทัล พบว่าหน่วยงานราชการและรัฐบาลไทย มีนโยบายหลายด้าน เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ต แต่หลายนโยบายยังไม่ประสบความสำเร็จ

“ไทยมียุทธศาสตร์ชาติ  20 ปี โยงไปถึงการมีนโยบายเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตมากมาย โดยเฉพาะการเข้าถึงของคนชายขอบในที่ห่างไกล  โดยมีสองหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลได้แก่กสทช. (เปิดให้เอกชนประมูล)และกระทรวงดิจิทัลฯ (ให้TOTดำเนินการติดตั้ง โครงข่ายอินเตอร์เน็ต โดยไม่ผ่านการประมูล   TOT ถูกวิจารณ์หลายประเด็นทั้งงานเสร็จล่าช้า เมื่อผิดสัญญาก็ไม่มีมาตรการลงโทษระบุความรับผิดชอบ การติดตั้งในพื้นที่ซึ่งใช้เครือข่ายเดิมโดยไม่ลงทุนใหม่ กำหนดดูแลรักษาซ่อมบำรุงโครงข่ายสั้นเพียง 6 เดือน ขณะที่การใช้งานระยะยาวขาดผู้ดูแล อีกทั้งสัญญาก็ระบุว่าโครงข่ายทั้งหมด กรรมสิทธิ์เป็นของ TOT ในขณะที่ฝั่งกสทช. สิทธิยังเป็นของรัฐ)  ดังนั้นแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกัน กสทช.ทำงานได้ดีกว่าในประเด็นนี้   

เรามี Thailand 4.0 มีเรื่อง Smart City  รัฐต้องการเพิ่มการเข้าถึง  เพิ่มความรู้ความเข้าใจให้ใช้ได้ digital literacy  เพิ่มบริการของภาครัฐ   แต่จากข้อมูลที่รวบรวมมา ผมว่ายังสอบตกทั้ง 3 เรื่อง   หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะทำได้ดีกว่านี้  ยังคำนึงเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนและฝ่ายต่าง ๆ น้อยเกินไป มีแต่การเข้าถึงเทคโนโลยี  ด้าน Access ไม่ได้มองว่าเขาควรมีส่วนร่วมทางนโยบาย เชิงการเมืองให้เขามีส่วนร่วมในการออกแบบได้ด้วยตัวเอง”

วรพจน์ ยังมีข้อเสนอว่า กสทช. และกระทรวงดิจิทัลฯ ควรทำงานร่วมกันเพื่อขยายโครงข่ายและส่งเสริมกลไกตลาดโดยคำนึงถึงการเข้าถึงและการใช้งานของคนทุกกลุ่ม ให้ความสำคัญกับการ

เข้าถึงในมิติทางสังคม และเร่งรัดการเรียกคืนคลื่นจากหน่วยงานรัฐมาจัดสรรใหม่โดยเร็ว

กำราบ พานทอง   เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพัฒนา กล่าวว่าจากการทำงานกับเครือข่ายทั้งประมงและเกษตรกร พบว่าอินเตอร์เน็ตมีประโยชน์แต่ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำเข้าไม่ถึง ทำให้เกษตรกรเสียเปรียบหลายประเด็น เช่น การไม่รู้ข้อมูลเท่าทันกลุ่มทุนและผู้เข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายกว่า  หรือต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง และยังมีความเสี่ยงไม่เท่าทันเทคโนโลยี

“รัฐควรใช้เงินงบประมาณให้ชาวบ้านเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้แทนที่จะไปอุดหนุนราคา สอนวิธีใช้และทักษะที่เท่าทันอย่างจริงจัง เหมาะสมกับคนแต่ละกลุ่ม หลักสูตรที่เปิดทั้งหลายตอนนี้ได้กลุ่มเป้าหมายเฉพาะคนชั้นกลาง แต่คนชั้นล่างยังเข้าไม่ถึงเลย  ทำให้ชาวบ้านเขารู้ว่าราคาตลาดตอนนี้ไปถึงไหน รู้ข้อมูลดินฟ้าอากาศที่จำเป็นล่วงหน้า เขาจะได้วางแผนการผลิตได้เหมาะสม ตอนนี้เขาไม่รู้ว่าจะไปดูข้อมูลจากไหน ดูยังไง  ต้องควบคุมราคาแพ็จเกจอินเตอร์เน็ตให้ถูกลงหรือบริการฟรีในพื้นที่ชายขอบห่างไกลให้ชาวบ้านเขาใช้ได้จริง อย่างสะดวกง่ายๆรัฐไม่ได้วางโครงสร้างพื้นฐานให้เกษตรกร คนด้อยโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม เช่นศูนย์เรียนรู้ฯ  ตัวอย่างโครงการชิมช็อปใช้ผมเชื่อว่า ชาวบ้านจำนวนมาก เข้าไม่ถึง เข้าไม่ทันหรอก เพราะไม่มีหน่วยงานฝึกสอนทักษะให้ใช้อินเตอร์เน็ตได้อย่างจริงจัง”

กำราบยังเสนอว่า รัฐบาลต้องวางทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีด้วยมีจริยธรรมและคุณธรรมกำกับด้วย

Digital, Disinformation, Misinformation

อรรคณัฐ   วันทนะสมบัติ  นักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษาฯ กล่าวว่าปัจจุบันนี้ ปัญหาใหญ่ของโลกดิจิตัลและอินเตอร์เน็ตไม่ใช่ปัญหาเรื่องความยากในการเข้าถึงอีกต่อไปแต่หมายถึงคุณภาพการเข้าถึงและใช้ประโยชน์มากกว่า พร้อมยกตัวอย่างกรณีศึกษาวิจัยในจังหวัดเชียงใหม่ 3 กลุ่มธุรกิจที่ใช้ดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือดำเนินธุรกิจคือ การขนส่งสาธารณะ (เมื่อครั้ง Uber ยังเปิดให้บริการ) ที่พักอาศัย(Airbnb) และคนทำงานที่บ้าน (domestic worker) พบว่าดิจิทัลทำให้ผู้อยู่ในธุรกิจเหล่านี้ถูกเอาเปรียบและไร้ข้อต่อรองกับเจ้าของธุรกิจ

“ผมขอใช้คำว่า platform economy ไม่ใช่ sharing  economy   เพราะไม่มีความหมายนัยของการแบ่งปันเลย แต่คือการให้เช่ามากกว่า   ผมอยากให้น้ำหนักกับนโยบายของรัฐมาก จะต้องสร้างมาตรการกำกับดูแลที่จริงจัง  ยกตัวอย่างการขนส่ง เมื่อเรียกรถออนไลน์ได้ มองในมุมผู้โดยสารก็ชอบเพราะมีทางเลือกมากขึ้น แต่ถ้ามองผู้ประกอบการ “รถแดง”เดิมซึ่งเสียเปรียบด้านเทคโนโลยีเขาได้รับผลกระทบเพราะสูญเสียความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ นี่ก็เป็นความเหลื่อมล้ำแบบหนึ่ง  ส่วนคนที่เข้าไปอยู่ในธุรกิจนี้ แม้จะมีรายได้เพิ่ม แต่เขาต้องสูญเสียสภาพความเป็นอิสระต้องถูกควบคุมจากกติกาต่าง ๆ ที่ต่อรองไม่ได้ Platform สร้างความสะดวกสบายมากมาย แต่ควบคุมผู้บริโภคและคนทำงานโดยต่อรองไม่ได้  ให้แรงจูงใจเพื่อดึงคนเข้ามาสู่ระบบ แล้วสร้างเงื่อนไขเพื่อควบคุม ลองสังเกตดูถ้าฝนตก ค่าโดยสารจะแพงขึ้น  มีตัวอย่างคนขับผู้หญิงเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องเอาลูกนั่งรถไปด้วย ร้องขอผู้โดยสารไม่ให้รายงานต้นสังกัดไม่เช่นนั้นเขาจะเสียรายได้ที่ทำมาทั้งอาทิตย์ เป็นต้น  ผลการศึกษาพบว่า  Digital ทำให้เกิด divide เพิ่มมากขึ้น  เกิดการแบ่งแยก เหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมมากขึ้น”

นักวิจัยจากศูนย์แม่โขงศึกษาฯ  ย้ำว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญและทำหน้าที่กำกับการใช้เทคโนโลยีให้เกิดความเป็นธรรมกับคนทุกกลุ่ม เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดความเหลื่อมล้ำแล้วยิ่งสร้างความแตกแยกในสังคมมากขึ้น

ชลนภา อนุกูล  จากสถาบันวิจัยสังคม  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าความเหลื่อมล้ำและการไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีนั้น มีความซับซ้อนเพราะแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งในแง่การใช้ชีวิตและพฤติกรรมการใช้งานที่ไม่เหมือนกัน  ดังนั้นรูปแบบความช่วยเหลือจึงต้องต่างกันด้วย 

“นอกจากความไม่เท่าเทียมด้านโอกาสการเข้าถึงและใช้ประโยชน์แล้ว ยังมีมิติอื่น ๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำทาง gender ด้านเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำไม่ได้มีเฉพาะรายได้ของคนจนคนชายขอบเท่านั้น  แต่ กลุ่มแรงงานนอกระบบ หรือกลุ่มผู้ใช้แรงงานก็พบปัญหามาก  เขาอาจไม่ได้จัดกลุ่มเป็นคนยากจน แต่ก็เป็นคนทำงานที่ยังไม่ร่ำรวย  ดังนั้นเราต้องกลับมาทบทวนเรื่องการปรับระบบการศึกษาที่จะปรับวิธีคิด  ต้องมีโจทย์ทางสังคมก่อน เพื่อเอาเทคโนโลยีมารับใช้ในการแก้ปัญหา และต้องถามว่าเทคโนโลยีใหม่นั้นสร้างหรือเพิ่มความเหลื่อมล้ำหรือไม่”

 

ปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช ผู้จัดการสาขาภาคใต้ตอนล่าง  สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล  มหาวิทยาลัยสงขลานครินท์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า เป้าหมายของสำนักงานคือทำให้คนเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ

“ผมทำงานเน้นในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง พบว่าการก่อปัญหาและหลายคดีนั้น มีการใช้ platform digital เป็นเครื่องมือด้วย  สิ่งสำคัญจากนี้คือ “การใช้ข้อมูล” และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลดังกล่าวเพื่อป้องกันการใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่เหมาะสม การใช้อินเตอร์เน็ตนั้นไม่เพียงแต่ “เข้าถึง” ได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นไปเพื่อโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและบริการภาครัฐด้วย  ตอนนี้กำลังชวนหน่วยงานส่วนท้องถิ่นมาใช้บริการอินเตอร์เน็ตและทำงานกับภาครัฐมากขึ้น”

ส่วนสุภิญญา กลางณรงค์  ผู้ร่วมก่อตั้ง Digital Thinkers Forum กล่าวว่า  คนชายขอบและชนกลุ่มน้อย นอกจากเผชิญปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ตแล้ว แล้วหลายกรณียังถูกมองในภาพลบด้วย จึงยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำและปัญหาอื่น ๆมีมิติที่ถ่างกว้างมากขึ้น

“ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารของไทย มีปัญหาตั้งแต่ครั้งแรกๆ  เช่นกรณีโทรศัพท์หรือการวางระบบอินเตอร์เน็ตพื้นฐาน (แบบ fix ) หน่วยงานรัฐไทยไม่ได้ออกแบบการพัฒนาอย่างเหมาะสมตั้งแต่แรก  ดังนั้นเมื่อเปิดประมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ภาคเอกชนและมีพัฒนาการด้านนี้อย่างก้าวกระโดด คนทั่วไปจึงคิดว่าเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้แค่ทางมือถือเท่านั้น รายได้จึงตกไปอยู่กับเอกชนทั้งหมด ทั้งๆที่เราสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตด้วยระบบไวไฟและอื่นๆได้ด้วย

นอกจากนี้ บทบาทและความรับผิดชอบของเจ้าของ platform  ก็ยังไม่ถูกแตะถึงมากนัก ซึ่งนอกจากต้องมีเรื่องความโปร่งใสให้ประชาชนตรวจสอบได้แล้วแล้วก็ยังต้องมีเรื่องความรับผิดชอบด้วย”

สุวิตา  จรัลวงศ์  ผู้แทนจาก Tellscore สตาร์ตอัพที่เข้าชิงรางวัลระดับอาเซียน เล่าตัวอย่างกรณีศึกษาการประกอบธุรกิจแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ตเข้าช่วย ทำให้เกิดนวัตกรรมที่แก้ปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ลดช่องว่าง digital divide  เช่น อินโดนีเซียเกิดบริษัทแท็กซี่มอเตอร์ไซค์ เพื่อให้บริการด้านการขนส่ง ลดข้อจำกัดในการขนส่งคมนาคมของประเทศที่มีปัญหา หรือกรณีของ Tellscore ที่ให้บริการการตลาด digital ซื้อโฆษณาออนไลน์  ทำโฆษณาดิจิตัลโดย จ้างคนทดลองและreview สินค้าที่ไม่ต้องเป็นบุคคลดังหรือมีชื่อเสียง Micro influencer 

นอกจากนี้ยังมีการแสดงความเห็นจากผู้เข้าร่วมเสวนาอื่นๆ โดยต้องการให้หน่วยงานของรัฐคำนึงถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนและความแตกต่างของคนกลุ่มต่างๆรวมทั้งชนกลุ่มน้อยและมุสลิมโดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือประเด็นดิจิทัลกับคนเฉพาะกลุ่ม อาทิ พระสงฆ์ เพราะความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลส่งผลกระทบต่อคนในกลุ่มเหล่านี้ด้วย

Digital, Disinformation, Misinformation

เฟรเดอริค ชปอร์ หัวหน้าสำนักงานประเทศไทยและเมียนมา มูลนิธิฟรีดริช เนามัน กล่าวต้อนรับและเล่าถึงมุมมองมูลนิธิฯ ในการรับมือกับความเหลื่อมล้ำยุคดิจิทัล

ดร.อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์  ผู้อำนวยการศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวปิดการเสวนาว่า   เห็นด้วยกับแนวคิดที่ดร.กาญจนาได้กล่าวถึง คือเทคโนโลยีควรถูกวางบทบาทให้รับใช้สังคมได้แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นเช่นนั้น  กรณีของคนพิการและผู้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้  กติการระหว่างประเทศช่วยสนับสนุนให้เข้าถึงได้อยู่แล้วในเวทีระหว่างประเทศ  แต่ความเหลื่อมล้ำและความแตกต่างทางรายได้ของคน มีมิติที่ไปไกลกว่านั้น 

สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งทำคือ การกระจายการเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างแท้จริง

ขณะที่ก่อนหน้านั้นผู้แทนองค์กรร่วมจัดงาน ได้แก่ ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม  ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สสส)  สินี จักรธรานนท์  มูลนิธิ Ashoka Thailand และ  Mr.Frederic Spohr  หัวหน้าสำนักงานประเทศไทยและพม่า  Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF)  มีความเห็นสอดคล้องในทิศทางเดียวกันว่า เทคโนโลยีและโลกดิจิทัลมีประโยชน์ แต่หากใช้ไม่เหมาะสมก็จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและยิ่งทำให้เกิดช่องว่างของคนในประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากประเด็นการเข้าถึงแล้ว ยังมีมิติอื่นที่ต้องคำนึง ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพการเข้าถึง การใช้ประโยชน์ที่ทัดเทียมกันทุกกลุ่มและการเพิ่มความรู้ความเข้าใจเท่าทันเทคโนโลยีรอบด้าน