DE

ประสบการณ์ไร้พรมแดน ประสบการณ์อบรมจากเยอรมนีสู่ประเทศไทย

FAN Thailand IAF Replication

“... เชื่อว่าสังคมนี้จะน่าอยู่ขึ้น ถามว่าทำไมน่ะเหรอ เพราะผมเห็นไง...”

ฐิติวัฒน์ สายวร

นักวิชาการสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

และ ศิษย์เก่ามูลนิธิฟรีดริช เนามัน

จากการอบรมทักษะกระบวนกรและการออกแบบการอบรม (Facilitation Moderation and Program Design) ที่ศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติ (International Academy for Leadership – IAF) ดร. ชลัท ประเทืองรัตนา (นักวิชาการผู้ชำนาญการ, สถาบันพระปกเกล้า) และ คุณฐิติวัฒน์ สายวร ผู้ผ่านการอบรมเมื่อปี 2560 (2017) และ 2562 (2019) ได้กลับมาพบกันและมีความคิดที่จะถ่ายทอดวิชาให้กับคนที่สนใจ

IAF

ศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติ หรือ ไอเอเอฟ ก่อตั้งในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 เพื่อเป็นพื้นที่ เป็นเวที ในการเสวนา และสนทนาเกี่ยวกับความเป็นไปของโลก และด้วยความเชื่อว่าเราทุกคนต่างมีความสามารถที่จะเป็นผู้นำในงานที่เราทำอยู่ได้ และตอนนี้ ไอเอเอฟมีผู้ร่วมอบรมจากทั่วโลกมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในมิติต่างๆ และร่วมหาทางออกแบบเสรีนิยมให้กับปัญหาและความท้าทายในโลกปัจจุบัน

การสร้างพื้นที่และบรรยากาศการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ตอบรับความเชื่อว่าเราทุกคนต่างมีความสามารถที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง เพียงแค่มีพื้นที่และมีโอกาสที่จะแสดงออกไป เช่นเดียวกันพื้นที่และโอกาสที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงต้องผ่านการออกแบบและสร้างคุณภาพของบรรยากาศการเรียนรู้

“คุณภาพของความสำเร็จนั้นเกิดจากคุณภาพของการกระทำ คุณภาพของการกระทำนั้นเกิดจากคุณภาพของบรรยากาศแห่งการเรียนรู้”

แนนซี ไคลน์, ผู้ก่อตั้ง และ ประธานสถาบัน Time to Think
FAN Thailand IAF Replication

หลังจากการอบรมทักษะกระบวนกรและการออกแบบการอบรม ที่เมืองกุมเมิชบัค ประเทศเยรมนี ดร. ชลัท และคุณฐิติวัฒน์ ได้นำทักษะที่ได้ไปใช้ในงานของพวกเขา จนเมื่อได้พบกันและมีแนวคิดที่จะร่วมถ่ายทอดวิชาให้กับคนอื่นๆ ที่มีใจในการสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบที่พวกเขาได้ไปอบรมมา จากการอบรมทักษะและเทคนิค 12 วัน ที่ไอเอเอฟ ดร. ชลัท และคุณฐิติวัฒน์ เลือกเทคนิค และวิธีการ เพื่อให้เหมาะสมกับการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดให้กับผู้สนใจในเวลา 1 วัน ให้กับผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน – จากความตั้งใจที่จะจัดอบรมเพียง 1 วัน ได้เพิ่มเป็นการเปิดรอบอบรมเพิ่มอีก 2 รอบ จากการลงทะเบียนตอบรับร่วมอบรมร่วม 100 คน -- เริ่มตั้งแต่เทคนิคกระบวนการ การแนะนำตัว เล่าความคาดหวัง ทักษะที่จำเป็น เช่น การฟังอย่างตั้งใจ การถ่ายทอดเรื่องราว ผ่านกระบวนการ “เล่าเรื่อง – Story telling” องค์ประกอบที่ต้องคำนึงถึงเมื่อต้องออกแบบการเรียนรู้ และเมื่อต้องเป็นกระบวนกร – facilitator ผ่านกระบวนการ “บัตรคำ – Meta card” รวมไปถึงการระดมความคิดเห็นผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น กระบวนการเส้นเวลา – Timeline กระบวนการคาราวาน – Caravan และกระบวนการเลี้ยงอ่างปลา – Fish bowl นอกจากเป็นวิทยากรเองแล้ว ดร. ชลัท และคุณฐิติวัฒน์ สร้างพื้นที่ให้ผู้ร่วมอบรมเป็นวิทยากรเองหลังจากได้เรียนรู้เทคนิคแล้ว นับเป็นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ และเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน

FAN Thailand IAF Replication

“...เพราะเราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนนั้นมีศักยภาพที่จะดีขึ้นได้ ถ้าเขาได้รับโอกาสมากพอ..และเราจะส่งต่อความเชื่อทั้งหมดทั้งมวลที่ได้กล่าวมานี้ให้กับผู้อื่น ให้กับครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ชุมชน และสังคม เมื่อเรามีโอกาส...เหมือนโอกาสที่ได้รับจาก FNF”

ฐิติวัฒน์ สายวร

ข้อมูลการอบรม

  1. วันที่ 3 กันยายน 2562 ผู้ร่วมอบรม จำนวน 33 คน
  2. วันที่ 10 กันยายน 2562 ผู้ร่วมอบรม จำนวน 24 คน
  3. วันที่ 11 กันยายน 2562 ผู้ร่วมอบรม จำนวน 30 คน