DE

วันข้อมูลเปิดนานาชาติ 2020 กับการสร้างสันติสุขชายแดนใต้

Open Data, Digital Rights

“เราเห็นอะไรในสไลด์นี้?... เราอาจจะไม่เห็นอะไร และสงสัยไปว่าที่เราไม่เห็นเป็นเพราะจอภาพเสีย หรือผมไม่ได้ใส่อะไรไปจริงๆ แต่ถ้าผมเริ่มเปิดให้เห็นภาพบางส่วน ก็อาจจะต้องอาศัยการตีความ คาดเดากันไป ขณะที่หากผมเปิดรูปทั้งหมด ทุกคนก็จะเห็นว่าจริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้น” มะรุฟ เจ๊ะบือราเฮง ชวนคุยระหว่างที่เล่าที่มาของกิจกรรม วันข้อมูลเปิดนานาชาติ International Open Data Day 2020 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2563 ที่ อุทยานการเรียนรู้ ยะลา (TK Park Yala)

ข้อมูลเปิด (Open Data) มีลักษณะ คือ 1. เป็นข้อมูลที่เปิดเผย สามารถนำไปใช้ได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต 2. เป็นข้อมูลที่เข้าถึงได้สะดวก 3. เป็นข้อมูลหรือชุดข้อมูลที่ทันสมัยและต่อเนื่องกัน 4. เป็นข้อมูลที่สามารถนำไปประมวลผลต่อได้ คือ มีลักษณะเป็น machine readable อาจกล่าวได้ว่าข้อมูลเปิดนี้มีลักษณะคล้ายกับสินค้าสาธารณะ การใช้ข้อมูลชุดหนึ่งไม่ได้ทำให้คนอื่นใช้ข้อมูลชุดนั้นไม่ได้ ในทางกลับกันเมื่อมีการใช้และแบ่งปันข้อมูลจะกลายเป็นเครือข่ายที่นำข้อมูลต่อยอดต่อไปได้[1] สอดคล้องกับการพูดคุยบนเวที ข้อมูลเปิดเพื่อสังคมสันติสุข (Open Data for Peace Society)

 

มะรุฟ เจ๊ะบือราเฮง ผู้ก่อตั้ง มูลนิธิดิจิทัลเพื่อสันติภาพ (Digital4Peace) เล่าถึงที่มาของการจัดกิจกรรมวันข้อมูลเปิดนานาชาติ (International Open Data Day) ว่าข้อมูลเปิดจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมแบบเปิด หนุนเสริมสันติภาพและการพัฒนาในจังหวัดชายแดนใต้ต่อไป

เฟรดเดอริค ชปอร์ หัวหน้าสำนักงานประเทศไทยและเมียนมา มูลนิธิฟรีดริช เนามัน เล่าถึงการส่งเสริมการศึกษาภาคพลเมือง และบทบาทของข้อมูลเปิดในการสร้างความโปร่งใส เปิดพื้นที่ให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจ เสริมสร้างการมีส่วนร่วมสู่พลเมืองที่มีความรับผิดชอบ

Open Data, Digital Rights

ไกลก้อง ไวทยาการ การใช้ข้อมูลเปิดทางการเมือง

Open Data Talk ข้อมูลเปิดจากหลายมุมมอง

ข้อมูลเปิดกับการพัฒนาการเมือง

ไกลก้อง ไวทยาการ อดีตประธานกรรมาธิการรัฐสภาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เล่าถึงที่มาของการจัดกิจกรรมวันข้อมูลเปิดนานาชาติ ว่าปีนี้เป็นปีแรกที่งานข้อมูลเปิดนานาชาติจัดขึ้นนอกกรุงเทพฯ และจัดในพื้นที่สำคัญที่ต้องการข้อมูลเปิดและความจริงมากที่สุดสำหรับการคลี่คลายความขัดแย้ง เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้วไกลก้องผลักดันเรี่องข้อมูลเปิดเป็นครั้งแรก โดยทำงานร่วมกับหลากหลายหน่วยงาน ทั้งภาคประชาสังคม ภาครัฐบาล นักกิจกรรมสังคม โปรแกรมเมอร์ และผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเปิด จนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้เริ่มผลักดันข้อมูลเปิดในทางการเมือง ทั้งการมีส่วนร่วมของพรรคการเมืองและประชาชน

สาเหตุหนึ่งที่ขับเคลื่อนข้อมูลเปิดทางการเมืองและผลักดันรัฐบาลแบบเปิด (Open Government) โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีลักษณะเป็นข้อมูลเปิดๆ ปิดๆ เพราะเห็นว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง แต่ยังรวมไปถึงความสามารถในการติดตามการทำงานองค์กรอิสระ ผู้มีอำนาจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่าตัดสินใจอะไร อย่างไร และเพราะเหตุใด การมีรัฐบาลเปิดไม่เพียงแต่จะทำให้มีความโปร่งใสสูงขึ้น แต่รวมถึงการสื่อสารและโต้ตอบระหว่างประชาชนและฝ่ายบริหารด้วยเช่นกัน มีการก่อตั้งเครือข่าย Open Government Partnership โดยตอนนี้มีประเทศสมาชิกอยู่ 17 ประเทศ ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเข้าร่วมตามข้อกำหนด แต่พบว่าต้องพัฒนาด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน

นอกจากนี้เรายังผลักดันรัฐสภาแบบเปิด หรือ Open Parliament นอกจากผลักดันเรื่องมาตรฐานและข้อกำหนดแล้ว ยังพยายามใช้ข้อมูลเปิดมาอภิปรายในสภา นอกจากนี้มียังมีกิจกรรม Parliament Hackathon จนได้ต้นแบบแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับการผ่านกฎหมาย, การรับเรื่องราวร้องทุกข์ และการติดตามการใช้งบประมาณ ด้วย

กล่าวโดยสรุปด้วยลักษณะของข้อมูลเปิด ทุกคนที่ต้องการใช้ข้อมูลและต้องการมีส่วนร่วมควรเข้าถึงข้อมูลได้และมีส่วนร่วมในการผลักดันประเด็นสังคม อย่างไรก็ตามการใช้ข้อมูลเปิดและการมีส่วนร่วมต้องการประชาธิปไตยที่เข้มแข็งเช่นกัน

Open Data, Digital Rights

ชารีฟ เด่นสุมิตร ผู้ก่อตั้ง Pinsouq, สตาร์ทอัพฮาลาล

ข้อมูลเปิด Open Source กับ โอกาสในการพัฒนาธุรกิจ

ชารีฟ เด่นสุมิตร ผู้ก่อตั้ง Pinsouq สตาร์ทอัพแพลตฟอร์มที่ก้าวจากศูนย์รวมสินค้าฮาลาลสู่แพลตฟอร์มข้อมูลด้านฮาลาลที่ใหญ่ที่สุด เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ Pinsouq ว่าเกิดจากความตั้งใจให้ Pinsouq เป็นศูนย์รวมสินค้าฮาลาลจากทั่วประเทศ ในลักษณะแพลตฟอร์มตลาดที่ให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้มาเจอกัน โดยไม่ได้มุ่งหวังกำไรสูงสุด แต่มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมสูงสุด

จากการบริการดังกล่าว ชารีฟพบว่ามีข้อมูลจากทั้งผู้ซื้อและเจ้าของผลิตภัณฑ์มากขึ้น Pinsouq จึงเปลี่ยนแปลงสู่ Halal supply chain integration โดยรวบรวมข้อมูลจากแต่ละห่วงโซ่ และแบ่งปันข้อมูลเหล่านั้นระหว่างกันเพื่อให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวม ในฐานะแพลตฟอร์มซึ่งเป็นตัวกลาง Pinsouq เชื่อว่าแนวคิดในการจัดการแพลตฟอร์มเป็นพื้นที่สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับผู้ขายและผู้ผลิต ขณะเดียวกันแพลตฟอร์มก็ส่งต่อความต้องการของผู้บริโภคให้กับผู้ผลิต เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้

ชารีฟเล่าต่อว่า Pinsouq ใช้ข้อมูลในการสร้างธุรกิจ การส่งต่อข้อมูลระหว่างห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ทำให้เกิดห่วงโซ่คุณค่า (value chain) เพื่อเสริมบริการและตอบสนองให้กับผู้ที่ต้องการพัฒนาธุรกิจ แม้ว่า Pinsouq จะตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และมีสาขาอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่การให้บริการด้านข้อมูลเป็นสิ่งที่ทำให้ Pinsouq โดดเด่น และมีคุณภาพและมาตรฐานการบริการที่สากลยอมรับ ทำให้ Pinsouq ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นผู้นำในพื้นที่

 

ข้อมูลเปิดกับกฎหมาย

อับดุลรายี สาแม็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยะลา เขต 3 เล่าถึงการใช้ข้อมูลในการคำนวนจำนวนผู้แทนในสภา จากนั้นจึงกลับมาเล่าถึงการใช้ข้อมูลกับการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเปรียบเทียบตัวเลขรายได้จากผลผลิตทางการเกษตร กับรายจ่ายค่าครองชีพที่ประชาชนจ่ายให้กับร้านสะดวกซื้อ ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความไม่ได้สัดส่วนในการใช้จ่าย รวมถึงวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ที่ขาดความสมดุลไป อับดุลรายีเห็นว่าเงินและทรัพยากรที่เสียไปทำให้เศรษฐกิจไม่ได้หมุนเวียนในพื้นที่ ต้องเกิดการสร้างสำนึกให้กับประชาชนเพื่อคืนความสมดุลให้กับวิถีชีวิต

 

ข้อมูลเปิดกับการศึกษา

อัครัม อาลีมิง ประธานบริษัท ยังไซเบอร์ ดิจิทัล เทคโนโลยี เล่าถึงจุดเริ่มต้นโครงการครูฟรี ว่าหากต้องการให้เกิดการพัฒนาและมีความเสมอภาคทางการศึกษา ต้องเริ่มจากการมีผู้เชี่ยวชาญเสียก่อน แต่การสร้างผู้เชี่ยวชาญก็ยังอาจมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ภาษา วัฒนธรรม และราคา นั่นเป็นที่มาของจุดเริ่มต้นโครงการครูฟรี และการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษาแบบเปิด (Open Education Resources – OER) ในพื้นที่ OER เป็นแหล่งข้อมูลทรัพยากรแบบเปิด ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ฟรี สามารถต่อยอดและแก้ไขเนื้อหาได้ อย่างไรก็ตามในการใช้และผลิตซ้ำข้อมูลผู้ใช้ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับ Creative Commons เพื่อไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของใคร

อีกช่องทางการศึกษาที่ถูกกล่าวถึงอย่างมาก คือ Massive Open Online Courses หรือ MOOCs ในฐานะสื่อและพื้นที่การเรียนรู้ออนไลน์แบบเปิด ที่มีกำหนดเวลาเรียนแน่นอน สามารถโต้ตอบระหว่างผู้เรียนและผู้สอนได้ และมีความต่อเนื่องในการเรียนนั่นเอง เครื่องมือเหล่านี้จะมีส่วนในการสร้างผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายแขนงวิชา และพัฒนาการศึกษาและสังคมอย่างเสมอภาคได้

Open Data, Digital Rights

ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ เล่าถึงการนำฐานข้อมูลเปิดมาใช้ในการวางแผนพัฒนาและออกแบบสังคม

ข้อมูลเปิดเพื่อการพัฒนาสังคม

ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ ผู้ก่อตั้ง BoonmeeLab และ ELECT.in.th เล่าถึงแนวคิดการใช้ข้อมูลเปิดในเพื่อตัดสินใจวิธีการที่ใช้แก้ปัญหาและพัฒนาสังคม ฐิติพงษ์เล่าว่าแนวคิดนี้คล้ายกับกิจกรรม Hackathon คือ เริ่มจากหา pain point หรือจุดที่เป็นปัญหา แล้วมาดูว่าจะทำอย่างไร วิธีการไหนที่จะเป็นไปได้

“ประเทศไทยอยู่ตรงไหน” เป็นร่มใหญ่ที่ใช้ในงานชิ้นหนึ่ง ก่อนที่จะคิดนโยบายต่อไป เราต้องรู้สถานการณ์ของเราในตอนนี้ เพื่อเลือกวิธีการและนโยบายที่เหมาะสม โดยเราใช้ข้อมูลเปิดในการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูล จากคำถามว่า ประเทศไทยอยู่ตรงไหน ค่อยๆ เจาะลึกลงไปถึงคนไทยทำงานหนักจริงหรือเปล่า? เมื่อมาดูข้อมูลเราจะเห็นว่าที่จริงแล้วคนไทยทำงานหนัก คือใช้เวลาทำงานมากกว่าเกาหลีและประเทศในยุโรป แต่การวัดผลจากการทำงานหนัก หรือการใช้ชั่วโมงการทำงานที่มากก็ยังไม่เพียงพอ แต่ประโยชน์ที่ได้จากการทำงานนั้นคุ้มค่าหรือไม่? ส่วนนี้พบว่าความคุ้มค่าของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเกาหลี จากกราฟจะเห็นว่าประเทศไทยต้องใช้เวลา 17 ปี ด้วยอัตราการเจริญเติบโตที่ร้อยละ 4 จึงจะทำงานได้ประโยชน์เท่ากับประเทศเกาหลีในปัจจุบัน

ข้อมูลที่เห็นถูกนำเสนอในรูปแบบ Data journalism คือ การตั้งคำถาม นำข้อมูลเปิดมาประมวลผล และนำข้อมูลมาเล่าเป็นเรื่องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม ข้อมูลเปิดที่ใช้ในการวิเคราะห์ในงานชิ้นนี้ ได้แก่ 1. ข้อมูลชั่วโมงการทำงานต่อคนต่อปี (Working hour/year) และ 2. ข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อคนต่อชั่วโมง (GDP/capita/hour) ข้อมูลที่เราเก็บมาได้ต้องเปรียบเทียบกันได้และทำให้เห็นแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อให้การนำเสนอข้อมูลรอบด้าน ครอบคลุม และตัดสินใจทางเลือกที่เหมาะสมได้

 

Mini Hackathon ขุดปัญหา พบทางออก

ในช่วงบ่ายผู้เข้าร่วมได้ทำกิจกรรม Hackathon โดยมีโจทย์คือ ข้อมูลเปิดเพื่อสังคมสันติสุข (Open Data for Peace Society) และได้ต้นแบบความคิด 3 ชิ้น คือ แอพพลิเคชั่นภาษาเพื่อสันติ เว็บไซต์ติดตามการกระจายหน้ากากอนามัย และออนไลน์แพลตฟอร์มที่เป็นคลังความรู้และพื้นที่แลกเปลี่ยนนวัตกรรมการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าการเกษตร

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวขอบคุณและเล่าถึงการขับเคลื่อนและพัฒนา “เมืองยะลา” โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูล สร้างความเป็นเจ้าของให้กับคนในพื้นที่ และเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับเมืองยะลา

อ่านเพิ่มเติม

  1. Advertorial Team, เปิดข้อมูลให้เลิกโกง รู้จัก Open Data กับการต่อต้านคอร์รัปชัน. The Matter. URL: https://thematter.co/brandedcontent/gse-2019-open-data-04/86159
  2. Karoonporn Chetpayark, ผู้ติดเชื้อไปจุดใด ซื้อแมสก์ร้านไหนได้? เมื่อ ‘Open Data’ ถูกใช้เพื่อรับมือกับ COVID-19. The Matter. URL: https://thematter.co/science-tech/open-data-for-covid19/102912
  3. Open Data https://opendataday.org/
  4. Open Education Resource https://www.oercommons.org/
  5. Open Government Data of Thailand https://www.data.go.th/
  6. Open Government Partnership https://www.opengovpartnership.org/
  7. อดิศักดิ์ สายประเสริฐ, Let’s Hack! ผลสะเทือนของขบวนการเคลื่อนไหว Open Data เปิดเผยข้อมูลเพื่อรัฐที่โปร่งใส. The Momentum. URL: https://themomentum.co/international-open-data-day-2020/?fbclid=IwAR1MeVgPmCG0ICZ919drcPQ21gVR5qArHIwvqjedfzHAWg7ePB8M9jUeBUY