DE

Living Freedom บอกเล่าแรงบันดาลใจ สะท้อนมุมมองเสรีภาพผ่านบทเพลง

Living Freedom

มาร่วมบอกเล่าแรงบันดาลใจ สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับเสรีภาพผ่านบทเพลง 

ชวนประกวดแต่งเพลงเพื่อเสรีภาพกับเรา โดยจะมีการจัดประกวดทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ร่วมกับประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเมียนมา พร้อมโอกาสที่จะได้ไปเยือนประเทศเยอรมนี!

บอกเล่าแรงบันดาลใจผ่านเสียงเพลง

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม เรามีกิจกรรม One Fri-day ตอน Singing Stories เป็นกิจกรรมอบรมและทดลองแต่งเพลงในโจทย์ Living Freedom ที่ จนออกมาเป็นเพลง ทุกหัวใจจะถูกดูแล (Care) ที่เราได้ส่งต่อความหวังและกำลังใจให้กับทุกคน

At this point you will find an external content that complements the content. You can display it with one click.

เพลง ทุกหัวใจจะถูกดูแล (Care)

เส้นทางแห่งเสรีภาพ เสรีภาพ เสรีเพลง

Freedom Songs หรือเสรีภาพ เสรีเพลง เกิดจากการคุยกันระหว่าง Happening กับมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย ว่าน่าจะมีโครงการประกวดทางดนตรี เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ เพื่อให้มีผลงานเพลงเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้เยอะขึ้น ในช่วงปีแรกๆ Happening และมูลนิธิฯ ได้ประสานกับศิลปินที่มีชื่อเสียงในการแต่งเพลงเกี่ยวกับเสรีภาพ หลังจากได้เพลงมาแล้วจึงเปิดพื้นที่ประกวดทำมิวสิกวิดีโอประกอบเพลง โดยมิวสิกวิดีโอที่ชนะการประกวดได้รับการเผยแพร่จริง

หลังจากประกวดมิวสิกวิดีโอได้ 2 ปี Happening และมูลนิธิฯ เห็นว่ามีตัวอย่างเพลงเพื่อเสรีภาพพอสมควรแล้ว เราจึงสร้างพื้นที่ในการสื่อสาร ให้บุคคลทั่วไปหรือศิลปินรุ่นใหม่ ได้ลองแต่งเพลงมาประกวดกัน ตลอด 3 ปีของการจัดประกวดแต่งเพลงโดยบุคคลทั่วไป เรามีรางวัลให้กับผู้ชนะ คือ 1) ได้โปรดิวซ์เพลงกับโปรดิวเซอร์มืออาชีพ และ 2) จัดทำมิวสิกวิดีโอประกอบเพลงโดยผู้ผลิตมืออาชีพ

“โครงการเสรีภาพ เสรีเพลง เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ Happening ภาคภูมิใจที่ได้ทำร่วมกับมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย ศิลปินที่เคยร่วมแต่งเพลงก็ได้ขึ้นปกนิตยสาร happening นอกจากนี้ยังเป็นการส่งต่อเรื่องราวของเสรีภาพและประชาธิปไตยผ่านบทเพลง และผลงานศิลปะ” เป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ของเสรีภาพ เสรีเพลง และการสะท้อนความรู้สึกโดย คุณวิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Happening

ประสบการณ์และบทเพลงแห่งเสรีภาพ

ร่วมพูดคุยกับ ธิดานันท์ สุขมิสา, เพชร สุขพลัม และ วัชรพงษ์ ตันเต๊ก ดำเนินรายการ โดย คุณวิภว์ บูรพาเดชะ

At this point you will find an external content that complements the content. You can display it with one click.

การเดินทางตามรางรถไฟ

เสรีภาพ เสรีเพลง จากมุมมองของกรรมการ (โดย คุณวิภว์ บูรพาเดชะ)

เพลง การเดินทางตามรางรถไฟ เป็นเพลงที่ชนะการประกวดเสรีภาพ เสรีเพลง 2017 ท่ามกลางเพลงที่ส่งเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพลงการเดินทางตามรางรถไฟนี้เป็นเพลงที่โด่ดเด่น เพราะเราเห็นว่าเพลงนี้มาจากคนในพื้นที่ที่แสดงอารมณ์ความคิดถึงบ้าน ถ่ายทอดความอบอุ่นที่ต้องอยู่ร่วมกับความอันตราย

เสรีภาพ เสรีเพลง 2016 เราก็ได้รับ ได้ยินเพลงที่น่าสนใจหลายเพลงเหมือนกัน เพลง ผมอ่ะ โอเค ของเพชรเป็นเพลงที่สนุก และเล่าด้วยท่าทีที่สบายๆ เหมือนเป็นการสื่อสารง่ายๆ จากเด็กที่เล่าให้เพื่อนหรือผู้ใหญ่ฟังถึงสิ่งที่ตัวเองมีและอยากทำ ถ่ายทอดสิทธิและเสรีภาพของตัวเอง ในน้ำเสียงที่เชิญชวนให้ทำความรู้จักกันก่อนที่จะตัดสินกันไป ซึ่งมันเข้ากับ ธีมปีนั้นอย่างลงตัว นอกจากนี้ เวลาพูดถึงประเด็นสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย คนมักจะมองในแง่มุมการสื่อสารที่ค่อนข้างจริงจัง แต่เพลงนี้ทำให้เห็นว่าเราคุยกันแบบสบายๆ ก็ได้เหมือนกัน

เสรีภาพ เสรีเพลง 2015 เป็นปีแรกที่รับสมัครผลงานเพลงเพื่อเสรีภาพจากบุคคลทั่วไป ในปีนั้นมีคนส่งเพลงเข้ามาหลากหลายมาก เราได้รวมอัลบัมเพลงที่ส่งเข้าประกวดและแนบไปกับนิตยสาร Happening กรรมการเห็นพ้องให้ บทเพลงถึงตัวฉันเอง เป็นเพลงชนะเลิศ เพราะเพลงมีลีลาในการนำเสนอ มีชั้นเชิงการตีความที่หลากหลาย และยังมีการอ้างอิงถึงจอห์น เลนนอน เจ้าของบทเพลง Imagine ที่เล่าถึงทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนโลก ดังนั้นการที่ปอนด์อ้างถึงจอห์น เลนนอน ที่เป็นสัญลักษณ์และเป็นคนที่เคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ ทำให้เราได้เห็นว่าการเรียกร้องจะมีมานานแล้วไม่ได้หายไป แต่คนในรุ่นหลังก็ยังคงอ้างอิงถึงเขาอยู่ และยังอยากเห็นสันติสุขบนโลก ก็เป็นการเน้นย้ำข้อความและความหมายของเสรีภาพให้เด่นชัดขึ้นไปอีก

แรงบันดาลใจ ที่มาของบทเพลงแห่งเสรีภาพ

ตั๊ก: การเดินทางตามรางรถไฟ ของ ตั๊ก ธิดานันท์ สุขมิสา เป็นเพลงที่แต่งสำหรับการเรียนวิชา Song writing ในโจทย์ บ้าน ตั๊กเลยตีความคำว่าบ้าน จากประสบการณ์ที่คนอื่นมองว่าเป็นที่ที่อันตราย แต่สำหรับตั๊กมันเป็นที่ที่ทำให้ตั๊กมีพลังมาทำงานและมาเรียนในกรุงเทพฯ ตอนที่ตั๊กตัดสินใจส่งเพลงก็ไม่แน่ใจว่าจะเข้ากับโจทย์ไหม แต่ตั๊กอยากให้มีคนฟังเพลงนี้เพิ่มขึ้นหน่อย เนื้อหาในเพลง มาจากการเดินทางกลับบ้านโดยรถไฟที่ใช้เวลานานราว 18 ชั่วโมง ตั๊กได้เห็นพระอาทิตย์ตก พระอาทิตย์ขึ้น กระนั้นก็ยังไม่ถึงบ้านเสียที จริงอยู่ที่เห็นกันตามข่าวเราอาจจะเห็นความอันตราย แต่เมื่อไปถึงตั๊กคิดว่าที่นั่นก็มีสิ่งดีๆ รอตั๊กอยู่เหมือนกัน

เพชร: เมื่อได้รับโจทย์ เพชรอ่านโจทย์และให้โจทย์นั้นซึมเข้าไปในสมองในจิตใจ แล้วมาแต่งเพลงเสร็จในคืนวันที่ปิดรับผลงาน เพลงผมอ่ะ โอเค เลยเป็นการแต่งจากความคิดของเพชร ที่มองถึงสังคมและการอยู่ร่วมกันในสังคม และ [เสรีภาพ] ที่ไม่ว่าเราจะอยากทำอะไรก็น่าจะได้ทำ ภายใต้กรอบของเราเอง เลยเป็นที่มาของเพลง ว่า ผม [เพชร] อ่ะ โอเคกับสิ่งที่ผม [เพชร] ทำ

พยายามแล้ว พยายามอยู่ ไม่ได้ตั้งใจอยากจะให้ใครเกลียด

ข่มใจนิด ข่มใจเอาหน่อย ผมเองก็ผ่านมาแค่ชั่วครั้งชั่วคราว

เกิดจากความคิดว่าในการอยู่ร่วมกัน มันมีความไม่พอใจ ไม่เข้าใจ โกรธกัน เกลียดกัน แต่ความรู้สึกเหล่านี้มันเป็นแค่ช่วงเวลาหนึ่ง และมันสามารถคุยกันได้ ประณีประนอมกันได้ อยู่ด้วยกันได้

At this point you will find an external content that complements the content. You can display it with one click.

ผมอ่ะ โอเค

ปังปอนด์: บทเพลงถึงตัวฉันเอง เกิดจากคำอยู่แล้วที่อยู่ในท่อนฮุค คือ จะต้องให้จอห์น เลนนอนลุกขึ้นมา เพื่อจับปากกาเขียนเพลงเดิมอีกกี่ครั้ง เป็นท่อนที่เคยคิดและค้างไว้ จนได้รับโจทย์ในปีนั้นคือสิทธิเสรีภาพ ที่ไม่เบียดเบียนคนอื่น บทเพลงถึงตัวฉันเองน่าจะเป็นเพลงที่เขียนนานที่สุดในชีวิต และเขียนในหลากหลายที่ ทั้งบนรถไฟฟ้า ในร้านขายยา (ตอนนั้นปอนด์เป็นเภสัชกรประจำร้านขายยา) ที่ห้องพัก หรือระหว่างเดินกลับที่พัก และมันเป็นการเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง ณ ตอนนั้น เป็นเพลงที่ใช้ความคิดเยอะ เพราะอยากให้เพลงตรงโจทย์และแสดงถึงความเป็นตัวเองด้วย

ประสบการณ์และโอกาสของเหล่าผู้ชนะการประกวดเสรีภาพ เสรีเพลง

ตั๊ก: การทำงานกับพี่ตั้ม (โมโนโทน) เป็นเรื่องการปรับเนื้อเพลงให้กลมเกลียวมากขึ้น ส่วนหลังจากเห็นมิวสิกวิดีโอ คุณแม่ของตั๊กได้เข้าไปทำความรู้จักกับบ้านที่แสดงในมิวสิกวิดีโอด้วย

เพชร:  ปีนั้นเป็นอะไรที่กลมกล่อม พี่กอล์ฟ (ซูเปอร์เบเกอร์) ไม่ได้เปลี่ยนเนื้อร้องเลย แต่ว่ามีการช่วยใส่เสียง ใส่ฮาร์โมนีให้เพลงดูเป็นของส่วนรวมมากขึ้น ส่วน Hello Film Maker เห็นแก่นของเพลง และช่วยเล่าเรื่องที่ดูเหมือนจะตลกแต่ก็มีความจริงจังอยู่ในนั้น และผมรู้สึกว่าจากการแต่งเพลงออกมาถึงมิวสิกวิดีโอ มันได้เข้ามาช่วยกันต่อเติมจินตนาการและความสนุกเข้าไปให้กับเพลง

ปังปอนด์: ปังปอนด์ได้พี่หนึ่ง ฟรายเดย์ มาโปรดิวซ์เพลงและได้คอมเมนท์จากพี่ปอย (Portrait) ได้คุณเต๋อ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) มาทำมิวสิกวิดีโอ เป็นสิ่งที่ค่อนข้างเกินคาดสำหรับผม ในครั้งแรกผมคิดว่าผมติด 1 ใน 10 ก็ดีใจมากแล้ว พอวันที่ประกาศรางวัลและได้รับรางวัล ผมดีใจมากๆ และคิดว่าคนทำเพลงน่าจะเป็นคล้ายๆ กัน คือ อยากมีเพลง อยากมีคนมาช่วยโปรดิวซ์ อยากมีห้องอัดเสียงดีๆ มีคนมาทำ MV ดีๆ ซึ่งจากโครงการนี้ผมได้สิ่งที่อยากได้หมดเลย และได้ร่วมงานกับศิลปินที่เราชื่นชม ชื่นชอบ และมันเป็นการเปิดโอกาสในการก้าวข้ามประตูแห่งโอกาสให้กับผม ที่ผมเองก็ไม่คาดคิดเหมือนกัน นับเป็นจุดเริ่มต้นเพราะหลังจากนั้น พี่แสตมป์ (อภิวัชร เอื้อถาวรสุข) เห็นผลงานจากมิวสิกวิดีโอ และมีโอกาสได้พบและร่วมงานกันในเวลาต่อมา เราไม่มีวันรู้เลยว่าสิ่งที่เราทำไปมันจะส่งผลยังไง แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นก็เป็นผลจากการกระทำของเรานี่แหละ

At this point you will find an external content that complements the content. You can display it with one click.

บทเพลงถึงตัวฉันเอง

เพลงของคุณจะพาคุณเดินทางไปไกลแน่นอน

คุณวิภว์: จากเพลงที่ชนะการประกวดทั้ง 3 ปี เราได้เห็นว่ามันมีเพลงทั้งที่หลากหลาย เราไม่มีข้อจำกัดในการรับเพลง แค่คุณสามารถตีโจทย์ และทำเพลงให้ลงตัว ผู้ชนะจะได้เดินทางไปแสดงและประกวดต่อที่ประเทศฟิลิปปินส์ และหากชนะในระดับภูมิภาคก็จะได้เดินทางไปแสดงดนตรีที่ประเทศเยอรมนี

โจทย์ในปีนี้ คือ Living Freedom เราอาจจะตีความอย่างไรก็ได้ตราบเท่าที่เนื้อหาและการสื่อสารหนักแน่น นอกจากนี้อาจแต่งเป็นภาษาอังกฤษ หรือไทยและอังกฤษก็ได้ เพราะปีนี้เราได้เชื่อมร้อยกับประเทศอื่นด้วย และก็ขอให้มีความสุขกับการแต่งเพลง และให้นี่เป็นโอกาสให้เพลงคุณได้เดินทางไปดินแดนที่แสนไกล ที่จะพาเสรีภาพในมุมมองของคุณไปบอกกับชาวโลกได้

ดร. พิมพ์รภัช: จริงๆ Happening กับ FNF Thailand ก็มีความฝันที่จะจัดการประกวดแต่งเพลงให้ไปไกลกว่าในประเทศเหมือนกัน เพราะเราเชื่อว่าเสียงเพลงมันข้ามพรมแดนได้ และปีนี้เราทำสำเร็จ เราได้ชวนเพื่อนจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเมียนมาร่วมกันจัดการประกวดแต่งเพลงในปีนี้

Living Freedom

Living Freedom ในสายตาชาว FNF

“เมื่อครั้งแรกที่ได้ยินโครงการประกวดแต่งเพลงเพื่อเสรีภาพ ทำให้คิดถึงเพลงโปรดเมื่อตอนเป็นเด็กอายุ 5 ขวบ เพลงนี้เป็นเพลงดังในช่วงปี 1989 เพียงไม่กี่สัปดาห์ ก่อนที่กำแพงเบอร์ลินจะล่มสลาย มีหลายส่วนตั้งคำถามเหมือนกันว่านี่เป็นเพลงทางการเมืองหรือเปล่า แต่ถ้าหากเราไปดูเนื้อร้องแล้ว เราจะพบว่าเพลงนี้เป็นเรืองราวของคนหนุ่มที่อยากจะมีเสรีภาพจากพ่อ เพลงนี้เป็นเพลงที่แสดงถึงความฝันที่คนอยากจะมีเสรีภาพ ที่เงินก็ไม่สามารถหาซื้อได้ และการตามหาอิสระเสรีภาพของเขาก็ยังคงต้องดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ”

At this point you will find an external content that complements the content. You can display it with one click.

เพลง I’ve been looking for Freedom

“และหากดูที่โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์โครงการ เราจะเห็นคำว่า “เสรีภาพอยู่ตรงข้ามกับความกลัว” ในบางครั้งเราอาจต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง เราถึงจะรู้ว่าเสรีภาพของเรานั้นไปไกลได้แค่ไหน เช่นเดียวกับบทเพลงเมื่อสักครู่ ในช่วงปี 1989 ผู้คนต่างตื่นเต้นที่กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย เราเชื่อว่าโลกนี้จะเป็นสังคมที่เปิดกว้าง เป็นประชาธิปไตย ผู้คนมีเสรีภาพ แต่ 30 ปีต่อมา เราเห็นว่าประเทศที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยก็มีอิทธิพลมากขึ้น สังคมเราก็เจอกับความท้าทายที่ต่างไปจากเดิม”

“แน่นอนว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและกระแสประชาธิปไตยที่จางลงไป แต่ก็ได้เห็นปรากฎการณ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการมีพื้นที่ส่งเสียง และช่องทางอย่างบทเพลงในการส่งเสียง และการมีส่วนร่วมจากผู้คน Living Freedom จึงเป็นพื้นที่ให้ผู้คนได้ส่งเสียงว่าเขามีความหวัง มีความฝัน หรือมีความปรารถนาอะไร และจะแปลโจทย์ Living Freedom ออกมาในแนวทางไหน เพราะการตีความ Living Freedom นั้นก็อาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน และเราเลยรอฟังผลงานเพลงจากทุกคน” เป็นความหมายของ Living Freedom จากคุณเฟรดเดอริค ชปอร์ ตัวแทนมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย

“สำหรับฉัน เสรีภาพมันคือทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ การตีความ และความต้องการของแต่ละคนด้วย ส่วนตัวฉันคิดว่าการได้ทำอะไรอย่างที่อยากทำโดยไม่ไปกระทบหรือทำให้คนอื่นเดือดร้อน นั่นคือเสรีภาพแล้ว นอกจากนี้ ฉันยังได้ทำการทดลอง ถามลูกๆ ของฉันว่าเขาคิดว่าเสรีภาพคืออะไร ลูกสาวอายุ 5 ขวบของฉันบอกว่าเธอจะมีเสรีภาพเมื่ออายุ 13 เพราะเธอจะได้เลี้ยงสุนัขได้เสียที เมื่อถามลูกชายอายุ 10 ขวบ เขาบอกว่าเสรีภาพของเขาคือการได้ปั่นจักรยานไปสถานที่ต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง (เพราะเขาอยู่ในเมืองที่การเดินทางด้วยจักรยานค่อนข้างอันตราย) และเมื่อถามลูกชายอายุ 8 ขวบ เขาบอกว่าฉันถามเหมือนคุณครูวิชาจริยธรรมเลย แต่จากคำตอบเหล่านี้ฉันก็สรุปได้ว่าเสรีภาพคือการได้ทำได้อย่างที่ใจต้องการ โดยไม่กระทบหรือทำให้ใครเดือดร้อนนั่นเอง” เป็นภาพของ Living Freedom จากดร. อัลมุด เบโซล ตัวแทนมูลนิธิฟรีดริช เนามัน อินโดนีเซีย

“Living Freedom คือ การเข้าถึงการเรียนรู้ การสามารถพัฒนาและเติบโตของชีวิต และแบ่งปันกลับคืนให้สังคม” จากคุณยูนิโค คาสติลโย ตัวแทนมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ฟิลิปปินส์

ถาน เนียง อัง ตัวแทนมูลนิธิฟรีดริช เนามัน พม่า กล่าวถึงเสรีภาพบนหลักการของเหตุและผลว่าเป็น Living Freedom “หากมีสะพานอยู่เส้นหนึ่งที่กำลังจะพัง ทุกคนบอกเราว่าอย่าข้ามสะพานนั้นนะ เราต้องกลับมาตั้งคำถามว่าเราควรเชื่อคนนั้นหรือเปล่า? หากคนที่บอกไม่มีเหตุผลมารองรับหรืออธิบายให้ควรเชื่อ เราก็ควรต้องเป็นคนตัดสินใจด้วยตัวเอง และเชื่อในข้อมูลและหลักการของเหตุผลที่จะทำให้เราเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร เสรีภาพบนทางเลือก และขอยกคำพูดของคุณอองซาน ซูจีมากล่าวให้ฟัง “อย่าปล่อยให้ความกลัวเป็นกำแพงในการทำสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่พันธนาการเราไว้คือความหวาดกลัว เสรีภาพที่แท้จริง คือเสรีภาพจากความหวาดกลัว”

“เสรีภาพ คือการส่งเสียงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และความเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ในสังคม เพื่ออนาคตที่ดีของตัวเอง ของสังคม และของประเทศ เสรีภาพอยู่ในมือของเรา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้เสรีภาพอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง กับสังคม และกับส่วนรวมอย่างไร” เป็น Living Freedom จากคุณเวรา พุดทรี ตัวแทนจากมูลนิธิฟรีดริช เนามัน มาเลเซีย

เสรีภาพ คือ สิ่งที่เรามี แล้วเราจะใช้มันอย่างไร จะตัดสินใจอย่างไรบนหลักของหลักการและเหตุผล หรือจะส่งไม้ต่อเพื่อการเรียนรู้และเสรีภาพที่ยิ่งใหญ่ต่อไปให้คนอื่นโตไปด้วยกันกับเราได้ยังไง

สุดท้ายอยากชวนคุณส่งผลงานเพลงเข้าร่วมประกวด แม้ว่าเพลงคุณจะไม่ชนะ แต่เราต่างช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานเพลงดีๆ ที่บอกเล่าประเด็นสำคัญให้กับคนอื่นๆ ได้รับรู้ด้วย

ส่งผลงานเพลงทางอีเมล

ระบุหัวข้ออีเมลว่า Living Freedom Entry ตามด้วยชื่อเพลง

ส่งเพลงเป็นไฟล์ออดิโอ พร้อมเนื้อเพลงและคอร์ด พร้อมกับชื่อ และเบอร์โทร. ติดต่อของคุณ

มาที่ Thailand.fnst@gmail.com

ปิดรับสมัครผลงานเพลง วันที่ 19 กรกฎาคม 2563 (23.59 น.)

Living Freedom

กำหนดการและกติกาการรับสมัคร

29 พฤษภาคม - เปิดตัวโครงการและเริ่มรับผลงาน

12 และ 18 มิถุนายน – Master Class โดย คุณวิภว์ บูรพาเดชะ และ คุณเหวิน เรืองกิจ ยงปิยกุล

19, 22, 23 และ 24 มิถุนายน – ลงทะเบียนพบกับเมนเทอร์ ปังปอนด์, เพชร และตั๊กแบบตัวต่อตัว ใน Mentoring Session (ลงก่อนมีสิทธิก่อน)

19 กรกฎาคม - กำหนดส่งผลงาน

29 กรกฎาคม – ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้ารอบการแสดงสด 5 คน

7 สิงหาคม (ศุกร์) – การแสดงออนไลน์ของไทย (5 เพลง)

14 สิงหาคม (ศุกร์) – การแสดงออนไลน์ของฟิลิปปินส์

21 สิงหาคม (ศุกร์) - การแสดงออนไลน์ของพม่า

28 สิงหาคม (ศุกร์) - การแสดงออนไลน์ของมาเลเซีย

4 กันยายน – การแสดงออนไลน์ของอินโดนีเซีย

ก.ย. / ต.ค. – Master class และ เมนเทอร์ (รายบุคคลและกลุ่ม)

พฤศจิกายน – การแสดงสดระดับภูมิภาค