นวัตกรรมสร้างความร่วมมือสู่การขับเคลื่อนการเคารพสิทธิ
โลกที่เราอยู่ในทุกวันนี้ ต่างจากโลกเมื่อ 40 ปีที่แล้ว แต่เรายังไม่ปรับตัวและวิธีการ อีกอย่างที่ทุกคนน่าจะทราบเหมือนกัน คือ เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเราคนเดียว แต่การแก้ปัญหาจะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน ช่วงวัย หรือพื้นที่......แต่ความร่วมมือก็เกิดขึ้นยากเหมือนกัน สิ่งที่ทำให้ความร่วมมือเกิดขึ้นยาก เพราะ 1. เราไม่ได้ใช้เวลาที่จะทำความรู้จักกันและกัน หากไม่เชื่อมั่น ไม่เข้าใจกัน แล้วเราจะหาทางออกร่วมกันได้อย่างไร? 2. เราไม่ปล่อยให้สิ่งที่เราทำอยู่ในสถานะที่ควบคุมไม่ได้
การอบรมหลักสูตรกระบวนการสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้ คุณจิลเลี่ยน ทัค ได้เป็นวิทยากรที่มานำกระบวนการ แนะนำเครื่องมือที่จะใช้ในการจัดกระบวนการเพื่อให้ผู้ร่วมอบรมได้นำไปปรับใช้ คุณจิลเลี่ยนได้แนะนำกระบวนการ ให้ผู้ร่วมอบรมได้ทดลองใช้กระบวนการ ตามด้วยการอธิบายถึงเป้าหมายและรับคำถามคำตอบจากผู้ร่วมอบรม จากนั้นกระบวนการต่างๆ จะถูกนำไปใส่ในกล่องเครื่องมือ (tool box) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถนำเครื่องมือต่างๆ ไปใช้ต่อได้โดยง่าย
กระบวนการคืออะไร ทำไมต้องใช้กระบวนการ และอะไรเป็นสิ่งสำคัญของกระบวนการ?
กระบวนการ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้เข้าร่วมอบรม ผ่านการออกแบบการใช้กระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม โดยคำนึงถึงเป้าหมายที่จะเดินไปถึงด้วย โดยต้องคำนึงถึงบรรยากาศการเรียนรู้ที่ให้ผู้เข้าร่วมสบายใจที่จะแลกเปลี่ยนระหว่างกัน การสื่อสารโดยคำพูดเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญ เช่น การถามคำถาม การทวนความ หรือการดึงให้ผู้เข้าร่วมอบรมมาแลกเปลี่ยนในวง
การถามคำถาม เป็นเครื่องมือที่มีพลังมากในการจัดกระบวนการ การจัดกระบวนการต่างจากการบรรยาย คือ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้เข้าร่วม ขณะที่การบรรยายจะเป็นการถ่ายทอดแบบจากครูสู่นักเรียน
กิจกรรมที่นำเสนอไม่ได้จำกัดการสื่อสารให้อยู่แค่การพูด แต่ยังแสดงการรับรู้และทวนคำพูด หรือคำตอบ ผ่านการทวนความ เพื่อให้ทำให้ทุกคนได้เข้าใจเหมือนๆ กัน นอกจากนี้ยังทำให้ผู้อบรมรู้ว่ามีคนรับฟังเขาอยู่ และเพิ่มความเข้าใจด้วย นอกจากนี้เมื่อได้รับคำถามหรือข้อเสนอแนะ เราอาจถามกลับไปที่กลุ่มแทนการตอบคำถามด้วยตัวเอง เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกัน
อีกสิ่งสำคัญ คือ การดึงผู้เข้าร่วมทุกคนข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการทอดเวลาให้คิดและร่วมแลกเปลี่ยน หรือการเติมพลังบวกให้กับการแลกเปลี่ยน รวมไปถึงการสรุปและเชื่อมโยงและเชื่อมกลับกระบวนการของกลุ่มด้วย
ในการอบรมครั้งนี้ จิลเลี่ยน ทัค ได้แบ่งกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ ได้แก่
แนะนำ ทำความรู้จักกัน และประเมินบรรยากาศการเรียนรู้
ผ่านกิจกรรมยืนและนั่ง การสร้างเครือข่ายอย่างรวดเร็ว เล่าเรื่องราว การประเมินบรรยากาศของกลุ่ม กิจกรรมกระจกสะท้อน และการถาม-ตอบผ่านกระดานข่าว
เครื่องมือในการระดมความคิดเห็น ปรึกษาหารือ และเรียนรู้ร่วมกัน
ผ่านกิจกรรม Troika Consulting, Systems to Self, 1-2-4-All, Caravan (or Shift and Share), ฝึกทักษะการฟัง, ปาร์ตี้ไอเดีย, จดบันทึก, เส้นเวลา, จิ๊กซอว์
และ ช่วงทบทวนและสะท้อนการเรียนรู้
ทบทวนและสะท้อนการเรียนรู้
ล้อมวงปิดงาน (Closing Circle) หลังจากการเรียนรู้กระบวนการเครื่องมือที่หลากหลายเก็บใส่กล่องเครื่องมือ การนั่งเป็นวงกลมและให้ผู้เข้าร่วมบอกเล่าความรู้สึก สิ่งที่ได้กลับไป และซักถามสิ่งที่ยังอยู่ในใจก่อนจากกันเป็นการประเมินในอีกรูปแบบ เสียงสะท้อนจากวงที่เราทุกคนได้ยิน เช่น “การไม่ปล่อยคำถามผ่านไป ใส่ใจกับคนที่อยู่ในกระบวนกับเรา” หรือ “สุดท้ายแล้วการจัดกระบวนการต้องอาศัยการฝึกปฏิบัติ ให้เหมาะกับตัวผู้เป็นกระบวนกรเอง และการนำเครื่องมือไปปรับใช้ให้เหมาะกับผู้เข้าร่วมและเนื้อหาด้วย” เสียงสะท้อนเหล่านี้อาจไม่ได้มีการชี้วัดออกมาเป็นตัวเลข แต่เราต่างเชื่อว่าเหล่านี้สะท้อนความรู้สึกของผู้เข้าร่วม และเป็นสิ่งชี้วัดความสำเร็จของกิจกรรมได้เช่นกัน
หลักสูตรกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชน ระหว่างวันที่ 28 – 30 ตุลาคม 2562 เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการรุ่นที่ 2 ในโครงการ หลักสูตรกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชน อันเป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิฟรีดริช เนามัน และ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม